ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนกุมภาพันธ์ 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 29, 2019 15:55 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออก (ไม่รวมอาวุธ) หดตัวร้อยละ 3.4

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวลง กล่าวคือ ในเดือนพฤศจิกายนมีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และเดือนมกราคม 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนพฤศจิกายน เดือนธันวาคม 2561 และเดือนมกราคม 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เดือนธันวาคมลดลงร้อยละ 1.9 และเดือนมกราคม 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลปกติที่จะมีการเร่งการผลิตในเดือนตุลาคม เดือนพฤศจิกายนเพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลปีใหม่

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัว คือ
  • รถยนต์และเครื่องยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.14 จากรถกระบะ 1 ตัน และรถยนต์นั่งขนาดกลาง เป็นหลัก จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์อย่างต่อเนื่อง
  • น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.91 จากน้ำตาลทรายดิบ และกากน้ำตาล เนื่องจากมีโรงงานน้ำตาลที่ขยายกำลังการผลิตและโรงงานน้ำตาลที่สร้างใหม่ทำให้กำลังการหีบอ้อยเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2562 หดตัว คือ
  • เหล็กและเหล็กกล้า หดตัวร้อยละ 14.43 จากการหยุดผลิตเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่ชำรุดของผู้ผลิต บางราย
  • Hard Disk Drive (HDD) หดตัวร้อยละ 12.11 จากความนิยมของ SSD (Solid State Drive) โดยเฉพาะในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และการแทนที่ด้วยการจัดเก็บข้อมูลแบบคลาวด์ผ่านอินเตอร์เน็ต รวมถึงการผลิต HDD ที่มีความจุสูงเพิ่มขึ้นส่งผลให้ผลิต HDD ได้จำนวนลดลง
  • ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางล้อ หดตัวร้อยละ 7.25 จากยางแผ่นเป็นหลัก เนื่องจากสวนยางพาราบางพื้นที่ในภาคใต้ได้รับความเสียหายจากพายุปาบึกในช่วงต้นปี ประกอบกับปีนี้ประสบปัญหาอากาศร้อนและแล้งจัด ทำให้มีน้ำยางออกสู่ตลาดน้อยลง

ในปี 2562 คาดการณ์ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม จะขยายตัวเป็นบวกอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากการลงทุนในโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน (public private partnership: PPP) และการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของภาครัฐทั้งรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้า รวมถึงการดำเนินงานภายใต้แผนงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างไรก็ตาม แรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศหรือการส่งออก อาจจะชะลอลงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัวจากจากปัจจัยเฉพาะของบางประเทศ อาทิ ความยืดเยื้อของปัญหา ทางการเมืองในยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น รวมทั้งความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีน

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนกุมภาพันธ์ 2562

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย

+ การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีมูลค่า 1,403.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวจากการนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และส่วนประกอบ เครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะ และส่วนประกอบ เครื่องจักรในอุตสาหกรรมการพิมพ์ และฐานหุ่น แบบหล่อ เป็นต้น

  • การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีมูลค่า 6,357.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าที่มีการนำเข้าหดตัว เช่น เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสินค้าบางรายการที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่นกระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ และยาง รวมทั้งเศษยาง เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม
  • จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 250 โรงงาน ลดลงจากเดือนมกราคม 2562 ร้อยละ 12.9 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.1 (%YoY)

+ มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีมูลค่ารวม 15,056 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม 2562 ร้อยละ 49.1 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.2 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน (18 โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรม แปรรูปไม้ยางพาราและไม้อื่น ๆ (15 โรงงาน)"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คือ อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จำนวนเงินทุน 5,447 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมปั๊มโลหะ หล่อโลหะ จำนวนเงินทุน 873 ล้านบาท"
  • จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 180 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2562 ร้อยละ 32.4 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 87.5 (%YoY)
  • เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีมูลค่ารวม 18,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2562 ร้อยละ 540 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1,958.5 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คือ อุตสาหกรรมการสี ฝัด หรือขัดข้าว (37 โรงงาน) รองลงมาคืออุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม (14 โรงงาน)

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คือ อุตสาหกรรม การสร้าง ประกอบ ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงสภาพรถยนต์หรือ รถพ่วง มูลค่าเงินลงทุน 6,136 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำชิ้นส่วนพิเศษ หรืออุปกรณ์สำหรับรถยนต์ หรือรถพ่วง มูลค่าเงินลงทุน 5,544 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนกุมภาพันธ์ 2562

1. อุตสาหกรรมอาหาร
  • การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ สับปะรดกระป๋อง ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 9.6 (%YoY) เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาของตลาดโลกสูง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทำให้ประเทศ ผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ในปีก่อนฐานค่อนข้างสูงด้วยผลผลิต ที่ล้นตลาด ทำให้ในปีนี้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกลง ผลผลิตจึงลดลงตามไปด้วย ประกอบผู้ประกอบการเร่งระบายสินค้าในสต็อก

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง ดัชนีการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 5.4 (%YoY) เนื่องจากผู้ประกอบการเคลียร์สต็อกสินค้าที่ผลิตไว้ในช่วงปลายปี จึงทำให้ดัชนีการผลิตปรับตัวลดลง แม้ความต้องการบริโภคในประเทศและต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

+ การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.9 (%YoY) เนื่องจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากความกังวลที่ลดลงของครัวเรือนต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินเป็นสำคัญ

  • ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ร้อยละ 0.5 (%YoY) ในสินค้าสำคัญ เช่น มันเส้น ข้าวขาว กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง และข้าวหอมมะลิ โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 39.9 36.2 19.9 19.5 และ 1.8 ตามลำดับ (%YoY) เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มโตเต็มศักยภาพและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เริ่มชะลอลง และยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า รวมทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาบางส่วน ทำให้ประเทศคู่ค้าอย่างยุโรป แอฟริกา และเอเชียใต้ ชะลอคำสั่งซื้อ แม้สินค้าสำคัญ อาทิ แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋อง สิ่งปรุงรส ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าของตลาดโลก

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าดัชนีการผลิตและมูลค่าการส่งออก ในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนมีนาคม 2562 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนน่าจะเพิ่มขึ้น และประเทศคู่ค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยบวกจาก EU ปลดล็อคใบเหลือง IUU Fishing หนุนภาพลักษณ์ประมงไทย และ EU ถอดถอนรายชื่อ 20 โรงงานของบราซิลที่ส่งออกไก่เนื้อ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดการควบคุมเชื้อ Salmonella รวมถึงจีนได้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดในการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ของบราซิลด้วย

2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า
  • การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 97.2 สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ พัดลม ตามบ้าน ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว มอเตอร์ไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า และสายไฟฟ้า โดยลดลงร้อยละ 2.4, 3.3, 9.8, 12.9, 1.5, 7.0, 14.4, 7.0, 32.4, 12.6, 42.1 และ 40.7 ตามลำดับ โดยเครื่องปรับอากาศมีการผลิตลดลงจากการส่งออกไปเวียดนามและออสเตรเลียที่ลดลง ส่วนหม้อหุงข้าว คอมเพรสเซอร์ พัดลมตามบ้าน ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน มอเตอร์ไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า และสายไฟฟ้ามีการผลิตลดลงเนื่องจากการจำหน่ายในประเทศลดลง ส่วนเครื่องซักผ้ามีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากตลาดต่างประเทศและมีการนำสินค้าคงคลังมาจำหน่าย อย่างไรก็ตามสินค้าปรับตัวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สายเคเบิ้ล เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เนื่องจากมีการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น

+ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 2,073.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดยสินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 516.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 โดยลดลงในตลาดเวียดนามร้อยละ 21.3 ในขณะที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดอินเดีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นร้อยละ 6.0, 52.8 และ 23.1 ตู้เย็น ตู้แช่และส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 127.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้ามีมูลค่าส่งออก 152.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ในขณะที่เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้ง และส่วนประกอบมีมูลค่า 136.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.0

"คาดการณ์การผลิตเดือนมีนาคม 2562 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อจากอาเซียนลดลง"
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
  • การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลง 5.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 90.1 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor devices transistor, HDD, PWB และ Printer โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 9.1, 12.7, 13.6 และ 4.0 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากประเทศฮ่องกงและจีนที่ลดลง ในขณะที่ PCBA และ IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 และ 1.8 โดยเติบโตตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก
  • การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,628.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน โดยสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,335.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.1 HDD มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 16.6 ลดลงในตลาดจีน ฮ่องกง และสหรัฐอเมริการ้อยละ 18.8, 20.1 และ 7.1 เนื่องจาก supply ของ SSD ส่วนเกินทำให้ราคาลดลงและแย่งตลาด HDD มากขึ้น ส่วนแผงวงจรไฟฟ้า (IC) มีมูลค่าส่งออก 562.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.3 โดยลดลงในตลาดฮ่องกง จีนและสหรัฐอเมริการ้อยละ 7.7, 32.5 และ 17.4 ตามลำดับ เนื่องจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของไทย
"คาดการณ์การผลิตเดือนมีนาคม 2562 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ชะลอตัว โดย HDD ชะลอตัวลดลงเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี SSD ที่เข้ามาแทนที่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลประกอบกับราคาที่ลดลง อย่างไรก็ตามมีปัจจัยบวกจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งมีสัญญาณผ่อนคลายลง"

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีจำนวน 183,071 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2562 ร้อยละ 1.94 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.71 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีจำนวน 82,324 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2562 ร้อยละ 5.46 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.09 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV เนื่องจากความต้องการของตลาดในประเทศที่ยังมีการขยายตัว

+ การส่งออกรถยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีจำนวน 100,550 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2562 ร้อยละ 23.25 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.63 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในเดือนมีนาคม ปี 2562 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ปี 2561 เนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ"
อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์
  • การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีจำนวน 161,702 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม ปี 2562 ร้อยละ 3.00 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.59 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์ และแบบสปอร์ต
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มียอดจำหน่ายจำนวน 145,355 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม ปี 2562 ร้อยละ 2.39 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.05 (%YoY)จากการปรับลดลงของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาดน้อยกว่า 50 ซีซี, 111-125 ซีซี และมากกว่าหรือเท่ากับ 400 ซีซี

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีจำนวน 40,538 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2562 ร้อยละ 43.69 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.94 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม ปี 2562 จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ปี 2561"

4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา

การผลิต
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 5.00 ตามปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาดลดลง เนื่องจากเข้าสู่ฤดูปิดกรีด และคำสั่งซื้อจากจีนที่ปรับลดลง
  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 0.84 จากการชะลอตัวต่อเนื่องของตลาด Replacement

+ ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.79 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดต่างประเทศ

การจำหน่ายในประเทศ

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.57 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในส่วนของยางแท่งร้อยละ 44.03 ตามความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น

  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 2.94 ตามการหดตัวของตลาด Replacement
  • ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 5.45 เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ของไทยบางรายปรับแผนการตลาดไปส่งออกมากขึ้น
การส่งออก
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 15.80 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยสั่งซื้อยางจากไทยลดลงร้อยละ 25.97 เนื่องจากมีปริมาณยางในสต็อกค่อนข้างสูง

+ ยางรถยนต์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.20 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งขยายตัวร้อยละ 24.01

+ ถุงมือยาง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.91 จากการขยายตัวที่ดีของตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และ เบลเยี่ยม

คาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2562

การผลิตและจำหน่ายยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะปรับลดลงตามปริมาณ การเข้าสู่ตลาดของยางที่ลดลงเนื่องจากเข้าสู่ฤดูปิดกรีด สำหรับการผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศคาดว่าจะทรงตัวหรือปรับลดลงเล็กน้อยตามการชะลอตัวของตลาด Replacement ในส่วนของการผลิตและจำหน่ายถุงมือยางในประเทศคาดว่าจะขยายตัวได้ตามแนวโน้มความต้องการใช้ทั้งทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะมีมูลค่าลดลงเนื่องจากจีนมีแนวโน้มชะลอการสั่งซื้อยางจากไทยลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ในขณะที่การส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยางคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

5. อุตสาหกรรมพลาสติก

การผลิตและการจำหน่าย
  • ดัชนีผลผลิต เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 5.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ยกเว้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก โดยดัชนีผลผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่นลดลงมากที่สุด คือ ร้อยละ 21.11 เนื่องจากการปรับลดปริมาณการผลิตตามคำสั่งซื้อให้เหมาะสม
  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ลดลง ร้อยละ 4.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีค่าลดลงทุกผลิตภัณฑ์ โดยค่าดัชนีส่งสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่นลดลงมากที่สุด คือ ร้อยละ 20.99 การตลาด
  • การส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีมูลค่า 327.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีการส่งออกลดลงหลัก ๆ คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (3916) และกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) มีมูลค่าลดลงร้อยละ 45.77 และ 10.79 ตามลำดับ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก มีมูลค่าการส่งออกลดลงกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากมีการส่งออกไปประเทศหลัก ๆ อย่าง จีน สหรัฐอเมริกา และในกลุ่ม ASEAN เช่น กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ ลดลง
  • การนำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีมูลค่า 333.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 12.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีการนำเข้าลดลงหลัก ๆ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์หลอดหรือท่อ (3917) กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (3916) กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประกอบอาคาร (3925) และกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.17 17.53 15.68 และ 13.28 ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก เดือนมีนาคม 2562 คาดการณ์ว่าการผลิตและการตลาดจะดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งภายในประเทศและตลาดคู่ค้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ต้องติดตามราคาน้ำมันและค่าเงินบาทซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิต

6. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
  • ดัชนีผลผลิต ของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 มีค่า 92.55 ลดลงร้อยละ 6.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตที่ลดลง ได้แก่ กลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐานลดลงร้อยละ 4.45 และกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลายลดลงร้อยละ 5.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลง

+ การจำหน่าย เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีค่าดัชนีการส่งสินค้า 93.08 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน ซึ่งดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.68 และกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ซึ่งดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.06 ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ปุ๋ย ทั้งนี้เพราะฐานดัชนีค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

+ การส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 มีมูลค่ารวมประมาณ 688 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีมูลค่าการส่งออก 358 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องสำอาง (48.65%) สารลดแรงตึงผิว (4.13%) และ สี (3.83%) ซึ่งตลาดหลักในการส่งออกเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ได้แก่ ญี่ปุ่น และ กลุ่มประเทศอาเซียน

  • การนำเข้า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีมูลค่ารวม 1,192 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เคมีภัณฑ์พื้นฐานมีมูลค่ารวม 716 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์ที่มีผลให้มูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด ตามลำดับ ส่วนเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่ารวม 476 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ขั้นปลายที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปุ๋ย โดยตลาดหลักที่นำเข้าเคมีภัณฑ์ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย (14.76%) รัสเซีย (12.57%) และจีน (11.83%)

คาดการณ์แนวโน้มในเดือนมีนาคม ปี 2562 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก และราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อาจส่งผลกำลังซื้อเคมีภัณฑ์ภายในประเทศ

7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

+ ดัชนีผลผลิต ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีค่า 101.55 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ Polyethylene resin (PE) และ Polypropylene resin (PP)

การผลิตปิโตรเคมีขั้นต้นที่สำคัญ ได้แก่ เอทีลีน (Ethylene) และโพรพิลีน (Propylene) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตมีค่า 103.45 และ 105.82 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.87 และ 5.06 ตามลำดับ

การผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายที่สำคัญ ได้แก่ PE ดัชนีผลผลิตมีค่า 102.03 เพิ่มขี้นร้อยละ 7.34 และ PP มีค่า 101.38 ลดลงร้อยละ 0.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

+ การจำหน่าย ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีค่าดัชนีการส่งสินค้า 110.29 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีเพิ่มขึ้นในประเภทผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก PS PE และ PP ร้อยละ 33.93 23.26 และ 9.44 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ราคาเอทิลีนและโพรพิลีนในตลาดเอเชียเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 31.71 และ 26.27 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าราคาเอทิลีนและโพรพิลีนปรับตัวลดลงจากราคา 37.78 และ 32.11 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

ราคาเม็ดพลาสติก PE และ PP ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติก (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ของ LDPE, LLDPE, HDPE และ PP ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 32.56, 32.40, 34.06 และ 35.88 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าราคาเฉลี่ยของ PE ได้แก่ LDPE, LLDPE, HDPE และ PP ปรับตัวลดลงจากระดับราคา 40.67, 40.03, 44.33 และ 40.50 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

  • การส่งออก ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีปริมาณ 637,095 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 4.41 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน เกิดจากการส่งออกที่ลดลง ของปิโตรเคมีขั้นกลาง อาทิ Styrene, Phthalic anhydride, Acrylonitrile รวมถึงเม็ดพลาสติก PC และ PVC โดยในภาพรวมมีการส่งออกที่ลดลงในหลายประเทศ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

คาดการณ์แนวโน้มในเดือนมีนาคม ปี 2562 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากแนวโน้มทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

8. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • ดัชนีผลผลิต ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีค่า 92.2 ลดลงร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561-กุมภาพันธ์ 2562 และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับลดลงทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 92.4 ลดลงร้อยละ 4.7 จากการผลิตเหล็กลวด ลดลงร้อยละ 11.4 รองลงมา คือ เหล็กเส้นกลม และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน ลดลงร้อยละ 27.3 และ 7.3 ตามลำดับ จากความต้องการบริโภคในประเทศที่ลดลงจากการก่อสร้างภาคเอกชน ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 87.7 ลดลง ร้อยละ 25.7 จากการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลงร้อยละ 45.2 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยลดลง 11 เดือน ติดต่อกันตั้งแต่เดือนเมษายน 2561-กุมภาพันธ์ 2562 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงร้อยละ 44.7 เนื่องจาก มีโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนบางโรงงานหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อซ่อมแซมเครื่องจักรส่งผลให้ยอดการผลิตลดลง และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงร้อยละ 10.0
  • การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 1.3 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการจำหน่าย 0.4 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 11.5 จากการบริโภคที่ลดลงของเหล็กลวด เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณขึ้นรูปร้อน โดยลดลงร้อยละ 14.4 และ 7.7 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 0.9 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7.6 จากการบริโภคเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่น ๆ และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลงร้อยละ 19.6 และ 16.1 ตามลำดับ

+ การนำเข้า ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีปริมาณนำเข้า 0.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณนำเข้า 0.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ประเภท Carbon Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 996.9 (ประเทศหลักที่นำเข้า คือ ลักเซมเบิร์ก ญี่ปุ่น และจีน) รองลงมา คือ เหล็กเส้น ประเภท Alloy Steel และท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.0 และ 28.8 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีปริมาณนำเข้า 0.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 82.2 (ประเทศหลักที่นำเข้า คือ จีน และเกาหลีใต้) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน ประเภท Stainless Steel และเหล็กแผ่นบาง รีดเย็น ประเภท Carbon Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.9 และ 62.0 ตามลำดับ

"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมีนาคม 2562 คาดการณ์ว่า การผลิตชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ และมีประเด็นที่น่าติดตามเกี่ยวกับนโยบายปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากภาคการผลิตของจีน โดยปรับลดจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 13 คาดว่าการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทผู้ผลิตเหล็กและเหล็กกล้าของจีน รวมถึงจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน และส่งผลให้สินค้าเหล็กฯ จากจีนมีราคาถูกลง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ"

9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต
  • ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน ลดลง ร้อยละ 0.45 และ 3.83 (%YoY) เนื่องจากคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ จีน และเวียดนาม เพื่อนำไปใช้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีแนวโน้มลดลง

+ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.47 (%YoY) จากการผลิตเสื้อผ้าบุรุษและสตรีเพื่อส่งออกให้แบรนด์ต่างประเทศ

การจำหน่ายในประเทศ
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 3.35 3.18 และ 3.51 (%YoY) ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวทำให้ทิศทางการจำหน่ายวัตถุดิบในประเทศลดลงเช่นกัน ประกอบกับมีการนำเข้าเสื้อผ้าจากต่างประเทศทั้งเสื้อผ้าแบรนด์ดัง และกลุ่มเสื้อผ้าราคาถูกเข้ามาทดแทนในประเทศ
การส่งออก
  • กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 7.55 และ 8.41 ตามลำดับ (%YoY) โดยตลาดส่งออกเส้นใย สิ่งทอ และผ้าผืนสำคัญที่หดตัว ได้แก่ จีน และเวียดนาม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่งผลให้คำสั่งซื้อวัตถุดิบของไทยไปยังจีนและผู้ประกอบการรายใหญ่ของจีนในเวียดนาม เพื่อนำไปผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในจีนและเวียดนามชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เส้นใยอะคริลิค ซึ่งเป็นเส้นใยสมบัติพิเศษยังสามารถขยายตัวได้ในตลาดสหรัฐอเมริกา

+ เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.29 จากการที่ไทยได้รับความไว้วางใจในการผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นรูปแบบการรับจ้างออกแบบและผลิต (ODM)

คาดการณ์แนวโน้มเดือนมีนาคม 2562

ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน จะชะลอตัวตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้การค้า การลงทุนในตลาดดังกล่าวชะลอตัว มีผลต่อผู้ผลิตซึ่งจะทำให้มีความต้องการวัตถุดิบจากไทยลดลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มที่ยกระดับไปรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างประเทศ

10. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม
  • การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีจำนวน 6.36 ล้านตัน ลดลงจากเดือนมกราคม ปี 256 ร้อยละ 4.69 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.70 (%YoY)
  • การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 2.91 ล้านตัน ลดลงจากเดือนมกราคม ปี 2562 ร้อยละ 1.64 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 2.33 (%YoY)

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีจำนวน 1.12 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2562 ร้อยละ 7.74 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณลดลง ร้อยละ 6.50 (%YoY) เนื่องจากตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา ปรับลดคำสั่งซื้อ โดยลดลง ร้อยละ 47.71 13.82 และ 6.46 ตามลำดับ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมในเดือนมีนาคม ปี 2562 จะสามารถขยายตัวได้เล็กน้อย

อุตสาหกรรมซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)

+ การผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีจำนวน 3.38 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2562 ร้อยละ 6.74 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.30 (%YoY)

  • การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ภายในประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มียอดจำหน่ายจำนวน 2.91 ล้านตัน ลดลงจากเดือนมกราคม ปี 2562 ร้อยละ 1.64 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 1.26 (%YoY)
  • การส่งออกซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีจำนวน 0.41 ล้านตัน ลดลงจากเดือนมกราคม ปี 2562 ร้อยละ 10.02 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 23.04 (%YoY) เป็นผลจากการปรับลดคำสั่งซื้อลงจาก สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ และ เมียนมา ร้อยละ 47.84 38.23 และ 13.81 ตามลำดับ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิต ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมีนาคม ปี 2562 คาดว่าจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ