ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 24, 2019 14:59 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2562 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่หดตัวร้อยละ 5.8

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวลง กล่าวคือ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีการผลิตลดลงร้อยละ 1.3 เดือนมีนาคม ลดลงร้อยละ 2.7 และเดือนเมษายน ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1.5

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเดือนเมษายน 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงร้อยละ 2.6 เดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.5 และเดือนเมษายนลดลงร้อยละ 17.4 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลปกติที่ในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนเมษายน การผลิตจะชะลอตัวลงเนื่องจากมีวันทำงานน้อย

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ

  • ปุ๋ยเคมี ลดลงร้อยละ 39.92 จากปัญหาภัยแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงขอให้ชาวนางดปลูกข้าวนาปรัง และสินค้าเกษตรมีราคาตกต่ำเกษตรกรจึงมีกำลังซื้อลดลง รวมถึงตลาดส่งออกลดลงจากลูกค้า CLMV เนื่องจากคู่แข่งการค้าอย่างจีนมีสินค้าราคาถูกกว่าทำให้เสียส่วนแบ่งการตลาดนี้ไป
  • รถยนต์ และเครื่องยนต์ ลดลงร้อยละ 3.72 จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนส่งผลให้ตลาดส่งออกได้รับผลกระทบ
  • ผลิตภัณฑ์ยางที่มิใช่ยางล้อ ลดลงร้อยละ 15.84 จากสินค้ายางแผ่นและยางแท่ง เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและร้อนจัดทำให้น้ำยางออกสู่ตลาดน้อย

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

  • เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.77 จากการจำหน่ายตลาดภายในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดและการเร่งทำตลาดของผู้ผลิตโดยเฉพาะชนิดอินเวอร์เตอร์ รวมถึงตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากการส่งออกไปเวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และคำสั่งซื้อของลูกค้าใหม่จากอินเดีย
  • น้ำมันปาล์ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.91 จากน้ำมันปาล์มดิบเป็นหลัก ตามการลงนามสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจำนวน 100,000 ตัน โดยราคาเสนอขายจะต้องไม่เกินราคากลางที่กรมการค้าภายในกำหนดไว้ที่ 16.50 บาทต่อกิโลกรัม

ในปี 2562 คาดการณ์ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม จะขยายตัวเป็นบวกอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากการลงทุนในโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน (public private partnership: PPP) และการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของภาครัฐทั้งรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้า รวมถึงการดำเนินงานภายใต้แผนงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างไรก็ตาม แรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศหรือการส่งออก อาจจะชะลอลงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัวจากปัจจัยเฉพาะของบางประเทศ อาทิ ความยืดเยื้อของปัญหา ทางการเมืองในยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น รวมทั้งความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีน

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ เดือนพฤษภาคม 2562

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย
  • การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนพฤษภาคม 2562 มีมูลค่า 1,544.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวจากการนำเข้าเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ เครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การนำเข้าเครื่องสูบลม เครื่องสูบของเหลว เครื่องจักรในอุตสาหกรรมการพิมพ์ เครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะและส่วนประกอบยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น
  • การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนพฤษภาคม 2562 มีมูลค่า 7,561.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าที่มีการนำเข้าหดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เม็ดพลาสติก อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่สินค้าบางรายการ เช่น เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ผ้าผืน มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

+ จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 302 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2562 ร้อยละ 22.3 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.9 (%YoY)

  • มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม 2562 มีมูลค่ารวม 9,690 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเมษายน 2562 ร้อยละ 21.0 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 48.5 (%YoY)
"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนพฤษภาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (22 โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน (19 โรงงาน)"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการทำอาหารหรือเครื่องดื่มจากผักหรือผลไม้และบรรจุในภาชนะ จำนวนเงินทุน 927 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ จำนวนเงินทุน 768 ล้านบาท"

+ จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนพฤษภาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 154 ราย ลดลงจากเดือนเมษายน 2562 ร้อยละ 27.7 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.5 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนพฤษภาคม 2562 มีมูลค่ารวม 2,838 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเมษายน 2562 ร้อยละ 83.7 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 59.9 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนพฤษภาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน (19 โรงงาน) รองลงมาคืออุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (12 โรงงาน)

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนพฤษภาคม 2562 คือ อุตสาหกรรม การกลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียน หรือเชื่อมโลหะทั่วไป มูลค่าเงินลงทุน 903 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำกระดาษ กระดาษแข็ง มูลค่าเงินลงทุน 235 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนพฤษภาคม 2562

1.อุตสาหกรรมอาหาร
  • การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนพฤษภาคม 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.8 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ (1) กลุ่มน้ำตาล อาทิ น้ำตาลทรายดิบ ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 92.4 (%YoY) เนื่องจากการเร่งปิดหีบเร็วกว่าปีก่อน และน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 8.3 (%YoY) เนื่องจากการนำเข้าชะลอตัวในประเทศเมียนมาและเกาหลีใต้ (2) สับปะรดกระป๋อง ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 57.5 (%YoY) เนื่องจากวัตถุดิบลดลงจากภัยแล้ง และฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน ด้วยผลผลิตที่ล้นตลาด ทำให้ในปีนี้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกลง ประกอบกับตลาดต่างประเทศยังคงหดตัวต่อเนื่อง (3) ทูน่ากระป๋องดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 3.5 (%YoY) เนื่องจากผู้นำเข้าชะลำคำสั่งซื้อเพื่อรอดูระดับราคาที่ปรับตัวลงตามราคาวัตถุดิบ และ (4) แป้งมันสำปะหลัง ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 9.6 (%YoY) จากตลาดอินโดนีเซีย และมาเลเซีย

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ ดัชนีการผลิต ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.8 (%YoY) เนื่องจากการการบริโภคในประเทศชะลอตัว

  • การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนพฤษภาคม 2562 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.7 (%YoY) จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลง
  • ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เดือนพฤษภาคม 2562 กลับมาเป็นลบร้อยละ 2.8 (%YoY) หลังจากเป็นบวก 2 เดือน ในสินค้าสำคัญ เช่น น้ำตาลทรายขาว ข้าว สับปะรดกระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง และทุเรียน โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 32.7 13.3 6.9 6.2 และ 2.1 ตามลำดับ ด้วยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ความต้องการบริโภคยังมีอย่างต่อเนื่อง ในสินค้าสำคัญ อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป ซาร์ดีนกระป๋อง และสิ่งปรุงรส รวมทั้งผลไม้ (มังคุด และลำไย)

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าดัชนีการผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร เดือนมิถุนายน น่าจะหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยลบอย่างผลผลิตทางการเกษตรปรับตัวลดลงจากภัยแล้งและความต้องการชะลอตัว อาทิ กุ้ง และสับปะรด การชะลอคำสั่งซื้อเพื่อรอดูสถานการณ์ราคาวัตถุดิบปลาทูน่า การส่งออกข้าวไทยที่ชะลอจากการเปลี่ยนไปนำเข้าข้าวจากเวียดนามและกัมพูชา ด้วยต้นทุนที่สูงและเงินบาทแข็งค่า รวมทั้งความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า ประกอบกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก

2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

+ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 114.9 สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ พัดลมตามบ้าน ตู้เย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9, 4.1 และ 8.7 ตามลำดับ โดยเครื่องปรับอากาศมีการจำหน่ายในประเทศและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น พัดลมมีการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนตู้เย็นมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟฟ้า กระติกน้ำร้อน เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว คอมเพรสเซอร์ และมอเตอร์ไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 38.5, 32.9, 24.3, 21.9, 12.5, 8.6, 1.7 และ 0.1 ตามลำดับ โดยเครื่องซักผ้า กระติกน้ำร้อน หม้อแปลงไฟฟ้า และสายไฟฟ้ามีการผลิตลดลงเนื่องจากการจำหน่ายในประเทศและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ส่วนเตาไมโครเวฟและมอเตอร์ไฟฟ้ามีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากจำหน่ายในประเทศลดลง

+ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 2,144.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาเซียน และญี่ปุ่น โดยสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 545.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 โดยเพิ่มขึ้นในตลาดเวียดนามร้อยละ 25.1 สหรัฐอเมริการ้อยละ 168.8 ญี่ปุ่นร้อยละ 14.4 ออสเตรเลียร้อยละ 20.4 ส่วนตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 181.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 โดยเพิ่มในตลาดญี่ปุ่นร้อยละ 11.1 และตลาดสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 153.8

"คาดการณ์การผลิตเดือนมิถุนายน 2562 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นมีคำสั่งซื้อจากอาเซียนและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น"
  • การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor devices transistor, HDD, PWB, IC และ PCBA โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 14.3, 14.1, 13.2, 6.0 และ 0.2 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดหลักปรับตัวลดลงและความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว
  • การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,053.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักปรับตัวลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน โดยสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 969.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.2 HDD มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ในตลาดอาเซียนและญี่ปุ่น ส่วนแผงวงจรไฟฟ้า (IC) มีมูลค่าส่งออก 598.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.4 เนื่องจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของไทย
"คาดการณ์การผลิตเดือนมิถุนายน 2562 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดหลักปรับตัวลดลงและความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว"

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีจำนวน 181,338 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2562 ร้อยละ 20.70 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.11 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

          + การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม       ปี 2562 มีจำนวน 88,097 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนปี 2562   ร้อยละ 2.35 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน    ร้อยละ 3.69 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เนื่องจากมีการกระตุ้นตลาดจากกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง

+ การส่งออกรถยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีจำนวน 95,331 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2562 ร้อยละ 42.04 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.58 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในเดือนมิถุนายน ปี 2562 ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ปี 2561 เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกที่ลดลง และตลาดในประเทศที่ขยายตัวลดลง"

+ การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีจำนวน 169,821 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2562 ร้อยละ 25.43 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.78 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์

+ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มียอดจำหน่ายจำนวน 160,991 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2562 ร้อยละ 33.71 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.45 (%YoY) จากการปรับลดลงของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี 111-125 ซีซี และมากกว่าหรือเท่ากับ 400 ซีซี

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีจำนวน 33,892 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2562 ร้อยละ 35.08 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.75 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน ปี 2562 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ปี 2561"

4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา

การผลิต
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 18.75 ตามปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาดลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แล้งจัด
  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 2.64 ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ
  • ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 0.59 ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ
การจำหน่ายในประเทศ
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 13.06 เนื่องจากมีปริมาณยางเข้าสู่ตลาดลดลง
  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 10.17 ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และตลาด Replacement
  • ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 32.10 เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ของไทยบางรายปรับแผนการตลาดไปส่งออกมากขึ้น
การส่งออก
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) มีมูลค่าลดลงร้อยละ 9.94 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยสั่งซื้อยางแท่งจากไทยลดลงร้อยละ 24.09

+ ยางรถยนต์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.80 ตามการขยายตัว ที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งขยายตัวร้อยละ 29.75

+ ถุงมือยาง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.26 จากการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และเยอรมนี

คาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2562

การผลิตและจำหน่ายยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามปริมาณการเข้าสู่ตลาดของยางที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นฤดูเปิดกรีด สำหรับการผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในส่วนของการผลิตถุงมือยางคาดว่าจะขยายตัวตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ ในขณะที่การจำหน่าย ถุงมือยางในประเทศคาดว่าจะยังคงชะลอตัวจากการที่ผู้ผลิตรายใหญ่บางรายปรับแผนการตลาดไปเป็นส่งออกมากขึ้น

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะมีมูลค่าลดลงเนื่องจากจีนมีแนวโน้มชะลอการสั่งซื้อยางจากไทยลง และไทยจะเริ่มใช้มาตรการจำกัดปริมาณส่งออก Agreed Export Tonnage Scheme: AETS ครั้งที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 นี้ ไปเป็นระยะเวลา 4 เดือน ในขณะที่การส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยางคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

5. อุตสาหกรรมพลาสติก

การผลิตและการจำหน่าย
  • ดัชนีผลผลิต เดือนพฤษภาคม 2562 ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 2.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยค่าดัชนีผลผลิตกลุ่มกระสอบพลาสติกลดลงมากที่สุด ร้อยละ 11.07 รองลงมาคือ เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ ร้อยละ 7.26
  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนพฤษภาคม 2562 สำหรับดัชนีการส่งสินค้าลดลงร้อยละ 2.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยค่าดัชนีส่งสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มพลาสติกลดลงมากที่สุด ร้อยละ 10.25 รองลงมาคือ เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ ร้อยละ 9.93
การตลาด
  • การส่งออก เดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีมูลค่า 371.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 4.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีผลทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงหลัก ๆ คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) กลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ (3923) และกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ (3919) ทั้งนี้ เนื่องจากจากประเทศคู่ค้า เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และในกลุ่ม ASEAN กัมพูชา อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ มีคำสั่งซื้อลดลง
  • การนำเข้าเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีมูลค่า 398.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 2.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) กลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ (3923) และกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ (3919)

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก เดือนมิถุนายน 2562 คาดการณ์ว่า การผลิตและการตลาดจะทรงตัว เนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบในตะวันออกกลาง ปัจจัยจากสงครามการค้าที่อาจส่งผลลบต่อตลาด รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าเงินบาทซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิต

6. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
  • ดัชนีผลผลิต ในเดือนพฤษภาคมมีค่า 107.77 ลดลงร้อยละ 12.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลายลดลงร้อยละ 16.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง ได้แก่ ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก เป็นต้น
  • การจำหน่าย เดือนพฤษภาคมปี 2562 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีค่าดัชนีการส่งสินค้า 107.10 ลดลงร้อยละ 11.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากกลุ่มเคมีภัณฑ์-ขั้นปลาย ซึ่งดัชนีการส่งสินค้าลดลงร้อยละ 14.07 ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ปุ๋ยเคมี และ ผงซักฟอก

+ การส่งออก เดือนพฤษภาคมปี 2562 มีมูลค่ารวม 891 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.06 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีมูลค่า การส่งออก 507 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องสำอาง มีมูลค่าส่งออก 352 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าส่งออกปีก่อนที่มีมูลค่า 175 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหลักในการส่งออก คือ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และประเทศในกลุ่มอาเซียน

  • การนำเข้า ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 มีมูลค่ารวม 1,423 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐานมีมูลค่าการนำเข้า 822 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 10.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการนำเข้าลดลงได้แก่ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด ตามลำดับ ส่วนเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่ารวม 601 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้า ได้แก่ ปุ๋ย โดยตลาดหลักที่นำเข้า ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย และจีน และเครื่องสำอาง โดยตลาดหลักที่นำเข้า ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และ ฝรั่งเศส เป็นต้น

คาดการณ์แนวโน้มในเดือนมิถุนายน ปี 2562 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์คาดว่าตัวเลขขยายตัวใกล้เคียงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยที่ยังต้องติดตามจากความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกเคมีภัณฑ์ของไทย โดยตลาดส่งออกหลักที่สำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศอาเชียน

7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  • ดัชนีผลผลิต การผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเดือนพฤษภาคมปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง ได้แก่ ABS resin, SAN resin ซึ่งจะนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ Polyethylene resin (PE) นำไปใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์วัสดุบรรจุภัณฑ์
  • การจำหน่าย ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 ลดลงร้อยละ 7.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีพื้นฐานที่มีการจำหน่ายลดลง ได้แก่ Benzene, Propylene, Ethylene และ Toluene ลดลง ร้อยละ 25.33 3.40 0.83 และ 0.13 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ ABS resin, SAN resin และ PS resin, ลดลงร้อยละ 21.39 17.82 และ 18.75 ตามลำดับ ส่วนมากนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอกนิกส์
  • การส่งออก ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีมูลค่า 1,022.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 19.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงส่วนมากมีการใช้ในกลุ่มวัสดุบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้แก่ PE resin, PP resin, PC resin ลดลงร้อยละ 20.21 15.61 และ 31.34 ตามลำดับ ทั้งนี้ในภาพรวมมีการส่งออกปิโตรเคมีไปยังประเทศที่สำคัญ ได้แก่ จีน (35.61%) อินเดีย (9.54%) เวียดนาม (8.90 %) อินโดนีเซีย (7.62%) และญี่ปุ่น (7.33%) เป็นต้น
  • การนำเข้า ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีมูลค่า 480.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ส่วนมากจะนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ได้แก่ ABS resin, SR rubber, PES resin, และ PMMA resin ลดลงร้อยละ 19.19 10.04 6.74 และ 5.53 ตามลำดับ และในภาพรวมมีนำเข้าปิโตรเคมีจากประเทศที่สำคัญ ได้แก่ จีน (14.08%) ญี่ปุ่น (12.72%) เกาหลีใต้ (11.74%) และสหรัฐฯ (10.87%) เป็นต้น

คาดการณ์แนวโน้มในเดือนมิถุนายน ปี 2562 คาดว่าจะยังคงทรงตัวในระดับเดิม เนื่องจากมีปัจจัยที่ต้องติดตามจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงปัจจัยจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีผลต่อมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของไทย

8. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

+ ดัชนีผลผลิต ในเดือนพฤษภาคมปี 2562 มีค่า 108.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 110.7 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.9 จากการผลิตเหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 รองลงมา คือ เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กลวด เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 และ 7.4 ตามลำดับ จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างภาครัฐ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 104.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากการเพิ่มขึ้นของการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9 จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เข่น อุตสาหกรรมผลิตท่อเหล็กกล้า โดยในเดือนพฤษภาคม การผลิตท่อเหล็กกล้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0

+ การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 1.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการจำหน่าย 0.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากการจำหน่ายเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้าง รีดร้อน และ เหล็กลวด เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และ 1.5 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3 จากการบริโภคเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 85.2 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (ทั้งแบบ HDG และ EG) เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.9 และ 15.7 ตามลำดับ

+ การนำเข้า ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีปริมาณนำเข้า 1.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีปริมาณนำเข้า 0.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม เพิ่มขึ้นร้อยละ 244.3 (ประเทศหลักที่นำเข้า คือ จีน) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Alloy Steel และเหล็กโครงสร้างรีดเย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 199.3 และ 58.7 ตามลำดับ แต่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีปริมาณนำเข้า 0.2 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6.2 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรีดร้อน ประเภท Alloy Steel ลดลงร้อยละ 86.7 (ประเทศหลักที่นำเข้าลดลง คือ ญี่ปุ่น) รองลงมา คือ เหล็กเส้น ประเภท Stainless Steel และประเภท Alloy Steel ลดลง ร้อยละ 43.5 และ 32.3

"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมิถุนายน 2562 คาดการณ์ว่า การผลิตทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมก่อสร้าง"

9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต
  • ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 5.97 4.38 และ 13.00 (%YoY) เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง รวมถึงแนวโน้มตลาด สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของโลกที่คาดการณ์ว่าจะชะลอตัว จึงทำให้ผู้ประกอบการลดการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำเพื่อเป็นสต๊อกสินค้าลง
การจำหน่ายในประเทศ

+ เส้นใยสิ่งทอ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.17 (%YoY) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปรองรับการส่งออก

  • ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 12.01 และ 3.24 (%YoY) เนื่องจากมีการนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาใช้ทดแทน และผู้บริโภคนิยมเสื้อผ้าแฟชั่นจากจีน รวมถึงเสื้อผ้าแบรนด์เนมต่างประเทศ
การส่งออก
  • เส้นใยสิ่งทอและผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 17.80 และ 0.28 ตามลำดับ โดยลดลงในกลุ่มเส้นใยประดิษฐ์ ที่ส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน และเวียดนาม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศดังกล่าวส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังตลาดโลกโดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาลดลง จึงสั่งซื้อวัตถุดิบจากไทยลดลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 นับตั้งแต่มกราคม 2561

+ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัว ร้อยละ 7.61 ซึ่งเป็นการส่งออกเสื้อผ้าบุรุษและสตรีในรูปแบบการรับจ้างออกแบบและผลิตไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

คาดการณ์แนวโน้มเดือนมิถุนายน 2562

ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน จะชะลอตัวตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้การค้าการลงทุนในตลาดดังกล่าวชะลอตัวมีผลต่อผู้ผลิตซึ่งจะทำให้มีความต้องการวัตถุดิบจากไทยลดลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มที่สามารถยกระดับไปรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างประเทศ

10. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม

+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีจำนวน 7.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2562 ร้อยละ 3.62 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.16 (%YoY) โดยเติบโตตามความต้องการใช้ในประเทศเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดตามแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งที่สร้างใกล้แล้วเสร็จและส่วนต่อขยาย

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 2.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2562 ร้อยละ 18.85 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 0.78 (%YoY) เนื่องจากเริ่มเข้าฤดูฝนและมีฝนตกหนักเป็นบางช่วงเวลา จึงเป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้าง

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีจำนวน 1.83 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2562 ร้อยละ 82.81 (%MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.22 (%YoY) เนื่องจากตลาดส่งออกหลักปรับเพิ่มคำสั่งซื้อจากฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ร้อยละ 464.14 และ 39.01 ตามลำดับ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมเดือนมิถุนายน ปี 2562 หดตัวลงเล็กน้อย

+ การผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีจำนวน 3.59 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2562 ร้อยละ 15.08 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.68 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ภายในประเทศในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มียอดจำหน่ายจำนวน 2.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2562 ร้อยละ 18.85 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.78 (%YoY)

+ การส่งออกซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 มีจำนวน 0.58 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2562 ร้อยละ 22.63 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.30 (%YoY) ซึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มคำสั่งซื้อจากกัมพูชา และเมียนมา ร้อยละ 14.90 และ 5.46 ตามลำดับ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิต ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมิถุนายน ปี 2562 คาดว่าจะหดตัวลงเล็กน้อย

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ