ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนตุลาคม 2560 และคาดการณ์เดือนพฤศจิกายน 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 22, 2017 15:07 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศ

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ปี 2560 และแนวโน้ม ปี 2561

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2560 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 10 เดือนแรกของปี ขยายตัวร้อยละ 1.38 คาดว่าทั้งปี 2560 MPI จะขยายตัวร้อยละ 1.5 ใกล้เคียงกับปี 2559 ที่ MPI ขยายตัวร้อยละ 1.6 โดย อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในปี 2560 อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ (การส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นและแนวโน้มในเรื่อง The Internet of things (IoT)) รถยนต์ (เป็นการขยายตัวของตลาดในประเทศ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัว) กระดาษ (เพิ่มขึ้นจากกลุ่มเยื่อกระดาษกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคร๊าฟท์เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง)ยา (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการส่งออกยังขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน) อุตสาหกรรมอาหาร (จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารยังได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกที่ความต้องการบริโภคขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กอปรกับการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น)

แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ปี 2561

ประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.5 -2.5 โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง แรงขับเคลื่อนในการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับการดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

ยานยนต์ ประมาณการของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2561 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,000,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 880,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.52 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,120,000 คัน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามมาตรการการควบคุมการนำเข้าของเวียดนามอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้กระทบกับปริมาณการส่งออกของไทย

เครื่องใช้ไฟฟ้า ปี 2561คาดว่า การผลิตและการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มทรงตัว โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1 และ 2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการฟื้นตัวของตลาดในประเทศ โดยสินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้น คือ เครื่องซักผ้าโดยเฉพาะในตลาดหลักที่เพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐฯ เวียดนาม และเกาหลีใต้

อิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00 เมื่อเทียบกับปีก่อน และคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.00เมื่อเทียบกับปีก่อน สินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ IC เนื่องจากความต้องการ IC ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่ขั้นสูงรวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phoneและ Tablet ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นมาก

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภาพรวมการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ที่มีความต้องการเส้นใย และผ้าผืน เพื่อนำไปผลิตเครื่องนุ่งห่มเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก ประกอบกับมีการผลิตเพื่อรองรับการจำหน่ายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวจากการลงทุนที่เป็นปัจจัยเสริมให้โครงสร้างภาคการผลิตโดยเฉพาะ SME ปรับตัวดีขึ้น

อาหาร การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น และCLMV ที่ยังคงมีความต้องการอาหารพร้อมบริโภค (Ready to eat) รวมทั้งต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มลดลงตามราคาวัตถุดิบที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำส่งผลให้การส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งกลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ประมง ผักผลไม้ น้ำตาล และข้าว ธัญพืชและแป้ง ประกอบกับการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

โดยสรุปสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม ในปัจจุบันยังคงมีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2560 ดังปรากฏในภาพที่ 1 ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม 2560 MPI ขยายตัวต่อเนื่องที่ ร้อยละ 0.5 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี 2560

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2560

ดัชนีอุตสาหกรรมภาพรวม การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนกันยายนที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 และขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 4

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นที่มิใช่ยางรถยนต์ การผลิตเพิ่มขึ้นจากสินค้ายางแผ่นและยางแท่ง เนื่องจากปีก่อนภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ปริมาณน้ำยางจึงมีน้อยกว่า และปีนี้มีการขยายตลาดรวมถึงลูกค้าจีนยังคงมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ การผลิตเพิ่มขึ้นจากสินค้าเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก โดยขยายตัวทั้งปริมาณการจำหน่ายในประเทศและปริมาณการส่งออก

อุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันจากพืช การผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากสินค้าน้ำมันปาล์มดิบ เนื่องจากปีนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องทำให้ได้ผลผลิตปาล์มสูง ในขณะที่ปีก่อนภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลปาล์มได้ รวมถึงภาครัฐมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันโดยการปรับสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล จากน้ำมันบี 5 เป็นน้ำมันบี 7 ส่งผลให้ระดับการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 12,000 ตัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2560

อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ การผลิตเพิ่มขึ้นจากสินค้าสับปะรดกระป๋องเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีฝนตกต่อเนื่องตลอดปี ทำให้ได้ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ประกอบกับไตรมาส 3 ของปีก่อน พื้นที่เพาะปลูกบางแห่งประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ

คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2560

คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนพฤศจิกายน 2560 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2560 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 113.6 โดยจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 1.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนตุลาคมซึ่งขยายตัวร้อยละ 0.5 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่คาดว่าจะขยายตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางอื่นที่มิใช่ยางรถยนต์ (ราคาน้ำยางดิบตกต่ำ ผู้ประกอบการจึงซื้อไว้เพื่อแปรรูปขั้นต้น และถุงมือยางผลิตเพิ่มไว้เป็นสินค้าคงคลัง) รถยนต์ (เนื่องจากเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ จำนวน 2 รุ่น เป็นรถยนต์นั่ง ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพื่อส่งมอบในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี และการบริโภคภายในประเทศมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง มีการผลิตเพื่อสนองตอบความต้องการของตลาด จึงส่งผลบวกต่อดัชนีการผลิตยานยนต์) ชิ้นส่วนรถยนต์ (มีการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้นไปยังประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย)

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนตุลาคม 2560

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย

  • การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนตุลาคม 2560 มีมูลค่า 1,601.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบ เครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ และเครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ ที่ขยายตัว
  • การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนตุลาคม 2560 มีมูลค่า 6,926.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าเคมีภัณฑ์ เหล็กเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายตัว

อัตราการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยเทียบกับประเทศสำคัญในเอเชีย

  • การผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 0.5 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เช่นเดียวกับประเทศจีน และไต้หวันที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยในเดือนตุลาคม 2560 ขยายตัว ร้อยละ 6.2 และ 3.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ หดตัวลงร้อยละ 6.2 ขณะที่ญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 5.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

  • จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนตุลาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 289 โรงงานลดลงจากเดือนกันยายน 2560 ร้อยละ 37.31 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.83 (%YoY)
  • มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าวในเดือนตุลาคม 2560 มีมูลค่ารวม 83,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2560 ร้อยละ 247.81 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของ 2559 ร้อยละ 346.41 (%YoY)

“อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนตุลาคม 2560 คือ อุตสาหกรรมการซ่อมยานยนต์หรือส่วนประกอบของยานดังกล่าว (28 โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ (22 โรงงาน)”

“อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนตุลาคม 2560 คือ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน โดยมีมูลค่าการลงทุน 74,689 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มีมูลค่าการลงทุน 1,938 ล้านบาท”

  • จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนตุลาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 95 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2560 ร้อยละ 30.14 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.85 (%YoY)
  • เงินทุนของการเลิกกิจการมีมูลค่ารวม 3,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2560 ร้อยละ 109.5 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 102.12 (%YoY)

“อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนตุลาคม 2560 คือ อุตสาหกรรมการทำวงกบ ขอบประตู หน้าต่าง บานหน้าต่าง บานประตู (5 โรงงาน) และอุตสาหกรรมโรงงานทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งในอาคารจากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ (5 โรงงาน)

“อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนตุลาคม 2560 คือ อุตสาหกรรมการผลิต ประกอบ ดัดแปลง หรือซ่อมแซมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ มูลค่าเงินลงทุน 668 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำถุงหรือกระสอบซึ่งมิใช่ถุงหรือกระสอบพลาสติก ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุน 593 ล้านบาท”

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนตุลาคม 2560

1. อุตสาหกรรมอาหาร
  • ภาวะการผลิต และมูลค่าการส่งออกไม่รวมน้ำตาลของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารยังได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกที่ความต้องการบริโภคขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น จากภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล)เดือนตุลาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.8 แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ สับปะรดกระป๋องปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 53.4 เพื่อรองรับวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการปรับลดระดับราคาของผลิตภัณฑ์สับปะรดตามราคาวัตถุดิบสับปะรดโรงงาน

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือน้ำมันปาล์ม และอาหารสัตว์ (ไก่)การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.1และ4.0 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • การตลาดในประเทศปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนตุลาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.7 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น
  • ตลาดต่างประเทศภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนตุลาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.1 ในกลุ่มสินค้าที่สำคัญ เช่นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่แปรรูป ไก่แช่เย็นแช่แข็งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์ข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.6 10.9 8.7 7.3และ 5.6 ตามลำดับเนื่องจากการเพิ่มคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้า

คาดว่าการผลิต และการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนพฤศจิกายน 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยบวกที่ทำให้การผลิตสินค้าสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มปศุสัตว์ (ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศคู่ค้า(ญี่ปุ่น ยุโรป และเกาหลีใต้)อีกทั้ง ประเทศคู่แข่งหลักอย่างบราซิลประสบปัญหาด้านความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า ประกอบกับความต้องการสับปะรดกระป๋องปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังที่ผลิตภัณฑ์สับปะรดมีราคาอ่อนตัวลงมากตามราคาวัตถุดิบ อีกทั้ง สินค้าข้าว (ข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ) ที่ประเทศคู่ค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้น ผนวกกับเศรษฐกิจภายในประเทศมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต

  • การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืนลดลง ร้อยละ 4.6 และ 5.0ตามลำดับโดยเป็นการลดลงของผลิตภัณฑ์เส้นด้ายและผ้าทอ (ฝ้าย)อย่างไรก็ตาม เส้นใยสังเคราะห์ และผ้าทอใยสังเคราะห์ ยังขยายตัวจากการผลิตเส้นใยสังเคราะห์สมบัติพิเศษ อาทิ เส้นใยคอลาเจน เส้นใยคอมโพสิต เพื่อรองรับการส่งออก

+ กลุ่มเครื่องนุ่งห่มขยายตัว ร้อยละ 2.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งขยายตัวจากการผลิตผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในสตรี เพื่อรองรับการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส

การจำหน่ายในประเทศ
  • กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่มลดลงร้อยละ 10.7 15.0 และ 2.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากช่วงนี้เป็นช่วงสุดท้ายที่ประชาชนยังใส่เสื้อผ้าสีดำ เพื่อเป็นการถวายอาลัยในหลวงรัชกาลที่9ทำให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายเสื้อผ้าในช่วงเวลานี้
การส่งออก

+ กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 และ 8.2 โดยเส้นใยสิ่งทอขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งสินค้าที่ส่งออกเป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่มีสมบัติพิเศษ และผ้าผืนที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ที่มีสมบัติพิเศษ ที่ไทยมีศักยภาพทั้งในการผลิตและการส่งออก โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม และ ญี่ปุ่น

คาดการณ์แนวโน้มเดือนพฤศจิกายน
  • แนวโน้มการผลิตกลุ่มเส้นใยสิ่งทอผ้าผืน และกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะชะลอตัวเนื่องจากการส่งออกสินค้าดังกล่าว ยังเผชิญความไม่แน่นอนในการส่งออก โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งไทยเสียเปรียบจากการถูกตัดสิทธ์ GSP อย่างไรก็ตาม การผลิตและส่งออกชุดชั้นในสตรียังคงขยายตัวได้ดี
3. อุตสาหกรรมยานยนต์

การผลิตรถยนต์ในเดือนตุลาคม ปี 2560 มีจำนวน 163,487คัน ลดลงจากเดือนกันยายนปี 2560 ร้อยละ 14.08 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.48 (%YoY)จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง

การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนตุลาคม ปี 2560 มีจำนวน 68,551คัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2560 ร้อยละ 11.65 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.06 (%YoY)เนื่องจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว

การส่งออกรถยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2560 มีจำนวน 90,838 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2560ร้อยละ 24.71 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.97(%YoY) เนื่องจากการส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดออสเตรเลีย และแอฟริกา

“ คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งผลิตรถยนต์ก่อนช่วงวันหยุดยาวในเดือนธันวาคม"

การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนตุลาคมปี 2560 มีจำนวน 164,175คัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2560 ร้อยละ 4.60 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.59 (%YoY)จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์

การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนตุลาคมปี 2560 มียอดจำหน่ายจำนวน 135,575 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2560 ร้อยละ 12.83 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.44 (%YoY)

การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี2560 มีจำนวน 29,839 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี2560 ร้อยละ 0.25 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 31.55 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่นและพม่า

“คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายนปี 2560 จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนปี 2559”

4. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

การผลิตปูนเม็ด ในเดือนตุลาคม ปี 2560 มีจำนวน3,514,694 ตัน แม้จะลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2560 ร้อยละ3.14 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.26 (%YoY)

การจำหน่ายปูนเม็ดในประเทศ ในเดือนตุลาคมปี 2560 มีปริมาณการจำหน่าย 74,203 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2560 ร้อยละ 85.51 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 209.18 (%YoY)

การส่งออกปูนเม็ด ในเดือนตุลาคม ปี 2560 มีจำนวน327,187 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนปี 2560 ร้อยละ 32.63(%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.92(%YoY) จากภาวะตลาดส่งออกในภูมิภาคเอเซียที่เป็นตลาดหลักยังคงซบเซา การเปิดการผลิตของผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในเมียนมา และลาว ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกจากไทยไปตลาดเหล่านี้ลดลง

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมปูนเม็ดในเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

การผลิตปูนซีเมนต์ ในเดือนกันยายน ปี 2560มีจำนวน 3,139,513 ตัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2560ร้อยละ 5.16 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.11 (%YoY)

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนตุลาคม ปี 2560 มียอดจำหน่ายจำนวน 2,564,249 ตัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2560 ร้อยละ 6.14 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 6.98 (%YoY)

การส่งออกปูนซีเมนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2560 มีจำนวน 557,796 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2560 ร้อยละ 30.13 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 33.50 (%YoY) เนื่องจากแม้ตลาดส่งออกในประเทศเมียนมา และลาว จะลดลงแต่ในขณะเดียวกันก็ มีการขยายตัวของตลาดส่งออกในบางประเทศเพิ่มขึ้นมาชดเชยกัน

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 จะเริ่มสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยจากตลาดส่งออกที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นและจากการลงทุนของภาครัฐเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ

5. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.98เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนโดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 100.84 จากเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ปรับตัวที่ลดลงทั้ง เครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์ พัดลม ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ และมอเตอร์ไฟฟ้า โดยลดลงร้อยละ 23.02, 1.58, 21.10, 10.68, 12.59 และ 3.88 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศลดลงและประกอบกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอตัว ในขณะที่สินค้าที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องซักผ้า กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และสายไฟฟ้า โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.94, 17.60 และ 17.58ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.91 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนโดยมีมูลค่าการส่งออก 1,945.81ล้านเหรียญสหรัฐฯและปรับตัวเพิ่มขึ้นในตลาดหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องปรับอากาศมูลค่าการส่งออก 277.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.00 รองลงมาคือเครื่องซักผ้า มีมูลค่าส่งออก 157.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67.21 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

“คาดการณ์การผลิตเดือนพฤศจิกายน 2560 จะยังคงทรงตัวอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะมีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.84 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตของ เครื่องซักผ้าที่ส่งออกไปตลาดหลักโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นและสายไฟฟ้าเพื่อใช้ในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น”

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.32 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 110.38 เนื่องจากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลัก ได้แก่ Semiconductor,Monolithic IC และ HDD เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.94, 17.60และ 17.58 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก?

การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.28 โดยมีมูลค่าการส่งออก 3,161.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯโดยตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่นอาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาซึ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,310.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.63 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ วงจรรวม (IC) มีมูลค่าส่งออก 693.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.83 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

“คาดการณ์การผลิตเดือนพฤศจิกายน 2560 จะมีดัชนีผลผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องร้อยละ 1.28 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นของส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นหลัก”

6. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ดัชนีการผลิต ในเดือนตุลาคมปี 2560 มีค่า 113.69 ลดลงร้อยละ 7.79เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 15.98(เหล็กเส้นกลม ลดลงร้อยละ 19.15เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ18.97) เนื่องจากลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมชะลอคำสั่งซื้อจากการที่ประสบปัญหาการขนส่ง ประกอบกับการก่อสร้างของภาครัฐที่ล่าช้า เหล็กทรงแบนลดลงร้อยละ 0.41 (เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมลดลงร้อยละ 21.54 เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องคือ อาหารทะเลกระป๋องมีดัชนีผลผลิตลดลง สำหรับเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลดลงร้อยละ6.61 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดเย็น ลดลงร้อยละ 26.13

การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนตุลาคมปี 2560 มีปริมาณ 1.32 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีปริมาณ 434,528 ตัน ลดลงร้อยละ 24.7 ขณะที่เหล็กทรงแบนมีปริมาณ 889,296 ตันลดลงร้อยละ 0.2

การนำเข้า ในเดือนตุลาคมปี 2560 มีปริมาณ 939,273 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีปริมาณ 234,914 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ขณะที่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณ 704,359 ตันลดลงร้อยละ 1.1

“แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนพฤศจิกายน 2560 คาดการณ์ว่า การผลิตลดลงร้อยละ 10.49 โดยเหล็กทรงยาวลดลงร้อยละ 17.49 เนื่องจากการก่อสร้างของภาครัฐที่ล่าช้าและเหล็กทรงแบนลดลง ร้อยละ 5.79 ขณะที่เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.47”

*จากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ