สศอ. เผย MPI เดือนมิถุนายนหดตัวร้อยละ 5.54 ได้รับผลจากการค้าโลกชะลอตัว ส่งผลไตรมาส 2 หดตัวร้อยละ 2.64

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 31, 2019 13:42 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 2562 หดตัวลงร้อยละ 5.54 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 หดตัวลงร้อยละ 2.64 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายอดิทัต วะสีนนท์รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 2562 หดตัวร้อยละ 5.54 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลออย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 หดตัวลงร้อยละ 2.64 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนมิถุนายน 2562 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันปิโตรเลียม Hard Disk Drive และเครื่องประดับแท้ สาเหตุหลักมาจากความต้องการบริโภคภายในประเทศและคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ยกเว้นน้ำมันปิโตรเลียมที่มีการซ่อมบำรุงโรงกลั่นตามวาระการตรวจซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ ในขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ น้ำมันปาล์ม เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม และเบียร์

อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวในเดือนมิถุนายน ได้แก่

น้ำมันปาล์ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.79 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ที่ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 เพิ่มขึ้น

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.64 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดในประเทศและเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด รวมถึงตลาดส่งออกได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศเวียดนาม สหรัฐและญี่ปุ่น

เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.05 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตเต็มกำลังของเครื่องจักรใหม่ของผู้ผลิตตามความต้องที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการเร่งผลิตและส่งมอบตามการประมูลงานในโรงพยาบาล และการขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น

เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.86 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำอัดลม น้ำโซดา น้ำชา และน้ำดื่มให้พลังงาน ที่ผู้ผลิตออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น

เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.06 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ลดปริมาณแอลกอฮอล์ลง (เบียร์ 0%) เพื่อขยายตลาด รวมถึงการเร่งผลิตสต๊อกสินค้าเพื่อปิดปรับปรุงเครื่องจักรบางส่วนของผู้ผลิต

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ