ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนมกราคม 2561 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1 ปี 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 21, 2018 14:50 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2561 ยังคงขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 นับจากเดือนพฤษภาคม 2560 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2561 ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.2 ถึงแม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของไทยที่มีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง นอกจากนี้ในด้านของกำลังซื้อในประเทศก็มีทิศทางที่ดีเช่นกัน โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชน1ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนตามการใช้จ่ายที่ขยายตัวในทุกหมวด โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนขยายตัวดีโดยจะเห็นจากปริมาณการจำหน่ายยานยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.17 และปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภค บริโภค เช่น เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวร้อยละ 42.2 สำหรับการจำหน่ายสินค้าหมวดหมวดบริการ (โรงแรมและภัตตาคาร และการขนส่ง) ขยายตัวเนื่องร้อยละ 9.9

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงตามปกติ กล่าวคือ ในเดือนตุลาคมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ -5.0 เดือนพฤศจิกายน 6.4 และเดือนธันวาคม -3.3 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลในรอบปี ที่ MPI จะเร่งตัวขึ้นค่อนข้างมากในเดือนพฤศจิกายนเพื่อเตรียมรองรับคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ย้อนหลัง 3 เดือน MPI เดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม 2561 จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด กล่าวคือ ในเดือนตุลาคมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 0.4 พฤศจิกายน 5.5 และธันวาคม 5.0 สะท้อนทิศทางการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากขึ้น

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมกราคม 2561 ขยายตัว คือ
  • รถยนต์ ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่จากค่ายรถต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้บริโภคทยอยสิ้นสุดการถือครองรถยนต์ภายใต้โครงการรถยนต์คันแรก และเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.17 ประกอบกับตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และอเมริกากลางและใต้ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.5
  • ชิ้นส่วนรถยนต์ เติบโตตามการประกอบรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นโดยขยายตัวร้อยละ 15.6
  • น้ำมันพืช จากน้ำมันปาล์มดิบและปาล์มบริสุทธิ์เป็นหลัก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.5 เนื่องจากผลผลิตปาล์มดิบในปีนี้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 เนื่องจากรัฐมีนโยบายปรับเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซล (B100) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็นร้อยละ 7 หรือ B7 อยู่ต่อไป ในขณะที่ระดับราคาผลปาล์มดิบที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้นำไปผลิตไบโอดีเซลและน้ำมันปาล์ม บริสุทธิเพิ่มขึ้น ประกอบในปีก่อนเกิดภาวะน้ำท่วมทำให้ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ นอกจากนี้มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2560
  • การแปรรูปเนื้อสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 เนื่องจากความต้องการบริโภคในตลาดส่งออกยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และเพื่อรองรับเทศกาลตรุษจีนในต่างประเทศ อีกทั้งปัญหาไข้หวัดนกที่ยังคงระบาดในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป ทำให้ประเทศผู้นำเข้าเพิ่มคำสั่งซื้อเนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็นในประเทศผู้นำเข้าหลักอย่าง ญี่ปุ่น ลาว และเนเธอร์แลนด์ และการเพิ่มคำสั่งซื้อไก่แปรรูปในประเทศผู้นำเข้าหลักอย่าง ญี่ปุ่น อังกฤษและเนเธอร์แลนด์
  • ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เนื่องจากความต้องการใช้สินค้าที่สูงขึ้นโดยเฉพาะ IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet และ Hard Disk Drive มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud storage

ในส่วนของการคาดการณ์ คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1/2561 จะขยายตัวเป็นบวกในช่วงร้อยละ 3.0 - 3.5 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่คาดว่าจะขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 1/2560 ที่ MPI หดตัวร้อยละ 0.08 (จากการลดลงของการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นสำคัญ เนื่องจากตลาดส่งออกชะลอตัว จากการส่งออกไปประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง อเมริกากลางและใต้ ลดลง สำหรับในไตรมาสที่ 1/2561 มีแนวโน้มขยายตัวจากผลของนโยบายรถคันแรกสิ้นสุดลงและมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่) สะท้อนถึงทิศทางการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่มีเสถียรภาพ และภาพรวมทั้งปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.0 จากปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง แรงขับเคลื่อนในการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับการดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้น จากการส่งออกสินค้า และบริการที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ อย่างไรก็ดี กำลังซื้อของครัวเรือนโดยรวมปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานและหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นและยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องโดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แม้ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบลงทุนจะล่าช้าไปบ้าง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนมกราคม 2561

  • การนำเช้าชองภาคอุตสาหกรรมไทย

การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบในเดือนมกราคม 2561 มีมูลค่า 1,630.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 37.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบเครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ และเครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบขยายตัว

การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ)ในเดือนมกราคม 2561มีมูลค่า 7,345.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 24.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าเคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัว

  • สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนมกราคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 340 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 14.09 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.65 (%YoY)

มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าวในเดือนมกราคม 2561 มีมูลค่ารวม 15,300 ล้านบาท ลดลงจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 45.28 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 16.89 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนมกราคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการทาผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิบซัม (25 โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอกกรวด ทรายหรือดิน (21 โรงงาน)"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนมกราคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการทำน้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลทรายขาว โดยมีมูลค่าการลงทุน 6,510 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมการถนอมเนื้อสัตว์โดยทำให้เยือกแข็งโดยฉับพลัน มีมูลค่าการลงทุน 793 ล้านบาท"

จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนมกราคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 138 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 122.58 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43.75 (%YoY)

เงินทุนของการเลิกกิจการมีมูลค่ารวม 3,683 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 462.94 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 243.4 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนมกราคม 2561 คือ อุตสาหกรรมโรงงานทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งในอาคารจากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ (17 โรงงาน) และอุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (13 โรงงาน)

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนมกราคม 2561 คือ อุตสาหกรรมโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้ามูลค่าเงินลงทุน 1,560 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำอาหารหรือเครื่องดื่มจากผัก พืชหรือผลไม้ มูลค่าเงินลงทุน 691 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนมกราคม 2561

1. อุตสาหกรรมอาหาร
  • เนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง

ภาวะการผลิต และมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารยังได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกที่ความต้องการบริโภคขยายตัว และการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารเดือนมกราคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น (%YoY) ร้อยละ 7.2 แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ ไก่ปรุงรส และกุ้งแช่แข็ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น (%YoY) ร้อยละ 7.7 และ0.9 ตามลำดับ เพื่อรองรับการบริโภคช่วงตรุษจีนอีกทั้งยังได้รับผลดีจากนโยบายการส่งเสริมการทำ Compartment ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีต่ออุตสาหกรรม เป็นผลให้ญี่ปุ่นเพิ่มคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับเทศกาลท่องเที่ยว

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ อาหารสัตว์ (ไก่) และไก่แช่แข็ง การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น (%YoY) ร้อยละ159.5 17.5 10.1 และ 9.1 ตามลำดับ ด้วยความต้องการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง

การตลาดในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนมกราคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น (%YoY) ร้อยละ 10.3 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น อีกทั้งยังได้รับอานิสงค์จากเทศกาลปีใหม่ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น

ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เดือนมกราคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น (%YoY) ร้อยละ 25.9 ในกลุ่มสินค้าที่สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาล ไก่แช่เย็นแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าว ไก่แปรรูป บะหมี่ กึ่งสำเร็จรูป และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งปรับตัวเพิ่มขึ้น (%YoY) ร้อยละ 42.3 42.2 40.6 25.7 21.6 13.2 10.5 และ 6.9 ตามลำดับ เนื่องจากการเพิ่มคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าเพื่อรองรับเทศกาลตรุษจีน

คาดว่าการผลิต และการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยบวกที่ทำให้การผลิตสินค้าสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มปศุสัตว์ (ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการระบาดของไข้หวัดนก และเพื่อรองรับเทศกาลในประเทศคู่ค้า(ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ประกอบกับ สินค้าข้าว (ข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ) ที่ประเทศคู่ค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้น ผนวกกับเศรษฐกิจภายในประเทศมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง" ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนมกราคม 2561 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1 ปี 2561

การผลิต

ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืนลดลง ร้อยละ 3.94 และ 6.08 (%YoY) โดยเส้นใยและผ้าผืนจากฝ้ายมีการผลิตลดลง จากความต้องการในประเทศลดลง ประกอบกับความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวในตลาดโลกลดลง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และผ้าผืนจากใยสังเคราะห์ขยายตัวตามทิศทางการส่งออก โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเส้นใยและผ้าผืนที่มีสมบัติพิเศษ อาทิ เส้นใยคอลาเจน เส้นใยคอมโพสิต

กลุ่มเครื่องนุ่งห่มขยายตัวร้อยละ 12.34 (%YoY)จากการผลิตชุดชั้นในสตรี เสื้อผ้าชั้นนอกของสุภาพบุรุษ เพื่อรองรับการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

การจำหน่ายในประเทศ

กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืนและเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 6.73 4.76 และ 1.44 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคในประเทศยังไม่ขยายตัว เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัวไม่เต็มที่จากความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังมีการฟื้นตัวไม่ชัดเจน

การส่งออก

กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.18 และ 19.16 โดยเส้นใยสิ่งทอขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ คือ เส้นใย ด้ายและผ้าผืนจากเส้นใยประดิษฐ์ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเส้นใยและผ้าผืนที่มีสมบัติพิเศษ ซึ่งไทยมีศักยภาพทั้งในการผลิตและการส่งออกโดยตลาดสำคัญ ได้แก่ ตุรกี อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.75 ในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากฝ้าย และเสื้อผ้าเด็กอ่อน อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ในกลุ่มชุดชั้นใน และกลุ่มเสื้อผ้ากีฬา เช่น ชุดว่ายน้ำ ชุดสกี ขยายตัวได้ในตลาดสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

คาดการณ์แนวโน้มเดือนกุมภาพันธ์ 2561

แนวโน้มการผลิตกลุ่มเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืน คาดว่าจะขยายตัวจากการส่งออกเส้นใยสังเคราะห์และผ้าผืนที่ผลิตจากใยสังเคราะห์ โดยเฉพาะกลุ่มเส้นใยและผ้าผืนที่มีสมบัติพิเศษในตลาดเอเชีย

แนวโน้มการผลิตกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าจะขยายตัวเนื่องจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป และชุดชั้นในไปยังตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสหภาพยุโรป กำลังขยายตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางขยายตัว

3. อุตสาหกรรมยานยนต์
  • อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

การผลิตรถยนต์ในเดือนมกราคม ปี 2561มีจำนวน 166,196 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม ปี 2560 ร้อยละ 5.72 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.15 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนมกราคม ปี 2561มีจำนวน 66,513 คัน โดยลดลงจากเดือนธันวาคม ปี 2560 ร้อยละ 36.23 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.17 (%YoY) เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การมีรถยนต์นั่งและรถกระบะรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด รวมทั้งการครบระยะเวลาการถือครองรถยนต์คันแรก

การส่งออกรถยนต์ ในเดือนมกราคม ปี 2561 มีจำนวน 82,067คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม ปี 2560 ร้อยละ 14.37 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.46 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ของไทยเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดอเมริกาเหนือ และตลาดเอเชีย โดยการส่งออกไปยังตลาดเอเชียลดลง เนื่องจากมาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ (Decree 116) ของประเทศเวียดนาม ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยชะลอการส่งออกไปยังเวียดนามในช่วงไตรมาสแรก

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามยอดจองรถยนต์ในงานมหกรรมยานยนต์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา"

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรวบรวมจากกลุ่มอุตสาหกรรม ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม ซึ่งได้มีการรวบรวมข้อมูลไว้ในเบื้องต้น

  • อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์

การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนมกราคม ปี 2561 มีจำนวน 182,221 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม ปี 2560 ร้อยละ 19.63 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.79 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์

การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนมกราคม ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 155,088 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม ปี 2560 ร้อยละ 17.92 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.34 (%YoY)

การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนมกราคม ปี 2561 มีจำนวน 34,773 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม ปี 2560 ร้อยละ 2.27 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.73 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแคนาดา

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่องประกอบกับแนวโน้มราคาสินค้าทางการเกษตรดีขึ้น"

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรวบรวมจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม ซึ่งได้มีการรวบรวมข้อมูลไว้ ในเบื้องต้น

4. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

  • อุตสาหกรรมปูนเม็ด

การผลิตปูนเม็ด ในเดือนมกราคม ปี 2561 มีจำนวน 3.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม ปี 2560 ร้อยละ 14.66 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.79 (%YoY) เนื่องจากยังมีสต็อคในปริมาณสูง

การจำหน่ายปูนเม็ดในประเทศ ในเดือนมกราคม ปี 2561 มีปริมาณการจำหน่าย 0.03 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม ปี 2560 ร้อยละ 13.33 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.05 (%YoY)

การส่งออกปูนเม็ด ในเดือนมกราคม ปี 2561 มีจำนวน 0.46 ล้านตัน ลดลงจากเดือนธันวาคม ปี 2560 ร้อยละ 35.19 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.23 (%YoY)

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนเม็ดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 จะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เพียงเล็กน้อยเนื่องจากมีสต็อคสูงอยู่แล้วในเดือนก่อนหน้า

  • อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

การผลิตปูนซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมกราคม ปี 2561 มีจำนวน 3.25 ล้านตัน ลดลงจากเดือนธันวาคม ปี 2560 ร้อยละ 8.36 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.02 (%YoY) เนื่องจากยังมีสต็อคปริมาณค่อนข้างสูง

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ภายในประเทศในเดือนมกราคม ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 2.90 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม ปี 2560 ร้อยละ 0.24 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 3.65 (%YoY) จากภาวะการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น และผลจากฤดูกาลที่แปรปรวนโดยยังมีฝนตกอยู่เป็นระยะ ๆ

การส่งออกปูนซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมกราคม ปี 2561 มีจำนวน 0.50 ล้านตัน ลดลงจากเดือนธันวาคม ปี 2560 ร้อยละ 4.82 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.76 (%YoY) เป็นผลจากตลาดส่งออกหลักปรับลดคำสั่งซื้อลง ได้แก่ กัมพูชา ศรีลังกา และเมียนมา ร้อยละ 59.45 59.00 และ 22.47 ตามลำดับ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 จะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยหากรัฐสามารถเดินหน้าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้มีความคืบหน้ามากขึ้น และตลาดส่งออกสามารถขยายตัวได้ในบางตลาดรวมถึงการได้ตลาดส่งออกใหม่ ๆ

5. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

  • อุตสาหกรรมไฟฟ้า

การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังคงทรงตัวโดยดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 0.88 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนโดยอยู่ที่ระดับ 113.22 สินค้าที่ปรับตัวลดลงได้แก่ เครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น และมอเตอร์ไฟฟ้า โดยลดลงร้อยละ 11.78 0.84 0.19 และ 7.87 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศชะลอตัว และการส่งออกในบางตลาดหลักชะลอตัว ในขณะที่สินค้าที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ พัดลมตามบ้าน เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ กระติกน้าร้อน หม้อหุงข้าว และสายไฟฟ้า โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.90 33.29 12.28 18.46 6.36 และ 20.21 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.39 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 2,002.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตลาดหลัก ได้แก่ จีน อาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จากการส่งออกเครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นสินค้าหลักมีมูลค่าการส่งออก 370.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.80 รองลงมาคือตู้เย็นมีมูลค่าส่งออก 136.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.85 และแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 132.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.65 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

"คาดการณ์การผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2561อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่ายังคงชะลอตัว จะมีดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 5.14 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะยังคงชะลอตัว คือ เครื่องปรับอากาศ จากการจำหน่ายในประเทศและคาสั่งซื้อจากต่างประเทศยังชะลอตัว ในขณะที่สินค้าที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องซักผ้า จากการส่งออกไปตลาดหลักจะยังคงขยายตัว โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา และสายไฟฟ้ายังคงใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตัว

  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.56 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนโดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 98.22 เนื่องจากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลัก ได้แก่ ได้แก่ Monolithic IC PCBA และ HDD เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.34 17.23 และ 5.10 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone Tablet และ HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage ในขณะที่ Semiconductor Other IC และ Printer ลดลงร้อยละ 0.59 3.42 และ 6.06 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังคงชะลอตัว

การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.97 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนโดยมีมูลค่าการส่งออก 3,095.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์มีมูลค่าส่งออก 1,260.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.31 รองลงมาคือ วงจรรวม (IC) มีมูลค่าส่งออก 643.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.39 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

"คาดการณ์การผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ดัชนีผลผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.32 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์และวงจรรวมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง"
6. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ดัชนีการผลิต ในเดือนมกราคมปี 2561 มีค่า 113.22 ลดลงร้อยละ 1.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 4.98 โดยเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ 10.88 ซึ่งลดลง 4 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560-มกราคม 2561 รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดเย็นและ ลวดเหล็ก ลดลงร้อยละ 6.56 และ 5.81 ตามลำดับ เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศอยู่ในช่วงชะลอตัว ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.31 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.46 เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง คือ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.99 สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มท่อเหล็กกล้า ลดลงร้อยละ 2.99

การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนมกราคม ปี 2561 มีปริมาณ 1.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.10 สำหรับ เหล็กทรงยาวมีปริมาณ 0.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 โดยเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 ซึ่งเพิ่มขึ้นเดือนแรก หลังจากลดลง 4 เดือน เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างค่อนข้างซบเซา แต่จากโครงการของภาครัฐที่เริ่มดำเนินการช่วงปลายปี ส่งผลให้อุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มฟื้นตัว สำหรับเหล็กทรงแบน มีปริมาณ 1.00 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.8 รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3

การนำเข้า ในเดือนมกราคม 2561 การนำเข้ามีปริมาณ 0.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณ 0.18 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 และเหล็กทรงแบนมีปริมาณ 0.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6

"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 คาดการณ์ว่า การผลิตลดลงร้อยละ 9.95 โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 19.89 โดยเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ 31.51 รองลงมา คือ เหล็กเส้นกลม ลดลงร้อยละ 31.48 เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างอยู่ในช่วงชะลอตัว สำหรับเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.85 โดยท่อเหล็กกล้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.14 และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดเย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.25 ขณะที่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน ลดลงร้อยละ 10.39 โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลงร้อยละ 38.99 รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงร้อยละ 21.39 และ 17.59 ตามลำดับ เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตกระป๋องและบรรจุภัณฑ์โลหะที่มีดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 25.02"

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ