ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนตุลาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 21, 2018 15:08 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2561 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนกันยายนที่ดัชนีฯ หดตัว เป็นผลจากทั้งการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี โดยการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกขยายตัวร้อยละ 6.5 และ 8.7 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีแม้จะหดตัวในเดือนกันยายนซึ่งก็เป็นการปรับลดลงชั่วคราว แต่ก็กลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนตุลาคม กล่าวคือ ในเดือนกรกฎาคมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 4.9 เดือนสิงหาคมร้อยละ 0.8 และเดือนกันยายนร้อยละ -2.7 ส่งผลให้ MPI ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 10 เดือนแรกของปี 2560 ที่ MPI ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.8

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนกรกฎาคม เดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงตามปกติ กล่าวคือ ในเดือนกรกฎาคมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ -2.8 เดือนกรกฎาคมร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลในรอบปี ที่ MPI จะชะลอตัวลงในเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคมหลังจากการที่โรงงานส่วนใหญ่เร่งผลิตในเดือนพฤษภาคมเพื่อชดเชยการปิดทำการช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน อย่างไรก็ดีสำหรับเดือนกันยายน 2561 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ -2.8 ซึ่งตามฤดูกาลปกติ MPI จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน แต่ในเดือนกันยายนของปีนี้ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงชั่วคราวของการส่งออก

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนตุลาคม 2561 ขยายตัว คือ
  • รถยนต์และเครื่องยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการสินค้าโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล รถกระบะ และรถยนต์นั่งขนาดกลาง ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศเป็นหลักรวมถึงมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่
  • บุหรี่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 434.6 จากฐานต่ำในปีก่อนที่เริ่มต้นบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ส่งผลให้ราคาบุหรี่ในตลาดมีความผันผวนกระทบต่อคำสั่งซื้อ โรงงานจึงหยุดผลิตเป็นเวลา 2 สัปดาห์
  • น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 145.1 จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปกติทำให้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน จึงยังมีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาว
  • การกลั่นปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซินออกเทน91 เป็นหลักตามความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการคมนาคมและการขนส่งในประเทศที่เพิ่มขึ้น
  • เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ จากการทำกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจและเพิ่มยอดขายของผู้ผลิต และการส่งออกซึ่งยังคงเป็นคำสั่งซื้อจากตลาดญี่ปุ่น เป็นหลัก รวมถึงมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดแอฟริกา และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปี 2561 จะขยายตัวเป็นบวกเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.5 (ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 2.5) โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภค และการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นตามปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าบางประเทศที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐรวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่าง ๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าชะลอลงเล็กน้อย

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนตุลาคม 2561

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย
  • การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนตุลาคม 2561 มีมูลค่า 1,512.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวจากการนำเข้า เครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และส่วนประกอบ และเครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ เนื่องจากฐานการนำเข้าในปีก่อนค่อนข้างสูง

+ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนตุลาคม 2561 มีมูลค่า 7,882.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ รวมถึงเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ โดยการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการจำหน่ายภายในประเทศและการส่งออก

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

+ จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนตุลาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 382 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2561 ร้อยละ 7.9 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.2 (%YoY)

+ มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนตุลาคม 2561 มีมูลค่ารวม 32,729.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2561 ร้อยละ 112.0 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 60.7 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนตุลาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน (31 โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (28 โรงงาน)"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนตุลาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จำนวนเงินทุน 12,946 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมผลิตน้ำประปา จำนวนเงินทุน 1,980 ล้านบาท"
  • จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนตุลาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 113 ราย ลดลงจากเดือนกันยายน 2561 ร้อยละ 1.7 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.9 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนตุลาคม 2561 มีมูลค่ารวม 1,974.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2561 ร้อยละ 22.8 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 41.7 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนตุลาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน (11 โรงงาน) และอุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ (8 โรงงาน)

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนตุลาคม 2561 คือ อุตสาหกรรมผลิต ประกอบ ดัดแปลง หรือซ่อมแซมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ มูลค่าเงินลงทุน 524 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำภาชนะบรรจุ เช่น ถุงหรือกระสอบ มูลค่าเงินลงทุน 232 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนตุลาคม 2561

1.อุตสาหกรรมอาหาร

+ การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนตุลาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ น้ำตาลทราย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 145.7 (ตัน-%YoY) เพื่อรองรับการละลายน้ำตาลทรายดิบ เพื่อแปรสภาพเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยผลผลิตอ้อย ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40-45 จากปีก่อน ประกอบกับการผลิตทูน่ากระป๋อง และไก่ปรุงรส ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 และ 16.0 ตามลำดับ (%YoY) จากความต้องการของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และนมพร้อมดื่ม การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.2 และ 16.1 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

+ การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนตุลาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 (%YoY) เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น

+ ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เดือนตุลาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 (%YoY) โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสินค้า เช่น น้ำตาลทรายดิบ ข้าวขาว แป้งมันสำปะหลัง ซาร์ดีนกระป๋อง น้ำตาลทรายขาว ทุเรียนสด ข้าวหอมมะลิ ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 299.4 83.0 74.3 36.0 29.4 26.5 18.4 16.7 14.9 และ 11.9 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากความต้องการสินค้าของตลาดโลกที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าการผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนพฤศจิกายน 2561 มีแนวโน้ม ดีขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับคำสั่งซื้อล่วงหน้าจากต่างประเทศ ที่ปรับเพิ่มขึ้น และอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็น ค่อยไป อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง รวมทั้งสินค้าข้าว (ข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ) ที่ประเทศคู่ค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยบวกจากการเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต

+ ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.68 (%YoY) ในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสมบัติพิเศษต่าง ๆ เช่น เส้นใยคอลลาเจน เส้นใยอาระมิด

  • ผ้าผืน และ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 0.67 และ 2.15 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากมีผู้ประกอบการโรงงานทอผ้ายกเลิกการผลิตผ้าฝ้าย ซึ่งความต้องการของตลาดในประเทศและส่งออกลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิต ผ้าทอใยสังเคราะห์ยังคงขยายตัวรองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงในกลุ่มชุดชั้นในสตรี ซึ่งมีการนำเข้าจากจีนมาทดแทนการผลิตในประเทศ แต่ในกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายบุรุษยังขยายตัวได้ตามทิศทางการส่งออกในประเทศเพื่อนบ้าน
การจำหน่ายในประเทศ

+ กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และ ผ้าผืน ขยายตัว ร้อยละ 11.31 และ 10.93 ตามลำดับ (%YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออก

  • เสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 5.08 (%YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแสความนิยมสินค้าแบรนด์ต่างประเทศของผู้บริโภค
การส่งออก

+ กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.97 2.65 และ 24.29 ตามลำดับ (%YoY) โดยเส้นใยสิ่งทอขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 24 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 สำหรับสินค้าสำคัญ คือ เส้นใยสังเคราะห์ และผ้าผืนที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเส้นใยที่มีสมบัติพิเศษที่ไทยมีศักยภาพทั้งในการผลิตและการส่งออก โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา บังคลาเทศ และกัมพูชาส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัวจากการที่ไทยได้รับความไว้วางใจในการผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นรูปแบบการรับจ้างออกแบบและผลิตสินค้า

คาดการณ์แนวโน้มเดือนพฤศจิกายน 2561

แนวโน้มการผลิตเส้นใยสิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวตามทิศทางการส่งออก โดยเป็นกลุ่ม เส้นใยสังเคราะห์ที่เป็นเส้นใยคุณสมบัติพิเศษ (Technical textile) และเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยคุณสมบัติพิเศษ อย่างไรก็ตาม กลุ่มผ้าผืน อาจมีการผลิตและส่งออกชะลอตัวในกลุ่มผ้าฝ้าย ซึ่งไทยไม่มีแหล่งวัตถุดิบในประเทศ ประกอบกับความต้องการผ้าฝ้ายของตลาดในประเทศลดลง

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มีจำนวน 197,203 คัน ซึ่งเป็นการผลิตรถยนต์สูงที่สุดในรอบ 63 เดือน โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2561 ร้อยละ 7.65 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 20.62 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์ เพื่อการพาณิชย์

+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มีจำนวน 86,931 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2561 ร้อยละ 2.00 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 26.81 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV เนื่องจากการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนมีการขยายตัว รวมทั้งผลผลิตสินค้าทางการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น

+ การส่งออกรถยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มีจำนวน 93,338 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2561 ร้อยละ 10.39 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.75 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย อเมริกาเหนือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 จะชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 เนื่องจากรอการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในงานมหกรรมยานยนต์"

+ การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มีจำนวน 167,314 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2561 ร้อยละ 1.06 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.91 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์

+ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 139,290 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2561 ร้อยละ 0.86 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.74 (%YoY)จากการปรับเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี, 126-250 ซีซี และ 251-399 ซีซี

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มีจำนวน 27,590 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2561 ร้อยละ 4.50 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.54 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเมียนมา

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 "

4. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม

+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มีจำนวน 6.88 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนกันยายน ปี 2561 ร้อยละ 1.04 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.68 (%YoY) เพื่อรองรับการขยายตัวตามการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคภาครัฐที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มีปริมาณการจำหน่าย 2.85 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2561 ร้อยละ 1.50 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.92 (%YoY) เนื่องจากขยายตัวตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคภาครัฐ และการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชน

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มีจำนวน 1.70 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2561 ร้อยละ 79.21 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 71.98 (%YoY) เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากจากตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ บังคลาเทศ (ในส่วนของปูนเม็ด) โดยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 351.61 รองลงมา ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 107.07 และ 35.95 ตามลำดับ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์รวมในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 คาดว่าจะหดตัวลงกว่าเดือนนี้เล็กน้อย

+ การผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มีจำนวน 3.19 ล้านตัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2561 ร้อยละ 4.61 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.99 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ภายในประเทศ ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 2.85 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2561 ร้อยละ 2.23 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.04 (%YoY) โดยขยายตัวตามความคืบหน้าของการก่อสร้างสาธารณูปโภคภาครัฐและการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชน

+ การส่งออกซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มีจำนวน 0.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2561 ร้อยละ 7.76 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 24.54 (%YoY) เป็นผลจากตลาดส่งออกหลักมีการปรับลดคำสั่งซื้อลง ได้แก่ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ ลาว ลดลงร้อยละ 78.28 38.03 และ 15.94 ตามลำดับ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิต ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 คาดว่าจะหดตัวลงกว่าเดือนนี้เล็กน้อย

5. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

+ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 101.9 สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน พัดลมตามบ้าน เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เตาไมโครเวฟ และคอมเพรสเซอร์ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2 , 29.5 , 21.6 , 20.12 , 17.7 , 12.5 และ 5.2 ตามลำดับ โดยสินค้ากระติกน้ำร้อน เตาไมโครเวฟ และเครื่องปรับอากาศมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยสินค้าเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น และอินโดนีเซียร้อยละ 35.1 และ 22.4 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนพัดลมตามบ้าน คอมเพรสเซอร์ และกระติกน้ำร้อนมีการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้ามีการปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องซักผ้า มอเตอร์ไฟฟ้า สายไฟฟ้า และตู้เย็น โดยลดลงร้อยละ 23.4 , 14.5 , 8.3 และ 4.1 ตามลำดับ โดยมอเตอร์ไฟฟ้าและสายไฟฟ้ามีการผลิตลดลงเนื่องจากมีการนำสินค้าคงคลังออกมาจำหน่าย ส่วนสินค้าตู้เย็นและเครื่องซักผ้ามีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง

+ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,969.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน โดยสินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 336.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้ามีมูลค่าส่งออก 174.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 ในขณะที่ตู้เย็นมีมูลค่าส่งออก 119.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.8 เครื่องซักผ้ามีมูลค่า 89.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 42.9 โดยลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 98.7 เนื่องจากมาตรการ Safeguard สินค้าเครื่องซักผ้าที่สหรัฐอเมริกามีต่อไทย

"คาดการณ์การผลิตเดือนพฤศจิกายน 2561 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มเล็กน้อยร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น ในขณะที่เครื่องซักผ้ามีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา"
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
  • การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงโดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 100.3 ลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ Other IC และ HDD ลดลงร้อยละ 15.1 และ 4.9 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง และผู้ประกอบการบางรายมีการนำสินค้าคงคลังออกมาจำหน่าย ทำให้มีการผลิตลดลง โดย HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage ในขณะที่ Printer, PCBA, Semiconductor devices transistor (อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์) และ Monolithic IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1, 16.0 8.6 และ 5.6 ตามลำดับ โดยเติบโตตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก โดยเฉพาะ IC ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet และในตลาดมีการพัฒนา Semiconductor มากขึ้น เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์สมาร์ทต่าง ๆ

+ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,188.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป โดยเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์มีมูลค่าการส่งออก 287.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40.1 โดยเพิ่มในตลาดญี่ปุ่นถึงร้อยละ 69.1 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีการผลิตเพื่อส่งออกสินค้ากลับไปที่บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่สินค้าวงจรรวมมีมูลค่าส่งออก 630.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.1 โดยลดลงในตลาดจีนถึงร้อยละ 38.6 สินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,186 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.5 โดย HDD มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 19.5 ลดลงในตลาดสหรัฐอเมริการ้อยละ 26.7 และจีนร้อยละ 12.8 เนื่องจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของไทย

"คาดการณ์การผลิตเดือนพฤศจิกายน 2561 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง"
6. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

+ ดัชนีการผลิต ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มีค่า 115.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็ก ทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นทั้ง 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 113.9 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.9 จากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ร้อยละ 14.6 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีประเภทที่เพิ่มขึ้น คือเหล็กกัลวานิล (GA) ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และ 1.9 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 116.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดเย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 รองลงมา ได้แก่ ลวดเหล็ก ลวดเหล็กแรงดึงสูง และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 11.3 และ 10.0 ตามลำดับ การผลิตเหล็กในเดือนตุลาคมที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการขยายตัวของการก่อสร้างที่ขยายตัวตามแรงสนับสนุนของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

+ การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มีปริมาณ 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก พบว่า ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการบริโภค 1.0 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 โดยเหล็กแผ่นบางรีดร้อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นบางรีดเย็น ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 และ 17.1 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการบริโภค 0.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากการเพิ่มขึ้นของเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.4 ตามการขยายตัวของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

+ การนำเข้า ในเดือนตุลาคม ปี 2561 มีปริมาณ 1.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีปริมาณนำเข้า 0.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.8 จากประเทศ จีน เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Alloy Steel และ เหล็กแผ่นบางรีดเย็น ประเภท Alloy Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.1 และ 42.6 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณนำเข้า 0.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 จากการนำเข้าท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.8 รองลงมา ได้แก่ ลวดเหล็ก และเหล็กลวด ประเภท Carbon Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.5 และ 19.1 ตามลำดับ

"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนพฤศจิกายน 2561 คาดการณ์ว่า การผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าติดตามเกี่ยวกับราคาสินค้าเหล็ก ที่ปรับลดลงทั้งในจีนและเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าเหล็กมากขึ้น และส่งผล ต่อปริมาณการผลิตสินค้าเหล็กภายในประเทศ"

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ