รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 3/2562 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 26, 2019 14:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

บทสรุปผู้บริหาร

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 3/2562

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3/2562 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)หดตัวร้อยละ 4.2 โดยปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในไตรมาสที่ 2/2562 อาทิ การผลิตรถยนต์ ภาวะการผลิตลดลงเกือบทุกรายการสินค้า (ยกเว้นรถยนต์นั่งขนาดกลางรถยนต์นั่งขนาดใหญ่และรถตรวจการ) จากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนตามเศรษฐกิจในประเทศ เช่นเดียวการส่งออกหดตัวลงตามภาวะเศรษฐโลกที่ชะลอตัวจากผลกระทบที่ยืดเยื้อของสงครามการค้า รวมไปถึงการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องกระทบต่อการผลิตเพื่อส่งออก การกลั่นปิโตรเลียม ภาวะการผลิตลดลง เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นของโรงกลั่น ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางล้อ ลดลง จากสินค้ายางแผ่นและยางแท่ง เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนซึ่งทำให้จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักได้รับผลกระทบผู้นำเข้าจากจีนจึงลดคำสั่งซื้อลง ประกอบกับวัตถุดิบ (น้ำยาง) ออกสู่ตลาดน้อยเพราะมีฝนตกมากในพื้นที่ปลูกยางและมีบางบริษัทชะลอการผลิตเพราะไม่คุ้มทุน สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาสที่ 3/2562 อาทิ สุราภาวะการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตมีการขยายตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ รวมถึงมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เภสัชภัณฑ์ การผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตมีการขยายกำลังการผลิต และเดินเครื่องจักรได้เต็มที่ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มอาคารเก็บรักษาคุณภาพยาแห่งใหม่ทำให้ผู้ผลิตสามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 4/2562

เหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่า ชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่น่าติดตามจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐซึ่งผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 ซึ่งผลจากมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้การก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนขยายตัวตามไปด้วย

ไฟฟ้า คาดว่า จะมีการผลิตและมูลค่าการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.5 และ 2.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้สินค้าในประเทศที่เพิ่มขึ้น จากนโยบายภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และประเทศคู่ค้าที่มีความต้องการในสินค้าเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น เช่น เวียดนาม ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา

อิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า จะมีการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 1.0 และ 4.9 ตามลำดับเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการ HDD และตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว

รถยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 430,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50

รถจักรยานยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 480,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์จะทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 ตามทิศทางการตลาดและความต้องการใช้ของผู้มีคำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยกเว้นกลุ่มบรรจุภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะขยายตัวได้ต่อเนื่องถึงสิ้นปี สำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษไตรมาสที่ 4 ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบ (%YoY) คาดว่า จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นไปยังประเทศจีน และตลาดอาเซียน

เซรามิก การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศ ไตรมาส 4 ของปี 2562 คาดว่าแม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่อย่างไรก็ดียังได้ปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ขยายตัวในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน โดยเฉพาะการส่งออกกระเบื้องและเครื่องสุขภัณฑ์ไปยังประเทศญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับมูลค่าการนำเข้า คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ใช้ในห้องปฏิบัติการจากประเทศจีนและญี่ปุ่น

ปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณการผลิตคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มเล็กน้อยเพื่อรองรับความต้องการของตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนปริมาณการจำหน่าย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จากการที่รัฐบาลเร่งดำเนินโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน มาตรการกระตุ้นตลาดของภาครัฐ และการซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัยหลังเกิดภาวะน้ำท่วมในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย คาดว่า จะลดลงเล็กน้อย ตามทิศทางตลาดส่งออกและความต้องการของผู้บริโภคในประเทศที่ค่อนข้างชะลอตัว ในส่วนการส่งออกเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน คาดว่า จะลดลงเนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะ จีนสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป สำหรับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะยังขยายตัวได้จากความสามารถในการรับจ้างออกแบบและผลิตเสื้อผ้าบุรุษและสตรีให้กับแบรนด์ต่างประเทศของผู้ประกอบการไทย

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ในส่วนของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการปรับเพิ่มขึ้นของการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้

ยา การผลิตในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.62ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชา

ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.88ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การผลิตถุงมือยางคาดว่าจะปรับลดลงร้อยละ 9.18 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออก สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม คาดว่าจะปรับลดลงร้อยละ 5.0 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ของจีนที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

รองเท้าและเครื่องหนัง การผลิตรองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 4 ปี 2562 คาดว่า การฟอกและตกแต่งหนังฟอกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออกตามความต้องการของกลุ่มประเทศ CLMV เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทางที่มีทิศทางการผลิตเพิ่มขึ้นจากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ช่วงเทศกาลสำคัญ และการขยายตัวของการท่องเที่ยว สำหรับผลิตภัณฑ์รองเท้า มีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากคำสั่งซื้อภายในประเทศขยายตัว

อาหาร คาดว่าดัชนีการผลิตในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.8 จากปัจจัยบวกอย่างความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศของสินค้าสำคัญ อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป ด้วยความต้องการเพิ่มมากขึ้นจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้การบริโภคไก่มากขึ้นทดแทนเนื้อหมูขาดแคลน ทูน่ากระป๋องคำสั่งซื้อจะเริ่มกลับมาในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากราคาวัตถุดิบได้เข้าสู่ระดับต่ำสุดแล้ว ประกอบกับผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างปาล์มน้ำมัน รวมทั้งความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมพร้อมดื่ม สิ่งปรุงรส เครื่องดื่มที่มีอย่างต่อเนื่อง และยังได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สำหรับการส่งออกคาดว่าจะหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 2.8 ด้วยปัจจัยลบอย่างภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลง รวมทั้งทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง

ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 3 ปี 2562

GDP

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDPในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยชะลอตัวจากไตรมาสที่ 2/2562ขยายตัวร้อยละ 3.2 แต่ขยายตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีการขยายตัวร้อยละ 2.3

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.5 การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 1.5 ภาคบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 การใช้จ่ายอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 การลงทุนรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 การส่งออกสินค้าและบริการหดตัวร้อยละ 1.0

GDP ภาคอุตสาหกรรม

การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3ของปี 2562 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการลดลงของการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้า อาทิ การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น

GDP ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562หดตัวร้อยละ 1.5 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีการหดตัวร้อยละ 0.2 และชะลอตัวลงมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยชะลอตัวลงตามการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกและการชะลอตัวของการบริโภคภาคครัวเรือน

ดัชนีอุตสาหกรรมที่สำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 99.35 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (100.17)ร้อยละ 0.82 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 (103.66) ร้อยละ 4.15

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป การผลิตน้ำตาล การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 101.53 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (102.59) ร้อยละ 1.03 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 (104.98) ร้อยละ 3.29

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป การผลิตน้ำมันปาล์ม และการผลิตยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 133.17 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา(132.70) ร้อยละ 0.35 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 (124.70) ร้อยละ 6.79

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และการผลิตเครื่องประดับเพชรพลอยแท้และสิ่งของที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ได้แก่การผลิตยานยนต์ การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตน้ำมันปาล์ม เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 64.98 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา(ร้อยละ 65.57) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 (ร้อยละ 68.66)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และการผลิตปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และการผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมีค่า 92.80 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (95.13) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561(92.40) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 102.87 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 (105.40)

ปัจจัยที่ส่งผลด้านลบต่อภาคการผลิตและค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลงโดยเฉพาะคำสั่งซื้อสินค้าคงทน และผู้ประกอบการชะลอการลงทุนสะท้อนจากการนำเข้าเครื่องจักรรวมทั้งวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตลดลง และปัจจัยภายนอกด้านการค้าโลกที่ชะลอตัวจากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ยังยึดเยื้อ รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลต่อการลดลงของรายได้จากการส่งออก เป็นต้น

การค้าต่างประเทศ

“มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก เป็นเหตุให้ปริมาณการค้าโลกและการส่งออกสินค้าในหลายประเทศชะลอลง อย่างไรก็ตาม ดุลการค้าไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ยังคงเกินดุล 3,438.1ล้านเหรียญสหรัฐฯ”

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 123,764.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออก 63,601.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าการนำเข้า 60,163.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดุลการค้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 เกินดุล 3,438.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 63,601.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า สินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าการส่งออก 5,485.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.0 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีมูลค่าการส่งออก 4,727.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.7 สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออก 51,192.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.3 สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 2,195.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 25.6

สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ที่หดตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่มีการส่งออกหดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 7,202.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.8) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 4,669.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯหดตัวร้อยละ 9.7) เม็ดพลาสติก (มูลค่าการส่งออก 2,306.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 12.2) อย่างไรก็ดี สินค้าบางรายการขยายตัวได้เพิ่มขึ้น เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ (มูลค่าการส่งออก 5,793.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 103.0) ผลิตภัณฑ์ยาง (มูลค่าการส่งออก 2,775.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.0)

ตลาดส่งออก

ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 24.6 12.0 11.9 9.7 และ 9.3 ตามลำดับ เมื่อรวมสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดหลัก คิดเป็นร้อยละ 67.5 และการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 32.5 ของการส่งออกทั้งหมด

โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน การส่งออกมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.8 2.9 และ 2.8 ตามลำดับขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียน(9) และ สหภาพยุโรป(27) หดตัวร้อยละ 13.9 และ 5.2 ตามลำดับ

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 60,163.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า สินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าการนำเข้า 9,515.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 10.9 สินค้าทุนมีมูลค่าการนำเข้า 15,892.4ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.8 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าการนำเข้า23,706.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 13.2 สินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าการนำเข้า 7,037.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 9.1 ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งมีมูลค่าการนำเข้า 3,899.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 6.7 และสินค้าหมวดอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าการนำเข้า 112.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 42.2

แหล่งนำเข้า

ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 แหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทยได้แก่ จีน อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป(27 ประเทศ) และสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 21.1 19.9 14.1 9.6 และ 6.5 ตามลำดับ เมื่อรวมสัดส่วนการนำเข้าไปยังตลาดสำคัญ คิดเป็นร้อยละ 70.9 และการนำเข้าจากตลาดอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 30.1 ของการเข้าทั้งหมด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยพบว่า สหภาพยุโรป(27 ประเทศ) มีการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด ร้อยละ 8.6ถัดมาเป็นตลาดอาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา และจีนขยายตัวร้อยละ 4.7 4.4 และ 1.6 ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าจากญี่ปุ่นหดตัวลง ร้อยละ 3.5

เศรษฐกิจโลก ไตรมาสที่ 3 ปี 2562

“ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อ อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราการว่างงานยังคงทรงตัว”

ปริมาณการค้าในตลาดหลักปรับตัวลดลง เนื่องจากการตั้งกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อยุติในเร็ววันนี้ ส่งผลให้ความต้องการซื้อซบเซา ภาคการผลิต การส่งออก และการนำเข้าถดถอยลง โดยอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศกรอบอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.50-1.75% ปรับลดลงจากระดับ 2.25-2.50% โดยคาดหวังว่าจะช่วยสนับสนุนการลงทุน กระตุ้นให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวต่อไปได้

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปรับลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ ไตรมาส 3 ปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 61.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ลดราคาลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 73.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ด้านราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบช่วงเดือนกันยายนอยู่ที่ 56.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ทั้งนี้ ความต้องการน้ำมันดิบในภาคการผลิตชะลอลง อันเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่กลุ่มประเทศโอเปกยังคงมีมาตรการควบคุมปริมาณการผลิต เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันดิบต่อเนื่องไปถึงเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยลดความผันผวนของราคาน้ำมันลงได้

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจโลกมีประเด็นที่ต้องติดตาม อาทิ มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันดิบ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เศรษฐกิจโลกปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยรายสาขาไตรมาสที่ 3/2562 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2562

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเหล็กไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561โดยลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวที่ลดลง เช่น เหล็กลวด เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนที่ลดลง เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก

ดัชนีการผลิต

การผลิต ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 94.4 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.4 (%YoY) (ลดลง 4 ไตรมาสติดต่อกันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) และลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 6.8 (%QoQ)เนื่องจาก (1) ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้านำเข้า และ(2) การบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กภายในประเทศลดลง ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเหล็กทรงยาวลดลงร้อยละ 6.8 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง คือ เหล็กลวด ลดลงร้อยละ 21.7 รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน และลวดเหล็ก ลดลงร้อยละ 20.3 และ 6.7 ตามลำดับ การผลิตเหล็กทรงแบนลดลงร้อยละ 24.3 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนลดลงร้อยละ 35.0 (ลดลง 4 ไตรมาสติดต่อกัน) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม ลดลงร้อยละ 32.2 และ 20.2 ตามลำดับ

การจำหน่าย ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีปริมาณ 4.6 ล้านตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.1 (%YoY) และลดลงจากไตรมาสที่ 2ปี 2562 ร้อยละ 6.7 (%QoQ) โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการจำหน่ายเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 17.1 ผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายลดลง คือ เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน ลดลงร้อยละ 22.7และเหล็กลวด ลดลงร้อยละ 2.2 การจำหน่ายเหล็กทรงแบน ลดลงร้อยละ 5.3ผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายลดลง คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงร้อยละ 14.2รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงร้อยละ 10.1 และ 6.9 ตามลำดับ

การนำเข้า ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.2 (%YoY) (ลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) และลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 6.9 (%QoQ) โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการนำเข้าเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 5.2 ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าลดลง คือเหล็กเส้น ประเภท Stainless Steel ลดลงร้อยละ 42.8 (ประเทศหลักที่นำเข้า คือ สวีเดน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน ประเภท Stainless Steel และเหล็กลวด ประเภท Stainless Steel ลดลงร้อยละ 40.4 และ 26.9 การนำเข้าเหล็กทรงแบนลดลงร้อยละ 3.7 ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าลดลง คือ เหล็กแผ่นหนารีดร้อนประเภท Stainless Steel ลดลงร้อยละ 33.9 (ประเทศหลักที่นำเข้า คือ ญี่ปุ่น จีน และมาเลเซีย) รองลงมา คือ ท่อเหล็กมีตะเข็บ และเหล็กแผ่นรีดร้อน ประเภท Stainless Steel ลดลงร้อยละ 22.2 และ 21.3 ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 4 ของปี 2562

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 4 ปี 2562คาดการณ์ว่า ชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่น่าติดตามจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐซึ่งผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 ซึ่งผลจากมาตรการดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้การก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนขยายตัวตามไปด้วย

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลต่อการส่งออกของไทย รวมถึงความต้องการในประเทศที่ลดลง โดยสินค้าที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องซักผ้า กระติกน้ำร้อน สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล และคอมเพรสเซอร์ ในขณะที่สินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ พัดลม ตู้เย็น หม้อหุงข้าว เตาไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ และมอเตอร์ไฟฟ้า

ดัชนีผลผลิต มูลค่าการนำเข้า และมูลค่าการส่งออกการจำหน่ายในประเทศ ของเครื่องใช้ไฟฟ้า

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 4,198.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 6.4 (%QoQ) ในขณะที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.9 (%YoY) โดยสินค้าหลักที่มีการนำเข้าลดลง ได้แก่ แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้าลดลงร้อยละ 10.2 ในขณะที่เครื่องอุปกรณ์สำหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5

การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ไตรมาส 3 ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 84.6 ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 21.1 (%QoQ) และลดลงร้อยละ 2.6 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศชะลอตัว สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องซักผ้า กระติกน้ำร้อนสายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล และคอมเพรสเซอร์ ลดลงร้อยละ 37.0, 25.6, 19.0, 18.2, 4.9 และ 2.6 ตามลำดับ ในขณะที่พัดลม ตู้เย็น หม้อหุงข้าว เตาไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ และมอเตอร์ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4, 8.4, 7.4, 7.3, 6.4 และ 6.1.14 ตามลำดับ

การจำหน่ายในประเทศ ไตรมาส 3 ปี 2562 สินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่เครื่องปรับอากาศ เตาไมโครเวฟ มอเตอร์ไฟฟ้า ตู้เย็นสายเคเบิ้ลและหม้อหุงข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.3, 32.4, 19.7, 10.1, 12.1 และ 2.1 ตามลำดับ ในขณะที่กระติกน้ำร้อน คอมเพรสเซอร์ สายไฟฟ้าเครื่องซักผ้า และพัดลม ลดลงร้อยละ 29.1, 23.5, 20.5, 13.9 และ 10.2 ตามลำดับ

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ไตรมาส 3 ปี 2562 มีมูลค่าการส่งออก 5,976.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่แล้วร้อยละ 2.3 (%QoQ) ในขณะที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.7 (%YoY) จากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น และจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8, 10.1 และ 3.0 โดยสินค้าตู้เย็นแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6, 7.2 และ 4.7 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าเครื่องซักผ้าและเครื่องอุปกรณ์สำหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบปรับตัวลดลงร้อยละ 19.5 และ 6.3

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ไตรมาสที่ 4 ปี 2562

อุตสาหกรรมไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 คาดว่า จะมีการผลิตและมูลค่าการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.5 และ 2.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้สินค้าในประเทศที่เพิ่มขึ้น จากนโยบายภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และประเทศคู่ค้าที่มีความต้องการในสินค้าเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น เช่น เวียดนาม ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากความต้องการ HDD และความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว รวมถึงสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยสินค้าที่มีการผลิตปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor devices transistors, IC, PWB และ PCBA และมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป จีน อาเซียน และสหรัฐอเมริกา

ดัชนีผลผลิต มูลค่าการนำเข้า และมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์

การนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562มีมูลค่าการนำเข้า 8,801.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 1.6 (%QoQ) ในขณะที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.8 (%YoY) โดยสินค้าหลักที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ลดลงร้อยละ 17.3 วงจรรวม (IC) ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.8 และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 98.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 7.3(%QoQ) แต่ลดลงร้อยละ 6.5 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor devices transistors, IC, PWB และ PCBAลดลงร้อยละ 25.2, 13.0, 12.3 และ 5.7 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกลดลง รวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของไทยในขณะที่การผลิต HDD เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.4 เนื่องจากเนื่องจากมีผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิต HDD จากประเทศมาเลเซียมาที่ไทย

การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2562มีมูลค่าการส่งออก 9,159.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วร้อยละ 4.5 (%QoQ) ในขณะที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.1 (%YoY) จากการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป จีนอาเซียน และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 14.4, 8.0, 7.5 และ 0.6 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 9.7 โดย HDDปรับตัวลดลงร้อยละ 2.7 เนื่องจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกลดลงและ supply ของ SSD ส่วนเกินทำให้ราคาลดลงและแย่งตลาด HDD มากขึ้น ส่วน IC ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.9 และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 คาดว่า จะมีการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 1.0 และ 4.9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการ HDD และตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว

อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์

ปริมาณการผลิตรถยนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีปริมาณการผลิตลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกที่หดตัวลง และการจำหน่ายในประเทศที่เริ่มชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562

ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 430,000คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50

การผลิตรถยนต์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีจำนวน 506,682 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 0.44 (%QoQ) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 7.46 (%YoY) โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง ร้อยละ 40 รถกระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ ร้อยละ 58 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 2

การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีจำนวน 238,077 คัน ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 8.51 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.55 (%YoY)แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ร้อยละ 41 รถกระบะ 1 ตัน ร้อยละ 41 รถ PPV และ SUV ร้อยละ 12 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 5

การส่งออกรถยนต์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีจำนวน 261,240 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 0.47 (%QoQ) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.99 (%YoY) โดยแบ่งเป็นการส่งออกรถยนต์นั่ง ร้อยละ 34 รถกระบะ 1 ตัน ร้อยละ 57 และรถ PPV ร้อยละ 9

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 2,443.77 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 5.06 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.90 (%YoY) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 3,052.94 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 8.60 (%QoQ)และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.60 (%YoY) โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์

ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีปริมาณการผลิตชะลอตัว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายในประเทศและตลาดส่งออกมีการขยายตัว

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562

ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 480,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

การผลิตรถจักรยานยนต์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีจำนวน 481,110 คันเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 3.78(%QoQ) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนร้อยละ 5.72 (%YoY)

การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศ

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีจำนวน 433,234 คันเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 0.33(%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 0.42 (%YoY)

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบ

รถจักรยานยนต์

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 199.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 7.74 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.74 (%YoY) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยาน

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 157.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 8.16 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 19.73 (%YoY) โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าหดตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกและการนำเข้าหดตัว เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ทำให้ความต้องการทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศชะลอตัว รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้การส่งออกหดตัว

ดัชนีผลผลิตและดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีผลผลิต ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 หดตัวร้อยละ 4.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ) และหดตัวร้อยละ 5.20 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ดัชนีผลผลิตที่หดตัว เช่น ปุ๋ย แป้งฝุ่น และสี

ดัชนีการส่งสินค้า ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ) และหดตัว ร้อยละ 3.21 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ดัชนีการส่งสินค้าที่หดตัว เช่น ปุ๋ย แป้งฝุ่น และโซดาไฟ

การส่งออกเคมีภัณฑ์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 2,189 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ) และหดตัวร้อยละ 3.30 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกหดตัว เช่น เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ปุ๋ย และสี

การนำเข้าเคมีภัณฑ์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่ารวม 3,958 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.61 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ) และลดลงร้อยละ 3.18 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้มีการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์ อนินทรีย์ ปุ๋ย และสารลดแรงตึงผิวหดตัว

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 คาดว่าการส่งออกและการนำเข้าเคมีภัณฑ์ยังคงหดตัวประมาณร้อยละ 9.00 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

อุตสาหกรรมพลาสติก

อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีปริมาณการส่งออกขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน ขยายตัวตามความต้องการของตลาดประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเวียดนาม นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบลดลง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัว

การผลิตและการจำหน่าย

ดัชนีผลผลิต ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 หดตัวร้อยละ 1.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ) และหดตัว ร้อยละ 2.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ซึ่งดัชนีผลผลิตที่หดตัวมากที่สุด ได้แก่ กระสอบพลาสติก

ดัชนีการส่งสินค้า ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 หดตัวร้อยละ 0.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ) และหดตัวร้อยละ 3.35 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY ซึ่งดัชนีการส่งสินค้าที่หดตัวมากที่สุด ได้แก่ กระสอบพลาสติก

ปริมาณการส่งออก ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีปริมาณ 308,909 ตัน ขยายตัวร้อยละ 3.41 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ) และขยายตัวร้อยละ 3.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกขยายตัวสูงสุด ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประกอบอาหาร (HS 3925)

ปริมาณการนำเข้าไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีปริมาณ 224,426 ตัน หดตัวร้อยละ 1.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ) แต่ขยายตัวร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าขยายตัวสูงสุด ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (HS 3916)

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 คาดว่าปริมาณการส่งออกยังคงขยายตัวร้อยละ 3.71 และปริมาณการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 2.64 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศคู่ค้าหลักยังคงขยายตัว อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ทั้งจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ราคาแนฟทาของตลาดเอเชีย ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน ประมาณร้อยละ 28.47 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยน โดยปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลง ตามการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคเอเชีย และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย

ดัชนีผลผลิต ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.79 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตที่ส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ของปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน ได้แก่ Propylene (4.65%) และ Ethylene (2.55%) ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ PS Resin (9.07%), PE resin (7.57%), PVC resin (6.39%) และ PP resin (5.30%) เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีส่งสินค้าที่ส่งผลให้เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ของปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน ได้แก่ Tolulene (9.87%), และ Propylene (4.79%) ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ PVC Resin(11.13%), PE resin (7.87%), PS resin (5.14%) และ SAN rersin (4.44%) เป็นต้น

ปริมาณการส่งออก ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีปริมาณ 2.46 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4.50 จากไตรมาส 2 (%QoQ) หรือลดลงร้อยละ 7.41 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ตามการหดตัว ของภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ในภาพรวมมีการส่งออก ปิโตรเคมีไปยังประเทศที่สำคัญ ได้แก่ จีน (34.62%) อินโดนีเซีย (10.10%) เวียดนาม (8.72%) อินเดีย (8.47%) และ ญี่ปุ่น (7.88%) เป็นต้น

  • ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีการส่งออกลดลง ได้แก่ Terephthalic Acid (-1.67%) Para-Xylene (-47.84%) และ Benzene (-21.77%)
  • ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีการส่งออกลดลง ได้แก่ PET resin (-13.77%) PS resin (-2.10%) PEG resin (-49.46%) และ ABS resin (-21.02%)ปริมาณการนำเข้า ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีปริมาณ 0.96 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 1.19 จากไตรมาส 2 ปี 2562 (%QoQ) หรือลดลงร้อยละ 1.65 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ทั้งนี้ในภาพรวมมีนำเข้าปิโตรเคมีจากประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น (15.82%) จีน (13.31%) เกาหลีใต้ (13.06%) สิงคโปร์ (11.23%) สหรัฐอเมริกา (9.79%) และมาเลเซีย (8.04%) เป็นต้น
  • ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีการนำเข้าลดลง ได้แก่ Vinyl Chloride (-17.19%) Acetic Acid (-4.03%) Para-Xylene (-47.56%) และ Ethylene Glycol (-25.77%)
  • ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีการนำเข้าลดลง ได้แก่ SR Rubber (-5.85%) PMMA resin (-0.52%) ABS resin (-12.80%) และ Nylon resin (-12.72%)
แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2562

ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกประมาณ 2.475 ล้านตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.54 (%YoY) สำหรับปริมาณการนำเข้าคาดว่าจะมีประมาณ 0.968 ล้านตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.72 (%YoY) เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

การผลิตเยื่อและกระดาษ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ดัชนีผลผลิตฯ ลดลง (%QOQ) ในกลุ่มเยื่อกระดาษ และกระดาษคราฟต์ ซึ่งมีทิศทางเดียวกับการส่งออก มีมูลค่าลดลงในกลุ่มกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟต์ กระดาษแข็ง และกระดาษอนามัย โดยเฉพาะตลาดจีน และอาเซียนที่เป็นตลาดส่งออกหลัก ยกเว้นเพียงกลุ่มบรรจุภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในส่วนการนำเข้า ลดลงค่อนข้างมากทั้งกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2562

คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์จะทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 ตามทิศทางการตลาดและความต้องการใช้ของผู้มีคำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยกเว้นกลุ่มบรรจุภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะขยายตัวได้ต่อเนื่องถึงสิ้นปี สำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษไตรมาสที่ 4 ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบ (%YoY) คาดว่า จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นไปยังประเทศจีน และตลาดอาเซียน สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์ คาดว่า จะหดตัวตามแนวโน้มความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษในประเทศ

การผลิตเยื่อและกระดาษ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบ (%QOQ) ดัชนีผลผลิตลดลงในกลุ่มเยื่อกระดาษ และกระดาษคราฟต์ ร้อยละ 1.62 และ 5.47 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบ (%YoY) ดัชนีฯ ลดลงในกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟต์ ร้อยละ 3.00 10.37 และ 1.60 ตามลำดับ ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ ในส่วนกระดาษลูกฟูก ดัชนี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.80 (%QOQ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.41 (%YOY) สำหรับการผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ที่ยังตอบสนองตลาดได้ดีตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง รวมถึงความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อการบรรจุและการขนส่งสำหรับการค้าในระบบออนไลน์ที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่ารวม 495.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.69 (%QoQ) จากกลุ่มเยื่อกระดาษ จากการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ เป็นต้น สำหรับผลิตภัณฑ์กระดาษ ลดลงทั้งกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟต์ กระดาษแข็ง และกระดาษชำระ จากการส่งออกไปเวียดนาม มาเลเซีย และจีน และลดลงร้อยละ 10.89 (%YoY) ซึ่งลดลงทั้งกลุ่มเยื่อกระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ อย่างไรก็ตาม กลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์ ส่งออกได้เพิ่มขึ้นในตลาดฮ่องกงและสหรัฐอเมริกา อาเซียน

การนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่ารวม 655.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.47 (%QoQ) ในกลุ่มเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ลดลงร้อยละ 14.69 กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ลดลง ร้อยละ 3.11 และเมื่อเปรียบเทียบ (%YoY) นำเข้าลดลงร้อยละ 10.54 ทั้งในกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษชนิดที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ แต่สำหรับหนังสือและสิ่งพิมพ์นำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.82 (%QoQ) แต่ลดลง ร้อยละ 32.92 (%YoY) ส่วนใหญ่นำเข้าหลักจากสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

การกำกับสินค้าและบริการในบัญชีควบคุมปี 2562 ของ กกร. กำหนดให้สินค้าและบริการต้องแจ้งราคาและปริมาณเป็นประจำทุกเดือน ได้แก่ กระดาษพิมพ์และเขียน ส่วนกระดาษลูกฟูก กระดาษเหนียว ต้องแจ้งราคา รายละเอียดสินค้า หากเปลี่ยนราคาต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน สำหรับกระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า ให้แจ้งราคา รายละเอียดสินค้า และหากเปลี่ยนราคาต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน สำหรับสินค้าอื่น ๆ จะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันตามที่ระบุไว้ในประกาศฯ

อุตสาหกรรมเซรามิก

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์ในไตรมาสที่ 3ปี 2562 ขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้านการส่งออกในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่นและเมียนมา ซึ่งตลาดหลักยังคงเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และ สปป.ลาว

การผลิต จำหน่าย และส่งออกเซรามิก

การผลิต ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณการผลิต 33.34 ล้านตารางเมตร ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 9.96 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.47 (%YoY) จากกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์มีปริมาณการผลิต 1.98 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 9.30 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.76

การจำหน่าย ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 กระเบื้องบุพื้น บุผนัง มีปริมาณการจำหน่าย 39.86 ล้านตารางเมตร ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 7.53 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.79 (%YoY) จากความต้องการที่อยู่อาศัยลดน้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์มีจำนวน 0.99 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 4.71 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.6917

การส่งออก ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 การส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีมูลค่า 21.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 6.97 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.14 จากการชะลอคำสั่งซื้อของ สปป.ลาว ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์มีมูลค่า 51.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 7.71 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 7.81 จากการชะลอคำสั่งซื้อของสหรัฐอเมริกาและจีน

แนวโน้มอุตสาหกรรมเซรามิก ไตรมาส 4 ของปี 2562

การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศ ไตรมาส 4 ของปี 2562 คาดว่าแม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากการชะลอการเปิดโครงการของภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่อย่างไรก็ดียังได้ปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ขยายตัวในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน โดยเฉพาะการส่งออกกระเบื้องและเครื่องสุขภัณฑ์ไปยังประเทศญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับมูลค่าการนำเข้า คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ใช้ในห้องปฏิบัติการจากประเทศจีนและญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน การผลิตและการส่งออก มีอัตราการ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับตลาดในประเทศและตลาดส่งออกในกลุ่มของประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจากประเทศกัมพูชา การจำหน่ายในประเทศมีอัตราลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่วนการนำเข้ามี อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น

การผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีจำนวน 10.16 ล้านตัน ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 0.24 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.11 (%YoY) เพื่อรองรับการจำหน่ายในประเทศและตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา โดยเฉพาะกัมพูชาที่ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวเป็นอย่างมาก

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีจำนวน 8.55 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 0.10 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.77 (%YoY) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงและเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่

การส่งออก - นำเข้าปูนซีเมนต์ ( ไม่รวมปูนเม็ด) ) ไตรมาส ที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่าการส่งออก 85.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 4.15 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 41.64 (%YoY) เนื่องจากตลาดส่งออกบางประเทศที่เคยลดคำสั่งซื้อในช่วงเดียวกันของปีก่อน หันกลับมาเพิ่มคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาสนี้ ส่วนการนำเข้าปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีมูลค่า 16.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 20.11 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 59.98 โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกัมพูชานับจากไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา

แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณการผลิตคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มเล็กน้อยเพื่อรองรับความต้องการของตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนปริมาณการจำหน่าย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จากการที่รัฐบาลเร่งดำเนินโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน มาตรการกระตุ้นตลาดของภาครัฐ และการซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัยหลังเกิดภาวะน้ำท่วมในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 การผลิตเส้นใยประดิษฐ์ ขยายตัวจากการผลิตเพื่อรอส่งมอบช่วงปลายปี ส่วนผ้าผืน และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ชะลอตัวตามคำสั่งซื้อจากประเทศผู้ผลิตที่ลดลงจากสถานการณ์ทางการเมืองและการค้าของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ

การผลิตและจำหน่ายในประเทศ

เส้นใยประดิษฐ์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.05 (YoY) ส่วนดัชนีการจำหน่ายในประเทศ ลดลง ร้อยละ 0.85 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิตเพื่อเป็นสต๊อกสำหรับการส่งมอบในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

ผ้าผืน และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 17.37 และ 1.01 (YoY) ดัชนีการจำหน่ายในประเทศ ลดลง ร้อยละ 11.10 และ 1.93 เนื่องจากคำสั่งซื้อวัตถุดิบจากประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ จีน และเวียดนาม เพื่อนำไปใช้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป

การส่งออก-นำเข้า

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภาพรวม มีมูลค่า 1,769.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.66 (YoY) ซึ่งหากพิจารณา กลุ่มสิ่งทอ พบว่า ลดลง ร้อยละ 8.11 โดยตลาดส่งออกเส้นใยสิ่งทอ สำคัญที่หดตัว ได้แก่ จีน และเวียดนาม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้คำสั่งซื้อวัตถุดิบของไทยไปยังจีนเพื่อนำไปผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกไปยังตลาดโลกชะลอตัว สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีการส่งออกขยายตัว ร้อยละ 7.47 ในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปบุรุษและสตรี ที่ไทยได้รับพิจารณาจากแบรนด์ต่างประเทศให้เป็นแหล่งผลิตในรูปแบบการรับจ้างออกแบบและผลิต โดยตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี

การนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภาพรวม มีมูลค่า 1,321.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.88 (YoY) โดยลดลงจากการนำเข้าผ้าผืนราคาถูกจากจีน และเวียดนาม เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออก ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัว ร้อยละ 7.61 ทั้งกลุ่มเสื้อผ้าราคาถูกจากจีน และเสื้อผ้าแบรนด์เนมที่มีสาขาในประเทศไทย

คาดการณ์แนวโน้มไตรมาสที่ 4 ปี 2562

การผลิตเส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย คาดว่า จะลดลงเล็กน้อย ตามทิศทางตลาดส่งออกและความต้องการของผู้บริโภคในประเทศที่ค่อนข้างชะลอตัว ในส่วนการส่งออกเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน คาดว่า จะลดลงเนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะ จีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป สำหรับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะยังขยายตัวได้จากความสามารถในการรับจ้างออกแบบและผลิตเสื้อผ้าบุรุษและสตรีให้กับแบรนด์ต่างประเทศของผู้ประกอบการไทย

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมศักยภาพเป้าหมาย (S-curve) ซึ่งผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มควรใช้โอกาสนี้เร่งพัฒนาในส่วนอุตสาหกรรมต้นน้ำ และกลางน้ำ โดยวิจัยพัฒนาเส้นใยสมบัติพิเศษให้มีคุณภาพ และมีความหลากหลายสูง เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น ๆ ได้แก่ Meditech, Protech และ Mobitech เป็นต้น

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศไตรมาสที่3ปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามปริมาณคำสั่งซื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้มีมูลค่าลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากการปรับลดลงของการส่งออกไม้แปรรูปไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีน

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2562 มีจำนวน 2.76 ล้านชิ้น ขยายตัวร้อยละ 17.45 และ 24.89 จากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ สาเหตุจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศเป็นหลัก

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ ไตรมาส 3 ปี 2562 มีจำนวน 0.41 ล้านชิ้น ขยายตัวร้อยละ 5.13 และ 7.89 จากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ เป็นผลจากการกระตุ้นตลาดผ่านการจัดงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาส 3 ปี 2562 มีมูลค่ารวม 823.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.14 และ 8.21 จากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน 233.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.73 จากไตรมาสที่ผ่านมา แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ลดลงร้อยละ 4.72 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ 37.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.99 จากไตรมาสที่ผ่านมา แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ลดลงร้อยละ 5.71 และมูลค่าการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ 552.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.74 และ 9.77 จากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ในส่วนของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการปรับเพิ่มขึ้นของการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการทบทวนอากรขาออกของสินค้าไม้ ไม้แปรรูป และของทำด้วยไม้ โดยมีสาระสำคัญคือ การยกเว้นอากรขาออกให้กับสินค้าไม้แปรรูปทุกชนิด ปรับลดอากรขาออกของไม้ท่อนลงเหลือร้อยละ 10 จากร้อยละ 40 และทบทวนอัตราอากรขาออกของสินค้าประเภทอื่นๆ ของไม้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไม้ของประเทศ

อุตสาหกรรมยา

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศ ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามการชะลอตัวของตลาดยาในประเทศ สำหรับการส่งออกขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ

การผลิตยา ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีจำนวน 17,173.63 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.10 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตยาน้ำร้อยละ 23.06 ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ และการผลิตยาผงลดลงร้อยละ 9.62 ตามการชะลอตัวลงของการส่งออก

การจำหน่ายยา ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีจำนวน 15,569.21 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.18 โดยเป็นการชะลอตัวของการจำหน่ายยาน้ำ ยาฉีด และยาครีม โดยมีปริมาณการจำหน่ายลดลงร้อยละ 7.54 0.48 และ 16.70 ตามลำดับ ตามคำสั่งซื้อที่ปรับลดลง

การส่งออกยาไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 110.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.00 ในภาพรวมการส่งออกยามีการขยายตัวที่ดีจากการขยายตัวของตลาดเวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะตลาดเวียดนามและกัมพูชาที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 24.87 และ 28.81 ตามลำดับ

การนำเข้ายาไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 435.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.76 โดยเป็นการนำเข้ายาจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อิตาลี สเปน และเปอร์โตริโก เพิ่มขึ้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมยา ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562

สำหรับการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.62 และ 1.70 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชา

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยา

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการในประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการการยอมรับร่วมของข้อมูลตามมาตรฐาน OECD GLP ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปี 2562 โดยเมื่อมีการยอมรับร่วมของข้อมูลแล้ว ผลิตภัณฑ์ยาของไทยจะไม่ต้องทำการทดสอบซ้ำที่ประเทศปลายทางอีก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการทดสอบและส่งออกผลิตภัณฑ์ยาได้สะดวกมากขึ้น

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม ยางรถยนต์ และถุงมือยางในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ลดลงตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ การชะลอตัวของการส่งออก และปริมาณการเข้าสู่ตลาดที่ลดลงของยางธรรมชาติ

การผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม ยางรถยนต์ และถุงมือยางไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีจำนวน 0.47 ล้านตัน 18.53 ล้านเส้น และ 5,271.46 ล้านชิ้น ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมมีปริมาณลดลงร้อยละ20.04 ตามปริมาณการเข้าสู่ตลาดของยางธรรมชาติที่ลดลง เนื่องจากฝนตกชุก ปัญหาน้ำท่วม และราคายางที่ตกต่ำ ทำให้มีการกรีดยางลดลง การผลิตยางรถยนต์ลดลงร้อยละ 2.06 ตามการชะลอตัวของการผลิตรถยนต์ในประเทศ และการผลิตถุงมือยางลดลงร้อยละ 18.35 จากการขาดแคลนวัตถุดิบน้ำยางสดและการชะลอตัวของการส่งออกเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้

การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นปฐม ยางรถยนต์ และถุงมือยางไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีจำนวน 0.12 ล้านตัน 11.91 ล้านเส้น และ 801.28 ล้านชิ้น ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยางในประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.90 3.65 และ 4.34 ตามลำดับ ตามความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม ยางรถยนต์ และถุงมือยางไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 1,042.61 1,523.73 และ 306.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกยางรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.40 ตามการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐมและถุงมือยางลดลงร้อยละ 3.86 และ 1.70 ตามลำดับ จากการชะลอตัวของตลาดจีนและสหรัฐอเมริกา

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562

การผลิตยางรถยนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.88 ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การผลิตถุงมือยางคาดว่าจะปรับลดลงร้อยละ 9.18 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออก สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม คาดว่าจะปรับลดลงร้อยละ 5.0 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ของจีนที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง

ไตรมาส 3 ปี 2562 การฟอกและตกแต่งหนังฟอก มีการผลิตลดลง ร้อยละ 10.38 เนื่องจากความต้องการใช้หนัง ในการผลิตเบาะรถยนต์ลดลงตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทาง* และกลุ่มรองเท้า มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.59 และ 3.52 ตามลำดับ จากความต่อเนื่องของคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ

การผลิต

การฟอกและตกแต่งหนังฟอก มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 10.38 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการใช้หนัง ในการผลิตเบาะรถยนต์ลดลงตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์

ผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทาง* และกลุ่มรองเท้า เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.59 และ 3.52 ตามลำดับ จากความต่อเนื่องของคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ

การส่งออก-นำเข้า

การส่งออกมีมูลค่ารวม 467.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.71 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ลดลง ร้อยละ 3.69 เนื่องจากความต้องการที่ลดลงในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง และจีน ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 29.96 และ 11.40 ตามลำดับ

การนำเข้ามีมูลค่ารวม 591.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.25 โดยวัตถุดิบหนังดิบและหนังฟอกปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.52 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น สำหรับสินค้าสำเร็จรูป ได้แก่ กระเป๋า และรองเท้า ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.32 และ 30.73 ตามลำดับ จากการที่ผู้บริโภคปรับตัวตามพฤติกรรมการบริโภคสินค้าหรู ทำให้ความต้องการสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว

แนวโน้มอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 4 ปี 2562

การผลิตรองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 4 ปี 2562 คาดว่า การฟอกและตกแต่งหนังฟอกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออกตามความต้องการของกลุ่มประเทศ CLMV เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทางที่มีทิศทางการผลิตเพิ่มขึ้นจากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ช่วงเทศกาลสำคัญ และการขยายตัวของการท่องเที่ยว สำหรับผลิตภัณฑ์รองเท้า มีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากคำสั่งซื้อภายในประเทศขยายตัว

การส่งออก คาดว่า ผลิตภัณฑ์หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด มีแนวโน้มชะลอตัว สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้าและชิ้นส่วน จะปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของตลาด CLMV เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญการนำเข้า คาดว่า วัตถุดิบหนังดิบและหนังฟอกจะมีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการของภาคการผลิต เช่นเดียวกับการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปประเภทรองเท้า คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมและเทรนด์แฟชั่นการแต่งกายที่ผู้คนทั่วไปหันมาใส่ใจในการออกกำลังกายมากขึ้น สำหรับการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปประเภทกระเป๋า คาดว่า จะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเปรียบเทียบจากฐานการนำเข้าในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าสูง

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

การผลิตและจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส3ปี 2562ปรับตัวลดลง ร้อยละ 9.50เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เน้นการส่งออกสินค้าในสต็อกทดแทนการผลิตสินค้าใหม่ ประกอบกับการปรับโมเดลธุรกิจของผู้ประกอบการจากการผลิตจำนวนมาก มาเป็นการผลิตแบบ Customization ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

การผลิต ลดลง ร้อยละ 9.50 ในเชิงปริมาณ เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เน้นการส่งออกสินค้าในสต็อกทดแทนการผลิตสินค้าใหม่ ประกอบกับการปรับโมเดลธุรกิจของผู้ประกอบการจากการผลิตจำนวนมาก มาเป็นการผลิตแบบ Customization ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

การจำหน่าย หดตัวร้อยละ 10.74 ในเชิงปริมาณ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ที่หันมานิยมสวมใส่สินค้าเครื่องประดับแบบน้อยชิ้น แต่มีมูลค่าสูง (minimal but high value)

การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.27 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการวัตถุดิบอัญมณีประเภทโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 806.85 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และสวิตเซอร์แลนด์ ประกอบกับการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคช่วงปลายปี ขณะเดียวกันการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 102.91 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามมูลค่าการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 302.50 เนื่องจากราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลกมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2562

ไตรมาส 4 ปี 2562 คาดว่า การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับยังคงมีทิศทางทรงตัว หรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะมีทิศทางขยายตัว เช่นเดียวกับการส่งออกในภาพรวม ที่มีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน ตามทิศทางราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัว เช่นเดียวกับการนำเข้าในภาพรวม

อุตสาหกรรมอาหาร

ดัชนีการผลิตไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม เป็นผลจากวัตถุดิบที่ลดลงด้วยผลกระทบจากภัยแล้ง ราคาไม่จูงใจ กอปรกับฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน อาทิ น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋อง และกะทิ อีกทั้งตลาดต่างประเทศชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แม้ดัชนีการผลิตปาล์มน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์สำเร็จรูป รวมทั้งเครื่องดื่มยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะตลาด อาเซียน CLMV ยุโรป แอฟริกาใต้ และตะวันออกกลาง จากการส่งออกที่ลดลงของสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้นและแป้งมันสำปะหลัง) ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง และข้าวโพดหวานกระป๋อง เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบลดลง ประกอบกับปัจจัยลบอย่างเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออกไทยลดลง นอกจากนี้กำลังซื้อในประเทศค่อนข้างทรงตัว จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่อ่อนแอลงประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าปีก่อน

ดัชนีการผลิตอาหาร ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 95.0 ลดลงจาก ไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 4.1 (%QoQ) ปัจจัยหลักจากการเข้าสู่ปลายฤดูกาลออกผลผลิตของสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด และปาล์มน้ำมัน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงเล้กน้อยร้อยละ 0.4 (%YoY) เนื่องจากวัตถุดิบที่ลดลงและฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อนอย่าง น้ำตาลเร่งปิดหีบเร็วกว่าปีก่อนกว่าหนึ่งเดือน มันสำปะหลังผลผลิตรวมลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 8 เนื่องจากประสบปัญหาท่วมทับแล้งและมีโรคระบาด และสับปะรดลดพื้นที่ปลูกด้วยราคาไม่จูงใจและได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมทั้งข้าวโพดหวานและมะพร้าวที่วัตถุดิบลดลง แม้ดัชนีการผลิตปาล์มน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์สำเร็จรูป รวมทั้งเครื่องดื่ม ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

การจำหน่ายอาหาร ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีปริมาณ 62,625.1 พันตัน ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 0.3 (%QoQ) เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 (%YoY) จากการจำหน่าย ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำมันปาล์มดิบ ซาร์ดีนกระป๋อง นมพร้อมดื่ม น้ำมันถั่วเหลือง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และการผลิตอาหารสัตว์ จากดัชนีรายได้เกษตรกร ดัชนีราคาสินค้าเกษตร และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรไตรมาส 3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น

การส่งออกไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 7,754.5 ล้านเหรียญ ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 0.9 (%QoQ) จากการส่งออกสินค้าสำคัญที่ลดลง อาทิ ข้าวขาว มันเส้น สับปะรด และทุเรียน และลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 (%YoY) โดยเฉพาะตลาดอาเซียน CLMV ยุโรป แอฟริกาใต้ และตะวันออกกลาง จากการส่งออกที่ลดลงของสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้นและแป้งมันสำปะหลัง) ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง และข้าวโพดหวานกระป๋อง เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบลดลง ประกอบกับปัจจัยลบอย่างเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออกไทยลดลง

การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีมูลค่า 3,423.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ร้อยละ 5.3 (%QoQ) จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป อาทิ ปลาทูน่า เมล็ดพืชน้ำมัน และกากพืชน้ำมัน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 (%YoY) จากการนำเข้าสินค้าสินค้าอุปโภคบริโภค ข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้ง และนมและผลิตภัณฑ์นม เพื่อรองรับการขยายตัวของการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในประเทศและต่างประเทศ

แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562

คาดว่าดัชนีการผลิตในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.8 จากปัจจัยบวกอย่างความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศของสินค้าสำคัญ อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป ด้วยความต้องการเพิ่มมากขึ้นจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้การบริโภคไก่มากขึ้นทดแทนเนื้อหมูขาดแคลน ทูน่ากระป๋องคำสั่งซื้อจะเริ่มกลับมาในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากราคาวัตถุดิบได้เข้าสู่ระดับต่ำสุดแล้ว ประกอบกับผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างปาล์มน้ำมัน รวมทั้งความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมพร้อมดื่ม สิ่งปรุงรส เครื่องดื่มที่มีอย่างต่อเนื่อง และยังได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สำหรับการส่งออกคาดว่าจะหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 2.8 ด้วยปัจจัยลบอย่างภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลง รวมทั้งทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ