ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 25, 2018 15:08 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม2561 ยังคงขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 นับจากเดือนพฤษภาคม 2560 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.6

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน(%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด กล่าวคือ ในเดือนกุมภาพันธ์มีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 4.6 เดือนมีนาคมร้อยละ3.2 และเดือนเมษายนร้อยละ 3.1 ส่งผลให้ MPI ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 ที่ MPI ขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.4 สะท้อนทิศทางการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนกุมภาพันธ์เดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงตามปกติ กล่าวคือ ในเดือนกุมภาพันธ์มีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ -0.1 เดือนมีนาคมร้อยละ 10.5 และเดือนเมษายนร้อยละ -20.9 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลในรอบปี ที่ MPI จะชะลอตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์เนื่องจากมีจำนวนวันทำงานน้อยกว่าเดือนอื่นในรอบปี และจะเร่งตัวขึ้นอีกครั้งในเดือนมีนาคมเพื่อรองรับคำสั่งซื้อก่อนที่โรงงานส่วนใหญ่จะปิดทำการช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัว คือ

  • รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.94 (จำนวนคัน) เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศทยอยปรับตัวดีขึ้นรวมทั้งผู้บริโภคสิ้นสุดการถือครองรถยนต์ภายใต้โครงการรถยนต์คันแรก ประกอบกับตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย(ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์)แอฟริกา และยุโรปทำให้ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 27.9 ร้อยละ และการส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.8
  • น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.9 จากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตทำให้มีวัตถุดิบอ้อยเข้าสู่โรงงานเป็นจำนวนมาก
  • การผลิตยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.4 จากการผลิตยาแคปซูลและยาเม็ดเป็นหลักเพราะมีการติดตั้งเครื่องจักรใหม่ของผู้ผลิตรายใหญ่ตั้งแต่ช่วงต้นปี รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ในฮ่องกงและการรับจ้างผลิตยาเพิ่มขึ้นของผู้ผลิตบางราย
  • ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ18.9 จาก Hard Disk Drive ที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมยังเติบโตได้ดีและมีความต้องการใช้งานในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
  • ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 จากสินค้าแผ่นวงจรพิมพ์เป็นหลักตามความต้องการของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปี2561 จะขยายตัวเป็นบวกเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.0 (ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 2.5) โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว และอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น ด้านการใช้จ่ายภาครัฐจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงภายนอกที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาและมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้ารวมถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนพฤษภาคม 2561

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย

+ การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนพฤษภาคม 2561 มีมูลค่า 1,598.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังเครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ เครื่องจักรในอุตสาหกรรมการพิมพ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ใช้ในการแปรรูปยางหรือพลาสติกที่ขยายตัว

+ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนพฤษภาคม 2561 มีมูลค่า 7,710.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าเคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ที่ขยายตัว

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

+ จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 321 โรงงานเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2561 ร้อยละ 3.2 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.8 (%YoY)

+ มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม 2561 มีมูลค่ารวม 18,825.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2561 ร้อยละ 26.7 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 48.1 (%YoY)

“อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนพฤษภาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมขุดตักดินลูกรังในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้าง และในการพาณิชย์ (34 โรงงาน) รองลงมาคืออุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์พลาสติก (14 โรงงาน) และอุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (14 โรงงาน)”

“อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล น้ำตาลทรายดิบ จำนวนเงินทุน 5,553.9 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมผลิตอาหาร ผลิตเครื่องดื่มจากผลไม้จำนวนเงินทุน 1,607.9 ล้านบาท”

  • จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนพฤษภาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 228 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2561 ร้อยละ 235.3 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 121.4 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนพฤษภาคม 2561 มีมูลค่ารวม 7,082.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2561 ร้อยละ 219 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 29.3 (%YoY)

“อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนพฤษภาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมขุดตักดินลูกรังในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้าง และในการพานิชย์ (21 โรงงาน) และอุตสาหกรรมโรงงานทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งในอาคารจากไม้ (16 โรงงาน)

“อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนพฤษภาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการทำยางแผ่นรมควัน การทำยางเครป ยางแท่ง ยางน้ำ มูลค่าเงินลงทุน 1,318 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องเรือน จากพลาสติก มูลค่าเงินลงทุน 762 ล้านบาท”

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนพฤษภาคม 2561

1. อุตสาหกรรมอาหาร

+ การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนพฤษภาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ น้ำตาลทรายและสับปะรดกระป๋อง ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 และ 9.5ตามลำดับ (%YoY) เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40-45 (%YoY)ประกอบกับการผลิตทูน่ากระป๋องปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1(%YoY) จากความกดดันด้านราคาวัตถุดิบและราคาสินค้าคลายตัว ทำให้ประเทศคู่ค้าเพิ่มคำสั่งซื้อมากขึ้น

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ นมพร้อมดื่มและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 และ 0.6 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น และผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่ปลูก ประกอบกับการผลิตไก่แช่แข็งปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 (%YoY) จากความต้องการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยบวกจากการส่งออกไปตลาดจีน(ยูนนาน) เป็นทางการครั้งแรกตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

+ การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนพฤษภาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.6 (%YoY)เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น

+ ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารเดือนพฤษภาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.35 (%YoY) ในกลุ่มสินค้าที่สำคัญ เช่น ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งซาร์ดีนกระป๋อง ทูน่ากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวและไก่แปรรูป ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 243.5 28.4 26.5 10.7 10.3 10.0 7.5 และ 1.9 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากความต้องการสินค้าของตลาดโลกที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก และระดับราคามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินบาทที่เริ่มมีสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

+ คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าการผลิต ในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนมิถุนายน 2561 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป รวมถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลางประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องหลังจากธนาคารกลางของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นดอกเบี้ย โดยเฉพาะสินค้าสำคัญ เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูปที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยความมั่นใจในมาตรฐานสินค้าไทย และสินค้าประมงอย่างทูน่ากระป๋อง และซาร์ดีนกระป๋อง มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากความกังวลด้านราคาวัตถุดิบและราคาสินค้าเริ่มคลายตัว ประกอบกับสินค้าข้าว (ข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ) ที่ประเทศคู่ค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต

+ ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ขยายตัวร้อยละ 11.48(%YoY) ในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสมบัติพิเศษต่าง ๆเช่น เส้นใยคอลลาเจน เส้นใยคาร์บอน เส้นใยอาระมิด เพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัว

  • ผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 14.72 และ 3.28 (%YoY) สอดคล้องกับความต้องการจับจ่ายเสื้อผ้าในประเทศที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการนำเข้าผ้าผืนจากจีนเข้ามาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป

การจำหน่ายในประเทศ

+ กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ขยายตัวเล็กน้อย ร้อยละ 0.03(%YoY)

  • ผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 0.22 และ 10.17 (%YoY) ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงเปิดภาคการศึกษาแต่การจับจ่ายลดลง เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนยังกังวลเรื่องค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง

การส่งออก

+ กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.89 4.61 และ 1.57 โดยเส้นใยสิ่งทอขยา ยตัวต่อ เนื่องเ ป็นเดือนที่ 19 นับตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2559 สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ คือ เส้นใยประดิษฐ์ และผ้าผืนที่ผลิตจากเส้นใยประดิษฐ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเส้นใยและผ้าผืนที่มีสมบัติพิเศษ ซึ่งไทยมีศักยภาพทั้งในการผลิตและการส่งออก โดยตลาดสำ คัญ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา บังคลาเทศ และญี่ปุ่น ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในตลาดสำ คัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม

คาดการณ์แนวโน้มเดือนมิถุนายน 2561

+ แนวโน้มการผลิตกลุ่มเส้นใยสิ่งทอผ้าผืน และกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวจากการส่งออกเส้นใยสังเคราะห์และผ้าผืนที่มีสมบัติพิเศษและเสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทชุดชั้นในไปยังตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสหภาพยุโรป ที่กำลังขยายตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางขยายตัว

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนพ ฤษภาคม ปี 2561 มีจำนวน 193,130 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2561 ร้อยละ 43.29 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปี ก่อน ร้อยละ 13.94 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ทั้งนี้ การผลิตรถยนต์ ขยายตัวติดต่อกันเป็นระยะเวลา 11 เดือน เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 มีจำ นวน 84,965 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนปี 2561 ร้อยละ 7.27 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 27.91 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV เนื่องจาก มีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ เศรษฐกิจในประเทศ การลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้บริโภคทยอยสิ้นสุดการถือครองรถยนต์ภายใต้โครงการรถยนต์คันแรก

+ การส่งออกรถยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2561มีจำนวน 98,875 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2561 ร้อยละ 36.25 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.75 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา และยุโรป ทั้งนี้ การส่งออกรถยนต์ขยายตัวติดต่อกันเป็นระยะเวลา 7 เดือน เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

“คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนมิถุนายน ปี 2561 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ปี 2560 เนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจโลกรวมทั้งการทยอยสิ้นสุดการถือครองรถยนต์คันแรก”

อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์

+ การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 มีจำนวน 186,157 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2561 ร้อยละ45.63 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.63(%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบเอนกประสงค์

+ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 168,482 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2561 ร้อยละ 38.55 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.80 (%YoY)

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 มีจำนวน 32,050 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2561 ร้อยละ43.92 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 30.68 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเมียนมา

“คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน ปี 2561 จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ปี 2560”

4. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม

  • การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 มีจำนวน 6.12 ล้านตัน ลดลงจากเดือนเมษายนปี 2561 ร้อยละ 5.43 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.18 (%YoY) เนื่องจากตลาดในประเทศยังอยู่ในลักษณะทรงตัว

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนพฤษภาคมปี 2561 มีปริมาณการจำหน่าย 2.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2561 ร้อยละ 17.12 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 1.83 (%YoY) เนื่องจากยังมีการแข่งขันในตลาดสูง

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนพฤษภาคมปี 2561 มีจำนวน 1.37 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนปี 2561 ร้อยละ 30.74 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนเพียง เล็กน้อย ร้อยละ 0.03 (%YoY) เป็นผลจากตลาดศรีลังกาปรับเพิ่มคำสั่งซื้อในส่วนของปูนเม็ดเพิ่มขึ้นมากถึง ร้อยละ 119.14

  • คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์รวมในเดือนมิถุนายนปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากความมั่นใจในความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ของภาครัฐ

อุตสาหกรรมซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)

  • การผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนพฤษภาคมปี 2561มีจำนวน 3.33 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2561 ร้อยละ 5.61(%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.75 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ภายในประเทศในเดือนพฤษภาคมปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 2.82 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2561 ร้อยละ 17.12 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.08 (%YoY)เนื่องจากยังคงมีการแข่งขันในตลาดสูง อย่างไรก็ดีการจำหน่ายก็เริ่มจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

+ การส่งออกซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนพฤษภาคมปี 2561 มีจำนวน 0.56 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2561ร้อยละ 33.35 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.46 (%YoY) เป็นผลจากตลาดส่งออกหลักคือ กัมพูชาและเมียนมา ปรับลดคำ สั่งซื้อลงร้อยละ 13.89 และ 6.73 ตามลำดับ

+ คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมิถุนายนปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างด้านสาธารณูปโภคภาครัฐที่เข้าสู่ช่วงของก่อสร้างทำ ให้การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ตามแนวก่อสร้างเติบโตขึ้นตามมารวมถึงความเชื่อมั่นภาคเอกชนเพิ่มขึ้นหลังจากที่พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (EEC) มีผลบังคับใช้

5. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

  • การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 131.0 สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องซักผ้า ตู้เย็น คอมเพรสเซอร์หม้อหุงข้าว และเครื่องปรับอากาศ โดยลดลงร้อยละ 16.1, 15.6, 11.6, 10.3, 9.7 และ 5.2 ตามลำดับ โดยตู้เย็นมีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง เช่น สหรัฐอเมริกา ส่วนหม้อหุงข้าวคอมเพรสเซอร์ เครื่องปรับอากาศ และมอเตอร์ไฟฟ้ามีการผลิตลดลงเนื่องจากความต้องการในประเทศลดลง จึงมีการนำสินค้าคงคลังออกมาจำหน่าย ส่วนเครื่องซักผ้ามีการผลิตที่ลดลงจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้ประกอบการขยายฐานการผลิตไปที่สหรัฐอเมริกา ในขณะที่สินค้าที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กระติกน้ำร้อน เตาไมโครเวฟ พัดลมตามบ้าน และสายไฟฟ้า โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1, 19.1, 9.7 และ 8.3 ตามลำดับ โดยกระติกน้ำร้อน มีการผลิตเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในประเทศทำให้มีการจำหน่ายมากขึ้น และสายไฟฟ้ามีการใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ

+ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 2,094.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 507.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ในขณะที่ตู้เย็นมีมูลค่าส่งออก 133.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.5 และเครื่องซักผ้ามีมูลค่าการส่งออก 116.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.1

“คาดการณ์การผลิตเดือนมิถุนายน 2561 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะชะลอตัวปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากเครื่องซักผ้ามีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา สินค้าเครื่องปรับอากาศมีการจำหน่ายในประเทศและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังชะลอตัว ในขณะที่สายไฟฟ้ายังคงมีการใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ”

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

+ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 106.9 เนื่องจากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลัก ได้แก่ HDD, Monolithic IC, PCBA, เครื่องพิมพ์ และ Semiconductor devices transistor (อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2, 19.5, 8.2, 4.6 และ 3.9 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก โดย IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet ส่วน HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage และในตลาดมีการพัฒนา Semiconductorมากขึ้น เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์สมาร์ทต่าง ๆ เช่น นาฬิกา จอ LED และโฟโต้เซนเซอร์ที่ใช้ในกล้องถ่ายรูป

+ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,178.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อาเซียนสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,248.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 รองลงมาคือ วงจรรวม (IC) มีมูลค่าส่งออก 699.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4

“คาดการณ์การผลิตเดือนมิถุนายน 2561 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์และวงจรรวมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

6. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

+ ดัชนีการผลิต ในเดือนพฤษภาคมปี 2561 มีค่า 117.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ เหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ส่งผลให้การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และ 3.5 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวลดลงร้อยละ 0.4 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดเย็นลดลงร้อยละ 14.9 รองลงมาคือ เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน ลดลงร้อยละ 8.6 และ 7.4 ตามลำดับ ซึ่งเหล็กเส้นข้ออ้อยลดลง 8 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 – พฤษภาคม 2561 เนื่องจากงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศอยู่ในช่วงทรงตัวส่งผลให้ผู้ผลิตบางรายชะลอการผลิต สำ หรับเหล็กเส้นกลมเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.1 เนื่องจากงานก่อสร้างขนาดเล็ก เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยไม่เกิน 2 ชั้น ในประเทศเริ่มมีแนวโน้มเติบโต โดยเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน

+ การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 มีปริมาณ 1.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับเหล็กทรงแบน มีปริมาณ 0.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดหนา เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.0 รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นรีดเย็น ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.0 และ 15.0 ตามลำดับ ส่วนเหล็กทรงยาวมีการบริโภค 0.4 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 1.1 โดยเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลดลงร้อยละ 13.2 ซึ่งลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

+ การนำเข้าในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 การนำเข้ามีปริมาณ 1.0 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีปริมาณ 0.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เนื่องจากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ชนิด Alloy Steel และเหล็กเส้น ชนิด Alloy Steel เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 96.1 และ 88.2 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีปริมาณ 0.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เนื่องจากการนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (EG) ท่อเหล็กมีตะเข็บ และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (HDG) เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.5 55.2 และ 43.5 ตามลำดับ

“แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมิถุนายน 2561 คาดการณ์ว่า การผลิตลดลงร้อยละ 0.3 โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ขณะที่เหล็กทรงแบนลดลง ร้อยละ 0.1 เนื่องจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีดัชนีการผลิตลดลงร้อยละ 1.9 สำหรับการจำหน่ายภายในประเทศ คาดว่าลดลงร้อยละ 13.5 นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าติดตามเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ที่น่าจะยังเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ผลิตเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในด้านการส่งออกและมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐฯ ของประเทศต่าง ๆ เช่น จีน สหภาพยุโรป เป็นต้น”

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ