สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2560 (เมษายน - มิถุนายน) พ.ศ. 2560 (อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 1, 2017 14:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2

02 202 4383

สถานการณ์การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิต อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากการส่งออกเยื่อกระดาษไปยังโรงงานผลิตกระดาษในประเทศจีนและประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้น สำหรับทิศทางการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ขยายตัวในตลาดส่งออกหลักในประเทศจีน และกลุ่มอาเชียน ในส่วนสิ่งพิมพ์ส่งออกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสิ่งพิมพ์อื่น ๆ รวมถึงภาพพิมพ์และภาพถ่าย หนังสือที่พิมพ์เป็นเล่ม โบรชัว แผ่นปลิว ด้านการนำเข้า เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เพิ่มขึ้นจากนำเข้าเยื่อใยยาวและผลิตภัณฑ์กระดาษมาสต๊อกในคลังสินค้าเพื่อรองรับการบริโภคภายในที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วงไตรมาส 3 ปี 2560 ในส่วนสิ่งพิมพ์มีมูลค่าการนำเข้าลดลงเนื่องจากการผลิตในประเทศสามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอ

การผลิต

ในไตรมาส 2 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0511.13 และ 3.88ตามลำดับส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกเยื่อกระดาษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อจากประเทศส่งออกหลักโดยเฉพาะจากประเทศจีน ประกอบกับความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหารแปรรูป เครื่องสำอาง เพิ่มขึ้นสำหรับกระดาษพิมพ์เขียน เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้บริโภคในประเทศจากการเปิดภาคการศึกษาใหม่และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เดียวกันได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.874.65 และ 3.28 ตามลำดับ (ตารางที่ 1)

ไตรมาส2 ปี 2560 มีโรงงานผลิตกระดาษผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ขออนุญาตประกอบกิจการ จำนวน 8 ราย เป็นกิจการผลิตกระดาษแข็ง จำนวน 3 ราย และกิจการการพิมพ์ การทำแฟ้มเอกสาร และตกแต่งสิ่งพิมพ์ จำนวน 5 รายนอกจากนี้มีกิจการที่ได้รับอนุญาตให้ขยายกิจการ จำนวน 3 ราย ในกิจการการพิมพ์ การทำแฟ้มเอกสาร และตกแต่งสิ่งพิมพ์ จำนวน 1 ราย ผลิตกระดาษและกระดาษแข็ง จำนวน 2 ราย สำหรับการยกเลิกกิจการมีจำนวน 1 รายในกิจการการพิมพ์ การผลิตแฟ้มเอกสารและตกแต่งสิ่งพิมพ์ส่วนโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ ไม่มีการขออนุญาตประกอบกิจการ ขยาย และยกเลิกกิจการในไตรมาสนี้

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

1.เยื่อกระดาษไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 39.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.19 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากการเพิ่มคำสั่งซื้อเยื่อกระดาษของโรงงานผลิตกระดาษจากประเทศจีนและประเทศในอาเซียนได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.79ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการส่งออกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตลาดฝรั่งเศส ที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 95 โดยตลาดสำคัญที่มีการส่งออก ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส ฟิลิปปินส์(ตารางที่ 2)

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 439.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.92 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากการส่งออกกระดาษพิมพ์เขียนไปยังตลาดเวียดนามเกาหลีใต้และกัมพูชา เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตลาดส่งออกกระดาษพิมพ์เขียนคุณภาพสูงของผู้ประกอบการรายใหญ่ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.38จากการส่งออกกระดาษคราฟท์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ไปยังตลาดเวียดนามซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักเพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดมีความต้องการใช้ตามการขยายตัวจากการส่งออกของเวียดนาม ประกอบกับการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ และกัมพูชา เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

3.หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 15.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.10 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มโบรชัว แผ่นปลิวสิ่งพิมพ์บทเพลงที่พิมพ์เป็นเล่มไปรษณียากร อากรแสตมป์ รูปลอก ไปรษณียบัตร ปฏิทินทุกชนิด และสิ่งพิมพ์อื่น ๆไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.29 จากการส่งออกหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่ม หนังสือพิมพ์ วราสาร หนังสือภาพระบายสีสำหรับเด็ก ไปรษณียากร อากรแสตมป์ไปยังตลาดฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 196.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.54 และ 13.35 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากมีการนำเข้าเยื่อใยยาวและเศษกระดาษเข้ามาสต๊อกในคลังสินค้าเพื่อรองรับการบริโภคภายในที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วงไตรมาส3 ปี 2560 (ตารางที่ 3)

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 357.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.11 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากความต้องการกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศเพิ่มขึ้นประกอบกับการผลิตในประเทศสามารถรองรับความต้องการได้เพียงบางส่วนและเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมามูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.83 ซึ่งเป็นการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียน ราคาถูกจากต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการในช่วงเปิดภาคเรียนของนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในเดือนพฤษภาคม

3.สิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 57.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 30.33 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนโดยสิ่งพิมพ์ที่มีการนำเข้าลดลง ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วารสารและนิตยสารภาพถ่ายและภาพพิมพ์ และสิ่งพิมพ์โฆษณาทางการค้าลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดแสดงคอนเสิร์ตและกิจกรรมของศิลปินเกาหลีมีจำนวนน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงเช่นเดียวกันร้อยละ 3.95 จากการนำเข้าตำราเรียน ภาพถ่ายและภาพพิมพ์ โดยตลาดนำเข้าสำคัญที่มีการขยายตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
  • กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยด้วยการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในการสร้างมูลค่าและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสินค้านโยบายดังกล่าวของรัฐบาลจึงเป็นโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

สถานการณ์การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์ เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นตามความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปของอุตสาหกรรมต่อเนื่องสำหรับกระดาษพิมพ์เขียนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตหนังสือและสมุด สื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ สำหรับเปิดภาคการศึกษาใหม่ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าการผลิตเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์ โดยเป็นการผลิตเพื่อทดแทนสินค้าในสต๊อกที่ใช้ในเทศกาลสำคัญช่วงต้นปีรวมถึงรองรับการบริโภคภายในที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วงไตรมาส 3

การส่งออก ไตรมาส 2 ปี 2560 เยื่อกระดาษกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ตลอดจนหนังสือและสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่ขยายตัวในประเทศส่งออกหลักในประเทศจีนเวียดนาม และฮ่องกง

การนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจาก มีการนำเข้าเยื่อใยยาวเข้ามาสต๊อกในคลังสินค้าเพื่อรองรับการบริโภคภายในที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วงไตรมาส3 ปี 2560 สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศเพิ่มขึ้นประกอบกับการผลิตในประเทศยังไม่สามารถผลิตรองรับความต้องการได้อย่างเพียงพอในส่วนสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าการนำเข้าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะการนำเข้าสิ่งพิมพ์โฆษณาทางการค้า และหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่ม เนื่องจากสื่อดิจิตอลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น จากตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

แนวโน้มไตรมาส 3 ปี2560

สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2560 คาดว่า จะหดตัวลงจากการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิตที่มีค่อนข้างมากในไตรมาสที่ผ่านมาและคาดว่าคำสั่งซื้อในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะมีแนวโน้มลดลงในไตรมาส3 สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศสำหรับการส่งออก คาดว่า เยื่อกระดาษจะมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น โดยมีตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่รองรับการส่งออกเยื่อกระดาษจากไทยด้านการนำเข้าคาดว่าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษจะนำเข้าเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เยื่อใยยาวที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศในขณะที่การกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษรวมถึงสิ่งพิมพ์ จะนำเข้าลดลง โดยเฉพาะการนำเข้าสิ่งพิมพ์โฆษณาทางการค้าและหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่ม เนื่องจากสื่อดิจิตอลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ