รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3/2561 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2561

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 21, 2018 14:34 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

บทสรุปผู้บริหาร

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 3/2561

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3/2561 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 0.96 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัว ร้อยละ 2.94 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ที่ MPI ขยายตัวร้อยละ 1.92 โดย อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาสที่ 3/2561 อาทิ น้ำตาล เนื่องจากผลผลิตอ้อยที่มากขึ้นในปีนี้จึงเปิดหีบการผลิตได้เร็วและปิดหีบการผลิตช้า อีกทั้งโรงงานส่วนใหญ่ได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยทำให้สามารถรองรับผลผลิตได้สูงขึ้น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา จึงมีคำสั่งซื้อเข้ามาในปริมาณสูง ยานยนต์ เนื่องจากภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นจากเครื่องยนต์ดีเซล รถยนต์นั่งขนาด 1,800 cc.และรถปิกอัพ เป็นผลเนื่องจากภาวะตลาดรถยนต์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามกำลังซื้อรถยนต์ในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น การกลั่นปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 รวมถึงน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณการขนส่งเดินทางและเครื่องปรับอากาศ มีความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้นจากการรุกตลาดของผู้ผลิตเองโดยไม่ผ่านตัวแทนจำหน่าย และการขยายฐานลูกค้าระดับกลาง-พรีเมี่ยมเพิ่มขึ้น ในขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงมีการขยายตลาดใหม่ที่ประเทศอินเดีย

แนวโน้มไตรมาสที่ 4/2561

เหล็กและเหล็กกล้า แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 4 ปี 2561 คาดการณ์ว่าการผลิตและการจำหน่ายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะมีการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋อง และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐในช่วงปลายปี

เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 คาดว่า การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงในสินค้าเครื่องซักผ้าและตู้เย็น และการส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.5 ตามการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 คาดว่า จะมีการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และ HDD ตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก

ยานยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 500,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45-50 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 50-55

พลาสติก ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 คาดว่ามีปริมาณการส่งออกประมาณ 298,295 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.48 และปริมาณการนำเข้าประมาณ 215,923 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.82 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ขยายตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ทั้งจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการปรับขึ้นราคาสินค้าจากปัญหาสงครามการค้า

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ แนวโน้มไตรมาสที่ 4 ปี 2561 กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ตามทิศทางการตลาดของคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีนและตลาดอาเซียน ประกอบกับความต้องการของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในช่วงปลายปีที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อการบรรจุและโลจิสติกส์ ได้แก่ อาหาร และเครื่องดื่ม ยาและเวชภัณฑ์ ของขวัญและของชำร่วยอื่น เป็นต้น สำหรับกลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์จะชะลอตัวตามผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก

เซรามิก การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศ ไตรมาส 4 ของปี 2561 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจไทย ประกอบกับการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์และลูกถ้วยไฟฟ้าไปยังประเทศจีนที่มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับมูลค่าการนำเข้ากระเบื้อง ปูพื้น บุผนัง คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกจากประเทศจีน

ปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิต และการจำหน่าย คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นร้อยละ 4.06 และ 3.88 ตามลำดับ จากความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต่างๆ และการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนที่เกิดขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ส่วนมูลค่าการส่งออกคาดว่ายังจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้น ร้อยละ 13.34 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจภูมิภาค

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภาพรวมการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกเส้นใย และผ้าผืน ไปยังตลาดเวียดนาม และบังคลาเทศ ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตเส้นใยสมบัติพิเศษหลายชนิด เป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-curve ตามเป้าหมายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

ไม้และเครื่องเรือนไม้ การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 คาดว่าจะยังคงชะลอตัว ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศและการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ตามแนวโน้มการปรับลดลงของคำสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ

ยา สำหรับการผลิตและจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.22 และ 2.13 ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวของยาทุกชนิดยกเว้นในส่วนของยาน้ำและยาผง ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดยาในประเทศ และตลาดส่งออกโดยเฉพาะเมียนมา กัมพูชา และลาว

ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์และถุงมือยางในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 1.15 และ 1.38 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นคาดว่าจะปรับลดลงร้อยละ 18.29 ตามแนวโน้มคำสั่งซื้อที่คาดว่าจะปรับลดลงของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีน

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การฟอกและตกแต่งหนังฟอกมีแนวโน้มผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทาง ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มรองเท้า มีแนวโน้มการผลิตลดลง เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

อัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2561 คาดว่า การผลิตและการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) คาดว่า จะขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่แนวโน้มการส่งออกในภาพรวม คาดว่า จะขยายตัวเช่นกัน จากราคาทองคำในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้น

อาหาร การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 4 ปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.4 และ 7.8 ตามลำดับ จากปัจจัยบวกอย่างเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 3 รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ CLMV รวมทั้งการขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้น อาทิ อาเซียน แอฟริกา และตะวันออกกลาง แม้จะมีปัจจัยลบอย่างความเสี่ยงจากภายนอก ได้แก่ ความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า อีกทั้งเรื่องเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่ามูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น เนื้อไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง เช่นเดียวกับการบริโภคในประเทศคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น

ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 3 ปี 2561

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 112.43 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (112.03) ร้อยละ 0.36 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (111.34) ร้อยละ 0.98

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร และการผลิตยานยนต์ เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 9 เดือนแรก ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 115.27 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (111.98) ร้อยละ 2.94

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 111.28 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (111.88) ร้อยละ 0.54 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (112.16) ร้อยละ 0.79

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป การผลิตยานยนต์ และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า 9 เดือนแรก ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 113.26 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (110.91) ร้อยละ 2.11

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 111.48 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (106.72) ร้อยละ 4.46 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (110.18) ร้อยละ 1.19

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร และการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายยกเว้นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป การผลิตผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่น ๆ และการผลิตยานยนต์ เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง 9 เดือนแรก ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 109.72 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (108.09) ร้อยละ 1.50

อัตราการใช้กำลังการผลิต

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 66.52 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 66.61) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (ร้อยละ 67.06)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป และการแปรรูปและการถนอมผักผลไม้ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์จากยาสูบ การผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ควบคุมและจ่ายไฟฟ้า และการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต 9 เดือนแรก ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 68.53 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 (67.05 )

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 92.40 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (90.33) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (85.20) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 105.40 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 (102.13)

ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มาจากกำลังซื้อภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะภาคเกษตรและการบริโภคสินค้าคงทน อาทิเช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกลและโลหะการ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประเทศ CLMV และอาเซียน (5) รวมทั้งประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (27)

การค้าต่างประเทศ
"มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากมูลค่าการส่งออกและนำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยภาพรวมการค้าต่างประเทศมีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีตามอุปสงค์ในตลาดโลก ขณะที่ดุลการค้าในไตรมาสที่ 3 ขาดดุลการค้า 617.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ"

สถานการณ์การค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 128,453.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 63,918.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 64,535.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 อย่างไรก็ตาม ดุลการค้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขาดดุลการค้า 617.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวในอัตราเร่งที่ลดลง

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 63,918.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้าพบว่า การส่งออกสินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าการส่งออก 5,814.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออก 50,652.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 2,952.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีมูลค่าการส่งออก 4,498.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 7,492.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 5,171.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3) ผลิตภัณฑ์ยาง (มูลค่าการส่งออก 2,750.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1) เม็ดพลาสติก (มูลค่าการส่งออก 2,638.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6) และเคมีภัณฑ์ (มูลค่าการส่งออก 2,246.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4)

ตลาดส่งออก

ด้านการส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีสัดส่วนการส่งออกคิดรวมเป็น ร้อยละ 70.1 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกไปยังตลาดหลักมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยการส่งออกไปยังอาเซียน (9 ประเทศ) มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 22.3 รองลงมา คือ จีน และ สหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ซึ่งการส่งออกไปจีนมีการชะลอตัวลงร้อยละ 2.8 และการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาอยู่ในระดับทรงตัว

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 64,535.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า การนำเข้ามีมูลเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าการนำเข้า 11,058.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.6 สินค้าทุนมีมูลค่าการนำเข้า 15,792.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าการนำเข้า 27,386.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ17.2 สินค้าอุปโภคบริโภค มีมูลค่าการนำเข้า 6,447.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีมูลค่าการนำเข้า 3,655.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.1 และสินค้าหมวดอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าการนำเข้า 193.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.9

แหล่งนำเข้า

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561แหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 64.9 ของการนำเข้าทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า แหล่งนำเข้าสำคัญของไทยมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยนำเข้าจากจีน เพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 8.8 รองลงมา ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) และญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 และ 6.7 ตามลำดับ

เศรษฐกิจโลก ไตรมาสที่ 3 ปี 2561

โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ด้วยแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นตาม อุปสงค์ในตลาดโลก สอดคล้องกับภาคการผลิตในหลายประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานของประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในระดับต่ำ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 1.75 - 2.00% เป็น 2.00 - 2.25% สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้ดี ตลอดจนประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเดิม เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบไตรมาส 3 ปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 74.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2560 อยู่ที่ 50.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบช่วงเดือนกันยายน อยู่ที่ 74.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ทั้งนี้ ราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากตลาดยังคงกังวลกับอุปทานน้ำมันดิบของอิหร่านและเวเนซุเอลาที่ลดลง รวมทั้งทั่วโลกมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นจากปัจจัยของฤดูกาลที่เข้าใกล้ช่วงฤดูหนาวและการค้าโลกที่ขยายตัว

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตาม เช่น นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า ความไม่แน่นอนทางการเมืองและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น Brexit กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่อาจก่อให้เกิดความผันผวนของตลาดการเงินโลก ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง

เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยรายสาขาไตรมาสที่ 3/2561 และ แนวโน้มไตรมาสที่ 4/2561

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเหล็กไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กลวด เป็นต้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องและคำสั่งซื้อของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นของลูกค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋อง และก่อสร้าง

ดัชนีการผลิต

การผลิต ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 125.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.0 (%YoY) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 7.3 (%QoQ) โดยการผลิตเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4 เนื่องจาก คำสั่งซื้อ ที่เพิ่มขึ้นของบรรจุภัณฑ์ ปลาทูน่ากระป๋อง และปลาซาร์ดีนกระป๋อง รองลงมา คือ เหล็กแผ่นรีดเย็น และ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 และ 1.9 ตามลำดับ สำหรับเหล็กทรงยาวการผลิตลดลงร้อยละ 3.6 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดเย็น ลดลงร้อยละ 14.1 รองลงมา คือ เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กเส้นกลม ลดลงร้อยละ 12.2 และ 7.3 ตามลำดับ เนื่องจากราคาเหล็ก ที่ปรับลดลงทั้งในจีนและเอเชียจึงมีผลทำให้ผู้ผลิตเหล็กทรงยาวชะลอการผลิต เพื่อรอดูทิศทางการขึ้นลงของราคาเหล็ก

การจำหน่าย ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีปริมาณ 4,587,907 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.6 (%YoY) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 9.5 (%QoQ) โดยเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 ผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น คือ เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.3 ซึ่งเพิ่มขึ้นตามแรงสนับสนุนของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุตสาหกรรมผลิตอาหารกระป๋อง ส่งผลให้การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดบาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 และ 10.1 ตามลำดับ

การนำเข้าไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.8 (%YoY) โดยการนำเข้าเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น คือ เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.2 และเหล็กลวด เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 สำหรับการนำเข้าเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น คือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดบาง และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 และ 18.4 ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 4 ของปี 2561

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 4 ปี 2561 คาดการณ์ว่าการผลิตและการจำหน่ายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะมีการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋อง และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐในช่วงปลายปี

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศยังชะลอตัว โดยสินค้าที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องซักผ้า สายไฟฟ้า เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และพัดลมตามบ้าน ในขณะที่สินค้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและคอมเพรสเซอร์ ส่วนการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในตลาดสหภาพยุโรป จีน อาเซียน และญี่ปุ่น ยกเว้นตลาดสหรัฐอเมริกามีมูลค่าการส่งออกลดลง

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 4,120.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 2.0 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.6 (%YoY) โดยสินค้าหลักที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 เครื่องอุปกรณ์สำหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 99.0 ลดลงจากไตรมาส ที่แล้ว ร้อยละ 18.6 (%QoQ) และลดลงร้อยละ 4.1 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศยังชะลอตัว สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องซักผ้า สายไฟฟ้า เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น กระติก น้ำร้อน หม้อหุงข้าว และพัดลมตามบ้าน ลดลงร้อยละ19.9, 17.9, 14.6, 13.6, 11.3, 9.2, 2.2 และ 1.5 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าเครื่องปรับอากาศและคอมเพรสเซอร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 และ 12.4 ตามลำดับ

การจำหน่ายในประเทศ ในไตรมาส 3/2561 สินค้าที่มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ สายไฟฟ้า พัดลม ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และกระติกน้ำร้อน ลดลงร้อยละ 25.0, 18.3, 15.7, 11.2 และ 6.3 ยกเว้น เตาไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว คอมเพรสเซอร์ เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1, 7.1, 4.1 และ 2.7 ตามลำดับ

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่าการส่งออก 5,936.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 1.6 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.3 (%YoY) จากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 23.2 โดยสินค้าตู้เย็นลดลงร้อยละ 20.8 และเครื่องซักผ้าลดลงร้อยละ 22.8 โดยลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 52.5 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการ Safeguard ที่สหรัฐอเมริกามีต่อไทย ในขณะที่ตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0, 12.1, 6.0 และ 0.6 ตามลำดับ เนื่องจากสินค้าเครื่องปรับอากาศมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.6 แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้า ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561

อุตสาหกรรมไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 คาดว่า ยังคงชะลอตัว โดยการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงในสินค้าเครื่องซักผ้าและตู้เย็น และการส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.5 ตามการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ9.7เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากสินค้า Monolithic IC, PCBA, Printer, Other IC, Semiconductor และ HDD เป็นผลจากการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น และมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอาเซียน

การนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่าการนำเข้า 9,650.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 2.8 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.5 (%YoY) โดยสินค้าหลักที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นคือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.1 และแผงวงจรรวม (IC) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 113.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 7.6 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัว เพิ่มขึ้น ได้แก่ Monolithic IC, PCBA, Printer, Other IC, Semiconductor และ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5, 13.3, 12.9, 10.2, 5.8 และ 3.8 ตามลำดับ โดย IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet ส่วน HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage

การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่าการส่งออก 9,751.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วร้อยละ 3.4 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.1 (%YoY) จากการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2, 6.4, 3.9 และ 1.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ในขณะที่แผงวงจรรวม (IC) ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.4 โดยลดในตลาดจีนถึงร้อยละ 47.4 ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อห่วงโซ่การส่งออกของไทย และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 19.1 โดยลดลงในตลาดสหภาพยุโรปและอาเซียนร้อยละ 28.7 และ 23.6 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 คาดว่า จะมีการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และ HDD ตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก

อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์

ปริมาณการผลิตรถยนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกชะลอตัวในประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยเป็นการลดลงของรถยนต์นั่งและรถ PPV

การผลิตรถยนต์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีจำนวน 547,547 คัน เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 5.93 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 3.94 (%YoY) โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง ร้อยละ 41 รถกระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ ร้อยละ 57 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 2

การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีจำนวน 257,522 คัน เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 2.18 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22.20 (%YoY) แบ่งเป็น การจำหน่ายรถยนต์นั่ง ร้อยละ 39 รถกระบะ 1 ตัน ร้อยละ 41 รถ PPV และ SUV ร้อยละ 14 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 6

การส่งออกรถยนต์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีจำนวน 296,827 คัน เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 11.28 (%QoQ) แต่ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.34 (%YoY) โดยแบ่งเป็นการส่งออกรถยนต์นั่ง ร้อยละ 34 รถกระบะ 1 ตัน ร้อยละ 56 และรถ PPV ร้อยละ 10

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 2,629.73 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 7.11 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.15 (%YoY) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 2,976.14 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 1.97 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.54 (%YoY) โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และ สหรัฐอเมริกา

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561

จากการคาดการณ์โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 500,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45-50 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 50-55

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์

ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่3 ปี 2561ชะลอตัว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงของตลาดในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกขยายตัว

การผลิตรถจักรยานยนต์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีจำนวน 510,284 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 1.28 (%QoQ) แต่ลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 0.56 (%YoY)

การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศ

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีจำนวน 431,402 คัน ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 8.14 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 2.91 (%YoY)

การส่งออกรถจักรยานยนต์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีจำนวน 195,415 คัน (เป็นการส่งออก CBU 87,284 คัน และ CKD 108,131 ชุด) ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 0.54 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.99 (%YoY)

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 184.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 5.53 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.85 (%YoY) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซียและญี่ปุ่น

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยาน

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 131.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 2.47 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.74 (%YoY) โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561

ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 500,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

มูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 1.32และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.05 โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าเคมีภัณฑ์ลดลงร้อยละ 19.32 เมื่อเทียบกับไตรมาส ที่ 2 ปี 2561 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ลดลงร้อยละ 6.47 โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ทำให้มูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ และปุ๋ยตามลำดับ สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 คาดว่าตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเคมีภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10

การตลาดและการจำหน่าย

การส่งออกเคมีภัณฑ์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 2,219 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มูลค่า 2,190 คิดเป็นร้อยละ 1.32 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.05 (%YoY) การส่งออกในไตรมาสที่ 3 แบ่งเป็นเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน 1,131 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.64 (%YoY) โดยผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่า 1,088 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.37 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องสำอาง สี และสารลดแรงตึงผิว ตามลำดับ

การนำเข้าเคมีภัณฑ์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่ารวม 3,544 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 19.32 (%QoQ) และลดลงร้อยละ 6.47 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าในไตรมาส ที่ 3 แบ่งเป็นเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน 1,991 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.75 (%YoY) ทั้งนี้เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องขยายตัวลดลง ส่งผลให้มีการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ และเคมีภัณฑ์อินทรีย์ ลดดลงตามไปด้วย ส่วนเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย 1,553 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.04 (%YoY)

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 คาดว่าตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังคงขยายตัว ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการผลิตและส่งออกในอนาคต

อุตสาหกรรมพลาสติก

อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีปริมาณการส่งออกและนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเติบโตตามความต้องการของตลาด โดยมีประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และกลุ่ม CLMV นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนช่วยหนุนมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

ดัชนีผลผลิต ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.57 (%QoQ) จากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.07 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดัชนีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และ ห้องน้ำ

ดัชนีการส่งสินค้า ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.08 (%QoQ) จากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 แต่ลดลงร้อยละ 0.63 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลงมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่น

ปริมาณการส่งออก ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีปริมาณ 299,654 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 4.20 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.52 (%YoY) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (3918) ใยยาวเดี่ยว (3916) และหลอดหรือท่อ (3917)

ปริมาณการนำเข้าไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีปริมาณ 210,332 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 0.18 (%QoQ) และ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.64 (%YoY) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (3916) หลอดหรือท่อ (3917) และเครื่องใช้ในครัวเรือน (3924)

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 คาดว่ามีปริมาณการส่งออกประมาณ 298,295 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.48 และปริมาณการนำเข้าประมาณ 215,923 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.82 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ขยายตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ทั้งจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการปรับ ขึ้นราคาสินค้าจากปัญหาสงครามการค้า

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 3ปี 2561ราคาแนฟทาของตลาดเอเชีย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และมีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคเอเชีย และภาวะเศรษฐกิจโลก

การตลาดและการจำหน่าย

มูลค่าการส่งออก ไตรมาส 3 ปี 2561 มีมูลค่ารวม 3,045.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 38.23 (%YoY)

มูลค่าการนำเข้า ไตรมาส 3 ปี 2561 มีมูลค่ารวม 1,234.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 17.77 (%YoY)

สาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เกิดจากตลาดส่งออกหลักมีการขยายตัว ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ส่วนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากประเทศจีน และอินโดนีเซีย รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบที่ส่งผลต่อมูลค่าส่งออกและนำเข้าผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมี

ราคาสินค้า ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 แนฟทา (Naphtha) ของตลาดเอเชีย มีราคาเฉลี่ย 21.95บาท/กิโลกรัม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจากราคาเฉลี่ย 20.46 บาท/กิโลกรัม ตามการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ราคาเอทิลีนและโพรพิลีนของตลาดเอเชีย ไตรมาส 3 ปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 40.15 และ 33.87 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปี 2560 พบว่า ราคาเอทิลีนและโพรพิลีนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคา 36.55 และ 26.55 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ และราคาเม็ดพลาสติก PE และ PPไตรมาส 3 ปี 2561 (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ของ LDPE, HDPE และ PP มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 38.59, 43.48 และ 41.78 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 พบว่าราคาเฉลี่ยของ LDPE ปรับตัวลดลงจากระดับราคา 41.54 บาท/กิโลกรัม ส่วน HDPE และ PP ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับราคา 38.14 และ 38.55 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2561

ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2561 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 2,667.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 1,148.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.85 และ 15.85 ตามลำดับ ปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตาม คือ การปรับตัวของระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคเอเชียและภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาและจีน โดยเฉพาะมาตรการภาษีนำเข้าซึ่งจะนำไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้า

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

การผลิตเยื่อและกระดาษในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ดัชนีฯ เพิ่มขึ้นจากกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟต์ ซึ่งมีทิศทางเดียวกับการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รวมถึงหนังสือและสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนและจีนที่เป็นตลาดส่งออกหลักเติบโตต่อเนื่อง ส่วนการบริโภคในประเทศขยายตัว ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์ จากกระดาษมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2561

แนวโน้มไตรมาสที่ 4 ปี 2561 กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ตามทิศทาง การตลาดของผู้มีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีนและตลาดอาเซียน ประกอบกับความต้องการของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในช่วงปลายปีที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อการบรรจุและโลจิสติกส์ ได้แก่ อาหาร และเครื่องดื่ม ยาและเวชภัณฑ์ ของขวัญและของชำร่วยอื่น เป็นต้น สำหรับกลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์จะชะลอตัวตามผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก

การผลิตเยื่อและกระดาษ

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก ร้อยละ 1.96 2.82 และ 0.59 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีฯ เพิ่มขึ้นจากกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟต์ ร้อยละ 12.42 0.47 และ 3.99 ตามลำดับ ตามความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มอาหารแช่แข็งและอาหารแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้บรรจุเพื่อการขนส่ง ซึ่งในปัจจุบันมีรูปแบบและความหลากหลายมากขึ้น

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 555.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกเยื่อกระดาษชนิดเยื่อไม้เคมีละลายน้ำได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.19 ไปยังประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน ในส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.47 เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ไปยังเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับหนังสือและสิ่งพิมพ์ ส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่ม โบรชัว แผ่นปลิว รูปลอก รวมถึงหนังสือภาพ สมุดวาดเขียน หรือสมุดระบายสีสำหรับเด็ก จะส่งออกไปยังประเทศฮ่องกง และมาเลเซียเป็นหลัก

การนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 732.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.90 และ 0.77 ตาม ลำดับ จากการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษชนิดที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ หนังสือและสิ่งพิมพ์รวมถึงภาพพิมพ์และภาพถ่าย และรูปลอกต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ นำเข้าลดลง ร้อยละ 10.54 และเป็นไตรมาสแรกที่นำเข้าลดลงในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีตลาดนำเข้าหลักจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา และแอฟริกาใต้ เป็นต้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

จากมาตรการลดการใช้กระดาษในหลาย ๆ หน่วยงาน และเป็นการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2560 ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 มีมติเห็นชอบมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน (การไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐภายในฝ่ายบริหารทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติ

อุตสาหกรรมเซรามิก

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายเซรามิกในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวจากการผลิตเพื่อรองรับ ความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและจีน โดยเครื่องสุขภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดจากการขยายตัวไปยังตลาดหลักทุกตลาด โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และลูกถ้วยไฟฟ้ามีอัตราการขยายตัวสูงสุดไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่น

การผลิต ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 กระเบื้องบุพื้น บุผนัง มีปริมาณการผลิต 36.03 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 4.72 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.97 (%YoY) จากขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณการผลิต 1.93 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสก่อน ร้อยละ 6.12 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน ร้อยละ 3.39 จากการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากตลาดหลักต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศจีน

การจำหน่าย ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 กระเบื้องบุพื้น บุผนัง มีปริมาณการจำหน่าย 40.59 ล้านตารางเมตร ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 0.78 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน ร้อยละ 10.96 (%YoY) ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ มีจำนวน 1.00 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 1.04 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.65

การส่งออก ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 การส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีมูลค่า 22.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 9.50 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.63 จากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงของ สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งเป็นตลาดหลัก ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์มีมูลค่า 56.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 7.14 และเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวของกับปีก่อน ร้อยละ 22.01และมีแนวโน้มที่จะ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดหลักทุกตลาด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น

แนวโน้มอุตสาหกรรมเซรามิก ไตรมาส 4 ของปี 2561

การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศ ไตรมาส 4 ของปี 2561 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจไทย ประกอบกับการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์และลูกถ้วยไฟฟ้าไปยังประเทศจีนที่มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับมูลค่าการนำเข้ากระเบื้องปูพื้น บุผนัง คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกจากประเทศจีน

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน มีการผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้นตามความคืบหน้าของการก่อสร้างสาธารณูปโภคภาครัฐ การส่งออกหดตัวจากคำสั่งซื้อ ที่หายไปของตลาดส่งออกหลักที่ผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนเข้าไปในประเทศ

การผลิตปูนซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในไตรมาสที่ 3ปี 2561 มีจำนวน 10.03 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 2.58 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 1.93 (%YoY) เพื่อรองรับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ตามความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐต่างๆ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีจำนวน 8.86 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 6.70 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 6.30 (%YoY)

การส่งออก - นำเข้าปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่าจากการส่งออก 60.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 23.30 (%QoQ) เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2561 และลดลงร้อยละ 23.61 (%YoY) จากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน จากการที่ไม่มีคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จากบังคลาเทศ และศรีลังกาติดต่อกันมา 6 เดือน และ 3 เดือนตามลำดับ เป็นผลจากการขยายการลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยที่เริ่มมีผลแล้ว รวมถึงการปรับลดคำสั่งซื้อจากฟิลิปปินส์เป็นมูลค่าลดลง ร้อยละ 78.26 ส่วนมูลค่าการนำเข้า 10.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจาก ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 41.41 และลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.93 โดยมูลค่านำเข้าปูนซีเมนต์ ลดลงจากสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และประเทศเนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 265.30 และ 80.49ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิต และการจำหน่าย คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นร้อยละ 4.06 และ 3.88 ตามลำดับ จากความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต่างๆ และการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนที่เกิดขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ส่วนมูลค่าการส่งออกคาดว่ายังจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้น ร้อยละ 13.34 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจภูมิภาค

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 การผลิตเส้นใยประดิษฐ์ ขยายตัวจากการพัฒนาและผลิตเส้นใยสมบัติพิเศษต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการส่งออกเส้นใยสิ่งทอของไทยให้ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 23 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตและส่งออกขยายตัวจากการที่ไทยได้รับเลือกให้ผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายให้แบรนด์ต่างประเทศ

การผลิตและจำหน่ายในประเทศ

เส้นใยประดิษฐ์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.02 (YoY) ซึ่งค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหญ่หยุดสายการผลิตบางส่วนเพื่อซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ได้มีการชดเชยปริมาณการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการส่งออกไว้แล้ว ในส่วนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ขยายตัว 9.54 ซึ่งเป็นการขยายตัวในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปกลุ่มเครื่องแต่งกายบุรุษ จากการที่ไทยได้รับเลือกให้ผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายให้แบรนด์ต่างประเทศ

เส้นด้ายจากใยธรรมชาติ และผ้าผืน มีดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 20.00 และ 13.64 (YoY) ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงของผลิตภัณฑ์เส้นด้ายและผ้าทอที่ผลิตจากฝ้าย ซึ่งไทยไม่มีวัตถุดิบในประเทศ จึงทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าประเทศที่มีวัตถุดิบฝ้าย

การส่งออก-นำเข้า

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภาพรวม มีมูลค่า 1,815.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.54 (YoY) หากพิจารณากลุ่ม สิ่งทอ พบว่า ขยายตัว ร้อยละ 6.12 โดยเส้นใยสิ่งทอขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ คือ เส้นใยสังเคราะห์ และผ้าผืนที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเส้นใยที่มีสมบัติพิเศษ ซึ่งไทยมีศักยภาพทั้งในการผลิตและการส่งออก โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา บังคลาเทศ และกัมพูชา ในส่วนการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.26 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปบุรุษและสตรี และเสื้อผ้ากีฬา ในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เบลเยียม และจีน ประกอบกับมีแบรนด์ต่างประเทศพิจารณาให้ไทยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว

การนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภาพรวม มีมูลค่า 1,374.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.05 (YoY) โดยเป็นการนำเข้าด้ายและเส้นใยคุณภาพสูงจากสหรัฐอเมริกา ผ้าผืนจากจีน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต และนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบรนด์ดังระดับโลกและระดับภูมิภาคมาจำหน่ายตามทิศทางความต้องการสินค้าหรูของผู้บริโภค

คาดการณ์แนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2561

ภาพรวมการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกเส้นใย และผ้าผืน ไปยังตลาดเวียดนาม และบังคลาเทศ ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตเส้นใยสมบัติพิเศษหลายชนิด เป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-curve ตามเป้าหมายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมศักยภาพเป้าหมาย (S-curve) ซึ่งผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มควรใช้โอกาสนี้เร่งพัฒนาเส้นใยสมบัติพิเศษให้มีคุณภาพและหลากหลาย เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น ๆ

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ ไตรมาสที่3 ปี 2561 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามปริมาณคำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ที่ปรับลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีน

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีจำนวน 1.49 ล้านชิ้น ลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 2.61 และ 17.22 ตามลำดับ เนื่องจากมีปริมาณคำสั่งซื้อลดลงตามยอดจำหน่ายในประเทศที่ยังชะลอตัว

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีจำนวน 0.33 ล้านชิ้น ขยายตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.13 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับลดลง ร้อยละ 2.94 เป็นผลจากภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายภาคครัวเรือน

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่ารวม 897.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.78 และ 12.70 ตามลำดับ แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนและชิ้นส่วน 245.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ 4.69 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับลดลงร้อยละ 1.59 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ 39.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ 0.08 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับลดลงร้อยละ 13.63 และมูลค่าการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ 612.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับลดลงจาก ไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.87 และ 16.42 ตามลำดับ ทั้งนี้ในภาพรวมการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้มีการปรับลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีน

แนวโน้มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 คาดว่าจะยังคงชะลอตัว ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศและการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ตามแนวโน้มการปรับลดลงของคำสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ป่าไม้ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ดังกล่าวคือ การแก้ไขให้ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นหรือปลูกขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่เป็นไม้หวงห้าม และผู้ใดประสงค์จะให้ออกหนังสือรับรองไม้ที่ขึ้นหรือปลูกขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง รวมทั้งการออกหนังสือรับรองไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ฯ เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

อุตสาหกรรมยา

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศ ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวที่ดีของตลาดยาในประเทศ ในส่วนของการส่งออกยังขยายตัวได้ดีในตลาด เมียนมา กัมพูชา และลาว ในขณะที่ตลาดเวียดนามยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน

การผลิตยา ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีจำนวน 12,674.33 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.12 และ 12.83 ตามลำดับ ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดยา ทั้งในและต่างประเทศ โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตยาทุกชนิดยกเว้นในส่วนของยาน้ำที่มีปริมาณลดลงเล็กน้อยจากการจำกัดปริมาณจำหน่ายยาน้ำบางชนิดในประเทศ

การจำหน่ายยา ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีจำนวน 11,965.97 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.54 และ 2.72 ตามลำดับ ในภาพรวมการจำหน่ายยาของผู้ผลิตในประเทศมีการขยายตัวที่ดี แต่ในส่วนของการจำหน่ายยาน้ำยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน

          การส่งออกยาไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 101.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 5.73 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.80 ในภาพรวมการส่งออกยายังขยายตัวได้จากการขยายตัวที่ดีของตลาดเมียนมา กัมพูชา และลาว ในส่วนของการนำเข้ายามีมูลค่า 411.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 13.54 แต่ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.30 โดยเป็นการนำเข้ายาจากอินเดีย ญี่ปุ่น และสเปน เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอินเดียซึ่งในไตรมาสนี้มีมูลค่าการนำเข้ายาสูงถึง 38.24          ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 9.29 ของมูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศของไทยทั้งหมดในไตรมาสนี้

แนวโน้มอุตสาหกรรมยา ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561

สำหรับการผลิตและจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.22 และ 2.13 ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวของยาทุกชนิดยกเว้นในส่วนของยาน้ำและยาผง ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดยาในประเทศ และตลาดส่งออกโดยเฉพาะเมียนมา กัมพูชา และลาว

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยา

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอยู่ระหว่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มบทบัญญัติในการคุ้มครองประชาชนผู้ใช้ยาอย่างเพียงพอ และแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตและการควบคุมการผลิต การขาย รวมถึงการนำเข้ายา ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตถุงมือยางในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางรถยนต์ลดลงตามการหดตัวของตลาด Replacement และการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นลดลงตามการชะลอตัวของตลาดจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยาง ไตรมาส ที่ 3 ปี 2561 มีจำนวน 3.36 แสนตัน 8.94 ล้านเส้น และ 5.55 พันล้านชิ้น ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นมีปริมาณลดลงร้อยละ 2.04 ตามการ หดตัวลงของตลาดส่งออก สำหรับการผลิตยางรถยนต์ปรับลดลงร้อยละ 0.88 ตามการหดตัวของตลาด Replacement (ตลาด ที่จำหน่ายยางรถยนต์เพื่อนำไปทดแทนยางรถยนต์เก่าที่หมดอายุการใช้งาน) และในส่วนของการผลิตถุงมือยางมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.51 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในละต่างประเทศ การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยางไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีจำนวน 39.83 พันตัน 5.91 ล้านเส้น และ 1,834.15 ล้านชิ้น ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นและถุงมือยาง ในประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.76 และ 94.32 ตามลำดับ ตามความต้องการใช้ที่สูงขึ้น ในขณะที่การจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศมีปริมาณลดลงร้อยละ 2.31 จากการหดตัวของตลาด Replacement

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยางไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 1,084.49 1,308.98 และ 312.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ในส่วนของการส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.80 และ 13.18 ตามลำดับ จากการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.90 จากการปรับลดคำสั่งซื้อของจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561

การผลิตยางรถยนต์และถุงมือยางในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.15 และ 1.38 ตามลำดับตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นคาดว่าจะปรับลดลงร้อยละ 18.29 ตามแนวโน้มคำสั่งซื้อที่คาดว่าจะปรับลดลงของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีน

อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง

ไตรมาส 3 ปี 2561 มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.64 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอก กระเป๋า และรองเท้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.59 17.14 และ 38.20 ตามลำดับ จากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว และเทรนด์แฟชั่นการแต่งกายที่ผู้คนทั่วไปหันมาใส่ใจในการออกกำลังกายมากขึ้น

การผลิต

การฟอกและตกแต่งหนังฟอก มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.09 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิต เพื่อการส่งออก และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับกระเป๋าเดินทาง* มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.90 จากความต่อเนื่องของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ

รองเท้า มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 6.56 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้า แบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าว จากต่างประเทศทดแทนการผลิตเพิ่มขึ้น

การส่งออก-นำเข้า

การส่งออก มีมูลค่ารวม 470.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.63 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและ หนังอัด และเครื่องใช้สำหรับเดินทางเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.58 และ 42.45 ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีเวียดนาม จีน สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

การนำเข้า มีมูลค่ารวม 508.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.64 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอก กระเป๋า และรองเท้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.59 17.14 และ 38.20 ตามลำดับ จากความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว

แนวโน้มอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 4 ปี 2561

การฟอกและตกแต่งหนังฟอกมีแนวโน้มผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการส่งออก ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทาง ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มรองเท้า มีแนวโน้มการผลิตลดลง เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

การผลิตและการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2561 มีทิศทางปรับตัวลดลง จากการปรับรูปแบบธุรกิจของผู้ประกอบการ และพฤติกรรมของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การส่งออก (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารายใหญ่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่การส่งออกภาพรวมหดตัวลดลง ตามราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการส่งออก เพื่อรอการจำหน่ายในช่วงที่ราคาทองคำปรับสูงขึ้น

การผลิต อัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2561 ในเชิงปริมาณ หดตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 3.08 (%QoQ) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเน้นระบายสินค้าในสต็อกทดแทนการผลิตสินค้าใหม่ ยกเว้นเครื่องประดับแท้ประเภทกำไล และสร้อย ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง ร้อยละ 16.09 (%YoY) เนื่องจากการปรับรูปแบบธุรกิจของผู้ประกอบการเป็น Mass Customization มากขึ้น และลดการสต๊อก สินค้าไว้เป็นจำนวนมาก

การจำหน่าย อัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2561 หดตัว ร้อยละ 8.08 (%QoQ) และร้อยละ 48.61 (%YoY) ในเชิงปริมาณ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ที่หันมานิยมสวมใส่สินค้าเครื่องประดับแบบน้อยชิ้น แต่มีดีไซน์และเรื่องราวที่น่าสนใจ (minimal)

การส่งออก อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ไตรมาส 3 ปี 2561 ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.94 (%QoQ) และร้อยละ 5.06 (%YoY) จากมูลค่าการส่งออกทั้งสินค้าวัตถุดิบอัญมณี และสินค้าสำเร็จรูปประเภทเครื่องประดับแท้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารายใหญ่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย จีน ญี่ปุ่น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงขึ้น และมีความต้องการสินค้าเครื่องประดับเพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณาในภาพรวม พบว่า มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ หดตัวลดลง ร้อยละ 7.14 (%QoQ) และร้อยละ 34.65 (%YoY) ตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการส่งออก เพื่อรอการจำหน่ายในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น

คาดการณ์แนวโน้ม ไตรมาส 4 ปี 2561

ไตรมาส 4 ปี 2561 คาดว่า การผลิตและการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) คาดว่า จะขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่แนวโน้มการส่งออกในภาพรวม คาดว่า จะขยายตัวเช่นกัน จากราคาทองคำในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้น

อุตสาหกรรมอาหาร

ปริมาณการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 จากการเติบโตที่ขยายตัว อย่างต่อเนื่องจากครึ่งแรกของปี เป็นผลจากวัตถุดิบผลิตผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ จีน และอินเดีย ที่ฟื้นตัว ช่วยหนุนการส่งออกและการท่องเที่ยว ผนวกกับภาคการลงทุนภาคเอกชนมีการฟื้นตัวชัดเจน แม้จะมีปัจจัยลบอย่างเศรษฐกิจยุโรป และญี่ปุ่น ที่มีการขยายตัวที่ชะลอตัว แต่การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชน และภาคการผลิตอุตสาหกรรม ยังมีแนวโน้มขยายตัวดี

การผลิตอาหาร ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีปริมาณ 6,070,207.5 ตัน ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 29.1 (%QoQ) เนื่องจากเป็นปลายฤดูกาลออกผลผลิตสินค้าสำคัญ เช่น การปิดหีบอ้อยของสินค้าน้ำตาล ปลายฤดูของสับปะรด ปลายฤดูมันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 (%YoY) สนองความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ ซาร์ดีนกระป๋อง ทูน่ากระป๋อง นมพร้อมดื่ม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบ เป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40-45 จากปีก่อน

การจำหน่ายอาหาร ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีปริมาณ 5,152,045.5 ตัน ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 3.9 (%QoQ) แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.4 (%YoY) จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ ไก่แปรรูป นมพร้อมดื่ม และน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจภาพรวมที่กำลังซื้อในประเทศแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคที่เริ่มดีขึ้น

การส่งออกไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 7,884.7 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 0.3 (%QoQ) จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวขาว กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าว และสิ่งปรุงรส และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 (%YoY) จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของสินค้าทั้งปริมาณและมูลค่า อาทิ ข้าวขาว ไก่แช่แข็งและแช่แย็น ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง น้ำตาลทรายดิบ ผลิตภัณฑ์ข้าว นมและผลิตภัณฑ์นม ทุเรียนสด และมะม่วงสด รวมทั้งสินค้าที่ปริมาณลดลงแต่มูลค่าเพิ่มขึ้นอย่าง แป้งมันสำปะหลัง จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ซึ่งช่วยหนุนความต้องการสินค้าไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิต

การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีมูลค่า 3,341.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ร้อยละ 0.5 (%QoQ) และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 (%YoY) จากการนำเข้าปลาทูนาสดแช่เย็นแช่แข็ง เมล็ดพืชน้ำมัน กากพืชน้ำมัน อาหาร ปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก และกาแฟ ชา เครื่องเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวของการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในประเทศและต่างประเทศ

แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561

การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 4 ปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.4 และ 7.8 ตามลำดับ จากปัจจัยบวกอย่างเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 3 รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ CLMV รวมทั้งการขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้น อาทิ อาเซียน แอฟริกา และตะวันออกกลาง แม้จะมีปัจจัยลบอย่างความเสี่ยงจากภายนอก ได้แก่ ความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า อีกทั้งเรื่องเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคาดว่ามูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น เนื้อไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง เช่นเดียวกับการบริโภคในประเทศคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร

นโยบาย Super Cluster "การจัดตั้งเมืองนวัตกรรมด้านอาหาร (Food Innopolis)" ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมการแปรรูปอาหารอย่างครบวงจร และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน (Special Economic Zone : SEZ) เพื่อเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก อาทิ โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรตามแนวชายแดนเพื่อรองรับวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมทั้งโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) ที่จะผลักดันให้ไทยเป็น "มหานครผลไม้โลก" โดยสร้างคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งการผลิตและการค้าผลไม้ พร้อมกับส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลไม้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มขยายตัว

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ