ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนตุลาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 18, 2019 14:22 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2562 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 8.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่หดตัวร้อยละ 4.5

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวลง กล่าวคือ ในเดือนกรกฎาคม 2562 การผลิตหดตัวร้อยละ 3.3 เดือนสิงหาคมหดตัวร้อยละ 4.4 และเดือนกันยายนหดตัวร้อยละ 5.1

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนกรกฎาคม สิงหาคม และเดือนกันยายน 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนกรกฎาคมหดตัว ร้อยละ 0.8 เดือนสิงหาคมขยายตัว ร้อยละ 0.6 และเดือนกันยายนหดตัวร้อยละ 3.4

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนตุลาคม 2562 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ

  • รถยนต์ และเครื่องยนต์ หดตัวร้อยละ 22.6 จากการหดตัวเกือบทุกรายการสินค้า (ยกเว้นรถยนต์นั่งขนาดใหญ่) ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า กำลังซื้อในประเทศที่อ่อนตัว และสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
  • การกลั่นปิโตรเลียม หดตัวร้อยละ 23.4 จากการหยุดซ่อมบำรุงของบางโรงกลั่น ส่งผลให้การจำหน่ายในประเทศและการส่งออกลดลงกว่าช่วงเวลาปกติ
  • เหล็กและเหล็กกล้า หดตัวร้อยละ 17.0 หดตัวทุกรายการสินค้า จากภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั้งตลาดเหล็กโลกและตลาดเหล็กในประเทศ ปัญหาสงครามการค้า และความต้องการใช้ในประเทศชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนตุลาคม 2562 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

  • เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 จากการส่งออกเพิ่มขึ้นไปกลุ่มอาเซียนและอินเดีย รวมถึงคำสั่งซื้อเพิ่มจากญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ส่วนตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นตลาดด้วยการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายโดยเฉพาะชนิดอินเวอร์เตอร์
  • Hard Disk Drive เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 จากคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้นหลังการปิดฐานผลิตที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 รวมถึงการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและตอบสนองการใช้งานประเภทต่าง ๆของลูกค้า

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ เดือนตุลาคม 2562

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย
  • การนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนตุลาคม 2562 มีมูลค่า 1,488.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าที่ส่งผลให้การนำเข้าเครื่องจักร ที่ใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบหดตัวลง ได้แก่เครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรและอุปกรณ์ใช้ในการแปรรูปยาง หรือพลาสติก เครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะ และส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะ และส่วนประกอบ
  • การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนตุลาคม 2562 มีมูลค่า 7,167.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เม็ดพลาสติก เหล็ก และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปทำด้วยเหล็ก สินแร่โลหะอื่น ๆ อาทิ อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ ทองแดงและผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

+ จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนตุลาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 296 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2562 ร้อยละ 6.1 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22.5 (%YoY)

+ มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนตุลาคม 2562 มีมูลค่ารวม 35,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2562 ร้อยละ 59.7 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.0 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนตุลาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม จำนวน 27 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน จำนวน 25 โรงงาน"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนตุลาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการผลิตเส้นใยหรือปุยใย จำนวนเงินทุน 10,804.00 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมการทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี ซึ่งมิใช่ปุ๋ย จำนวนเงินทุน 6,076.87 ล้านบาท

+ จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนตุลาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 86 ราย ลดลงจากเดือนกันยายน 2562 ร้อยละ 14.0 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.9 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนตุลาคม 2562 มีมูลค่ารวม 2,843 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกันยายน 2562 ร้อยละ 55.7 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 36.3 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่มีการเลิกประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนตุลาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการซ่อมแซมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ จำนวน 9 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม จำนวน 5 โรงงาน

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนตุลาคม 2562 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม มูลค่าเงินลงทุน 356 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำชิ้นส่วนพิเศษ หรืออุปกรณ์สำหรับรถยนต์ หรือรถพ่วง มูลค่าเงินลงทุน 155 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนตุลาคม 2562

1. อุตสาหกรรมอาหาร
  • การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนตุลาคม 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.9 (%YoY) แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออกที่ปรับตัวลดลง คือ (1) สับปะรดกระป๋อง ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 69.6 เนื่องจากวัตถุดิบลดลงจากการลดพื้นที่ปลูกด้วยราคาไม่จูงใจ และผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบกับคำสั่งซื้อจากผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกาชะลอตัวค่อนข้างมาก (2) แป้งมันสำปะหลัง ดัชนีปรับตัวลดลง ร้อยละ 23.6 เนื่องจากผลผลิตลดลงด้วยภัยแล้งและโรคระบาด ประกอบกับผู้นำเข้าหลักอย่างจีนชะลอคำสั่งซื้อ และ (3) กะทิ ดัชนีลดลง ร้อยละ 11.0 เนื่องจากวัตถุดิบต้นทุนสูง ประกอบกับตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาชะลอตัว

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ น้ำมันปาล์ม ดัชนีการผลิตน้ำมันปาล์มปรับตัวลดลง ร้อยละ 16.0 เนื่องจากวัตถุดิบปาล์มน้ำมันลดลง ด้วยราคาที่อยู่ในระดับต่ำทำให้เกษตรกรขาดการดูแลรักษาต้นปาล์ม

  • การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหาร ในประเทศ เดือนตุลาคม 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.6 (%YoY) จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากปีก่อนเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวมากนัก
  • ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารเดือนตุลาคม ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ร้อยละ 1.3 (%YoY) จากการลดลงในตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอาเซียน สวนทางกับตลาด CLMV จีน และญี่ปุ่น ที่ยังคงขยายตัว ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สับปะรดกระป๋อง ข้าว (ข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้น และแป้งมันสำปะหลัง) ซาร์ดีนกระป๋อง ไก่แปรรูป และทูน่ากระป๋อง โดยปรับตัวลดลง ร้อยละ 27.6 25.8 25.0 4.6 2.0 และ 1.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำตาลทราย ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ข้าว กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง นมและผลิตภัณฑ์นม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สิ่งปรุงรส รวมทั้งผลไม้สด (ทุเรียนและลำไย) ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าดัชนีการผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนพฤศจิกายน อาจจะลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยลบอย่างภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากค่าเงินบาทส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยลดลง ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบสินค้าเกษตรลดลง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล มะพร้าว และสับปะรด แม้จะมีปัจจัยบวกจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ส่งผลให้ไก่ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนเป็นที่ต้องการมากขึ้น รวมทั้งโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกและผลพลอยได้ของไก่แช่แข็งของไทยได้รับการรับรองจากจีนเพิ่มเติมอีก 9 แห่ง จากเดิม 7 แห่ง ทั้งนี้ สามารถส่งออกได้ตั้งแต่ 22 ต.ค. 62 เป็นต้นไป

2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

+ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 87.4 สินค้าปรับตัวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ พัดลมตามบ้าน เครื่องปรับอากาศ สายไฟฟ้า และหม้อหุงข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6, 12.2, 3.5 และ 0.6 ตามลำดับ โดยหม้อหุงข้าวและสายไฟฟ้ามีการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการนำสินค้าคงคลังออกมาจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนเครื่องปรับอากาศและพัดลมตามบ้านมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากตลาดส่งออกที่ขยายตัว ในขณะที่สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กระติกน้ำร้อน ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า คอมเพรสเซอร์ หม้อแปลงไฟฟ้า สายเคเบิ้ล ตู้เย็น และมอเตอร์ไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 56.8, 22.5, 19.9, 5.6, 5.0, 2.3, 2.2 และ 0.1 ตามลำดับ โดยตู้เย็นมีการผลิตลดลงเนื่องจากมีการนำสินค้าคงคลังออกมาจำหน่าย สำหรับเครื่องซักผ้า คอมเพรสเซอร์ หม้อแปลงไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล มีการผลิตลดลงเนื่องจากมีการจำหน่ายตลาดในประเทศและส่งออกลดลง กระติกน้ำร้อนมีการผลิตลดลงเนื่องจากการจำหน่ายตลาดในประเทศลดลง ไมโครเวฟและมอเตอร์ไฟฟ้ามีการผลิตลดลงเนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลง

  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่าการส่งออก 1,953.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดหลักที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน และยุโรป โดยสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ มีมูลค่า 93.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.3 โดยลดลงในตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปที่มีการสั่งซื้อสินค้าลดลง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ตู้เย็นมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นโดยมีมูลค่า 171.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 เพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มีมูลค่า 379.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น
"คาดการณ์การผลิตเดือนพฤศจิกายน 2562 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้าเครื่องปรับอากาศ พัดลมตามบ้าน และหม้อหุงข้าว มีการจำหน่ายในประเทศและส่งออกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศมีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่สินค้าเครื่องซักผ้ามีการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศลดลง เช่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา"
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

+ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 96.8 สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ HDD และ IC โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 และ 5.6 ตามลำดับ โดยสินค้า HDD มีการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตจากประเทศมาเลเซียมายังประเทศไทยทำให้คำสั่งซื้อจากตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor devices transistor, PWB, PCBA และ Printer ลดลงร้อยละ 18.3, 12.8, 3.9 และ 3.7 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดหลักมีการชะลอตัว

+ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 3,234.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้า HDD และ วงจรรวม IC มีมูลค่า 981.4 และ 675.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.64 และ 5.49 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

"คาดการณ์การผลิตเดือนพฤศจิกายน 2562 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีผู้ประกอบการผลิต HDD ย้ายฐานการผลิตจากประเทศมาเลเซียมายังประเทศไทยคำสั่งซื้อจากตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น"

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์
  • การผลิตรถยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2562 มีจำนวน 152,787 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2562 ร้อยละ 9.85 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22.52 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

+ การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนตุลาคม ปี 2562 มีจำนวน 77,121 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2562 ร้อยละ 1.22 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของ ปีก่อน ร้อยละ 11.28 (%YoY) จากการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV และรถยนต์ SUV เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว

  • การส่งออกรถยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2562 มีจำนวน 85,552 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2562 ร้อยละ 12.29 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.34 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงในตลาดโอเชียเนีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ
"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศลดลงจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว"
อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์
          - การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2562           มีจำนวน 161,318 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2562 ร้อยละ 4.30 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.58 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์ และแบบสปอร์ต

+ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2562 มี ยอดจำหน่ายจำนวน 142,434 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2562 ร้อยละ 5.44 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.26 (%YoY) จากการเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี, 111-125 ซีซี, 126-250 ซีซี และ 251-399 ซีซี

  • การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 2562 มีจำนวน 26,057 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2562 ร้อยละ 7.34 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.56 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศ สหราชอาณาจักร เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา
"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ปี 2561"

4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา

การผลิต
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 14.36
  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 13.99 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายยังอยู่ระหว่างปรับตัว หลังจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมยางล้อสูบลม เลขที่ มอก.2721-2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา
  • ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 14.89 เนื่องจากเงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้น จึงไม่สามารถแข่งขันได้
การจำหน่ายในประเทศ

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.12

  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 10.91 ตามการชะลอตัวของตลาด Replacement และผลจากการบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อสูบลม เลขที่ มอก.2721-2560
  • ถุงมือยาง ลดลงร้อยละ 3.51 เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
การส่งออก
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) มีมูลค่าลดลงร้อยละ 22.90 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยปรับลดคำสั่งซื้อลงร้อยละ 48.60

+ ยางรถยนต์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.11 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งขยายตัวร้อยละ 22.87

+ ถุงมือยาง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.33 จากการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม และจีน

คาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2562

การผลิตและจำหน่ายยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากเกิดโรคระบาด (โรคใบร่วงซึ่งเกิดจากเชื้อรา Phytophthora) ในสวนยางทางภาคใต้ ทำให้มีปริมาณยางเข้าสู่ตลาดลดลง สำหรับการผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศคาดว่าจะขยายตัวตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกาและตลาด Replacement ในส่วนของการผลิตถุงมือยางคาดว่าจะชะลอตัวตามภาระต้นทุนที่สูงขึ้น อาทิ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การจำหน่ายถุงมือยางในประเทศคาดว่าจะขยายตัวตามแนวโน้มความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะมีมูลค่าลดลงตามแนวโน้มการชะลอคำสั่งซื้อยางจากไทยของจีน สำหรับการส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยางคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา

5. อุตสาหกรรมพลาสติก

ดัชนีผลผลิต-ดัชนีการส่งสินค้า
  • ดัชนีผลผลิต เดือนตุลาคม 2562 ดัชนีผลผลิต มีค่า 87.47 หดตัวร้อยละ 7.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตหดตัวในหลาย ๆ กลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ หดตัวร้อยละ 29.22 แผ่นฟิล์มพลาสติก หดตัวร้อยละ 27.09 และพลาสติกแผ่น หดตัวร้อยละ 19.42 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ความต้องการสินค้าลดลง
  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนตุลาคม 2562 ดัชนีการส่งสินค้า มีค่า 89.12 หดตัวร้อยละ 10.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ หดตัวร้อยละ 29.74 รองลงมาคือ กระสอบพลาสติก หดตัว ร้อยละ 17.28 และแผ่นฟิล์มพลาสติก หดตัวร้อยละ 16.93
  • การส่งออก เดือนตุลาคม 2562 มีมูลค่า 360.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัว ร้อยละ 2.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีการส่งออกหดตัวสูงที่สุด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์
ปริมาณและมูลค่าการส่งออก-นำเข้า
  • การนำเข้าเดือนตุลาคม 2562 มีมูลค่า 413.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 10.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่ส่งผลให้การนำเข้าหดตัว เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ เทป และรูปทรงแบนอื่น ๆ ชนิด ยึดติดได้ในตัว (HS 3919) หดตัวร้อยละ 12.94 กลุ่มผลิตภัณฑ์ของอื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (HS 3926) หดตัวร้อยละ 15.33 และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (HS 3923) หดตัวร้อยละ 10.29

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก เดือนพฤศจิกายน 2562 คาดการณ์ว่าการผลิตและการส่งออกยังคงหดตัว เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกลดลงทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ

6. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
  • ดัชนีผลผลิต เดือนตุลาคม 2562 มีค่า 103.37 หดตัวร้อยละ 3.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตในกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย หดตัวร้อยละ 6.07 การผลิตหดตัวมากในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมี และกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน ขยายตัวร้อยละ 5.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

+ การจำหน่าย เดือนตุลาคม ปี 2562 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีค่าดัชนีการส่งสินค้า 95.25 ขยายตัวร้อยละ 3.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีการส่งสินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน ขยายตัวร้อยละ 6.27 ขยายตัวจากการผลิตโซดาไฟเป็นหลัก สำหรับกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ดัชนีการส่งสินค้าขยายตัวร้อยละ 2.82 ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สบู่และสารซักฟอก

  • การส่งออก เดือนตุลาคม 2562 มีมูลค่า 702.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐานมีมูลค่าการส่งออก 351.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 16.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลให้มูลค่าการส่งออกหดตัว เคมีภัณฑ์อินทรีย์ หดตัวร้อยละ 28.10 ปุ๋ย หดตัวร้อยละ 25.14 และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ หดตัวร้อยละ 14.05 การส่งออกหดตัวในตลาดหลัก เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย
  • การนำเข้า เดือนตุลาคม 2562 มีมูลค่า 1,226.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าการนำเข้า 757.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 14.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีมูลค่าการนำเข้า 469.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.91 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าหดตัว เช่น เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ และสี เป็นต้น

คาดการณ์แนวโน้มในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์คาดว่าจะชะลอตัว อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอตัว รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกเคมีภัณฑ์ของไทย

7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

+ ดัชนีผลผลิต เดือนตุลาคม ปี 2562 ดัชนีผลผลิต มีมูลค่า 110.87 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติก และสารละลาย ได้แก่ Ethylene และ Toluene ขยายตัวร้อยละ 2.79 และ 0.91 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายจะนำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ PET resin, EPS resin, PS resin และ PE resin ขยายตัวร้อยละ 15.05, 11.57, 8.88 และ 5.87 ตามลำดับ

+ ดัชนีการส่งสินค้า เดือนตุลาคม ปี 2562 ดัชนีการส่งสินค้ามีมูลค่า 111.79 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งสินค้าขยายตัวในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานจะนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติก และสารละลาย ได้แก่ Propylene และ Benzene ขยายตัวร้อยละ 5.34 และ 4.15 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีขั้นปลายจะนำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ SAN resin, PS resin, EPS resin, PET resin และ PE resin ขยายตัวร้อยละ 29.37, 12.69, 11.14, 8.98 และ 1.84 ตามลำดับ

  • การส่งออก เดือนตุลาคม ปี 2562 มีมูลค่า 980.54 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 20.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัว ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตเส้นใยสังเคราะห์ และสารละลาย ได้แก่ Para-Xylene, Terephthalic Acid, Benzene และ Toluene ส่วนผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัว ส่วนใหญ่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และขวดน้ำดื่ม ได้แก่ PE resin, PP resin, PC resin, PVC resin และ PET resin
  • การนำเข้า เดือนตุลาคม ปี 2562 มีมูลค่า 424.84 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 23.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่านำเข้าหดตัว ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต PVC, PE เส้นใยสังเคราะห์ และสารเติ่มแต่งพลาสติก ได้แก่ Vinyl Chloride,Para-Xylene, Ethylene และPhthalic Anhydride ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีมูลค่านำเข้าหดตัว ส่วนใหญ่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก และยางสังเคราะห์ ได้แก่ PE resin, PP resin, BR rubber และ SR rubber

คาดการณ์คาดการณ์แนวโน้มในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 คาดว่าการส่งออกและนำเข้าจะหดตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน

8. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

-

ดัชนีผลผลิต ในเดือนตุลาคม ปี 2562 มีค่า 84.6 ลดลงร้อยละ 17.0 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับลดลงทั้งสองผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 82.8 ลดลง ร้อยละ 16.6 (ลดลง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4) จากการผลิตเหล็กลวด ลดลงร้อยละ 30.4 รองลงมา คือ เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน ลดลงร้อยละ 18.7 และ 18.0 ตามลำดับ ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนในพื้นที่ต่างจังหวัด ขณะที่การก่อสร้างภาครัฐยังคงมีแนวโน้มขยายตัว ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 83.5 ลดลงร้อยละ 21.6 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5) จากการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม ลดลงร้อยละ 37.5 เนื่องจากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น (โดยในเดือนตุลาคม 2562 มีปริมาณนำเข้า 13,703 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 205.4) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลงร้อยละ 31.0 และ 18.6 ตามลำดับ

  • การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนตุลาคม ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 1.6 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรม ผลิตบรรจุภัณฑ์ผลไม้กระป๋อง ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กลดลง ปริมาณการจำหน่ายในประเทศปรับลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการจำหน่าย 0.6 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.0 จากการจำหน่ายเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลงร้อยละ 12.7 ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 1.0 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4.3 โดยการจำหน่ายเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลงร้อยละ 29.5 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบางรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ทั้งชนิด HDG และ EG ลดลงร้อยละ 16.6 และ 7.2 ตามลำดับ

+ การนำเข้า ในเดือนตุลาคม ปี 2562 มีปริมาณนำเข้า 1.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีปริมาณนำเข้า 0.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จากการนำเข้าเหล็ก แผ่นหนารีดร้อน ประเภท Alloy Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 587.0 (ประเทศหลักที่นำเข้าเพิ่มขึ้น คือ จีน) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดเย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 205.4 และ 124.2 ตามลำดับ แต่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีปริมาณนำเข้า 0.3 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.9 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ประเภท Carbon Steel ลดลงร้อยละ 56.3 (ประเทศหลักที่นำเข้าลดลง คือ ญี่ปุ่น) รองลงมา คือ เหล็กเส้น ประเภท Alloy Steel และ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ลดลงร้อยละ 42.7 และ 28.6 ตามลำดับ

"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนพฤศจิกายน 2562 คาดการณ์ว่า การผลิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนในพื้นที่ต่างจังหวัด ขณะที่การก่อสร้างภาครัฐยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอยู่"

9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต

+ เส้นใยสิ่งทอ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.20 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิตเส้นใยประดิษฐ์เพื่อรองรับการส่งออกไปยังตลาดจีนที่มีการขยายตัว

  • ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 13.55 และ 12.39 เนื่องจากแนวโน้มคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่ลดลง รวมถึงความต้องการบริโภคในประเทศที่ลดลง จึงทำให้ผู้ประกอบการลดการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำที่จะเป็นสต๊อกสินค้า
การจำหน่ายในประเทศ
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 14.25 13.95 และ 23.16 ตามลำดับ เนื่องจากมีความต้องการวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตสินค้าทั้งเพื่อการส่งออกและการบริโภค ในประเทศลดลง ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศลดลง
การส่งออก
  • เส้นใยสิ่งทอ มูลค่าลดลง ร้อยละ 15.66 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้การสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตสินค้าลดลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ไปยังตลาดจีนขยายตัวได้ ร้อยละ 11.11 จากการบริโภคภายในของจีน

+ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป มูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.37 และ 3.00 จากการส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดเวียดนาม และกัมพูชาขยายตัว รวมถึงการขยายตัวของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปสุภาพบุรุษและสตรี ไปยังตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

คาดการณ์แนวโน้มเดือนพฤศจิกายน 2562

ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน จะชะลอตัวตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้การค้า การลงทุน ในตลาดดังกล่าวชะลอตัวมีผลต่อภาคการผลิตซึ่งจะทำให้มีความต้องการวัตถุดิบจากไทยลดลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวได้ในกลุ่มที่สามารถยกระดับไปรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างประเทศ

10. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม

+ การผลิตปูวมในเดือนตุลาคมปี 2562 มีจำนวน 7.21 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2562 ร้อยละ 5.63 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.86 (%YoY)

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนตุลาคม ปี 2562 มีปริมาณการจำหน่าย 2.83 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2562 ร้อยละ 2.00 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.45 (%YoY) จากการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและความต้องการซ่อมแซม ที่อยู่อาศัยหลังจากเกิดภาวะน้ำท่วมในช่วงเดือนก่อนหน้า

  • การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนตุลาคมปี 2562 มีจำนวน 0.96 ล้านตัน ลดลงจากเดือนกันยายน ปี 2562 ร้อยละ 25.19 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 43.55 (%YoY) เนื่องจากตลาดส่งออกหลักอย่างประเทศบังคลาเทศและจีน ปรับลดคำสั่งซื้อเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 70.68 และ 74.79 ตามลำดับ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดในประเทศ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ การแข็งค่าของเงินบาท ผลกระทบต่อรายได้จากการเลิกจ้างงาน เป็นต้น

อุตสาหกรรมซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)

+ การผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนตุลาคม ปี 2562 มีจำนวน 3.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2562 ร้อยละ 3.56 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.69 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ภายในประเทศเดือนตุลาคม ปี 2562 มียอดจำหน่ายจำนวน 2.83 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2562 ร้อยละ 2.36 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.45 (%YoY)

+ การส่งออกซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนตุลาคม ปี 2562 มีจำนวน 0.56 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ปี 2562 ร้อยละ 23.76 (%MoM) และเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 54.39 (%YoY) ซึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มคำสั่งซื้อของประเทศกัมพูชา และเมียนมา โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 107.85 และ 68.92 ตามลำดับ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดในประเทศ และการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐรวมทั้งการปรับเพิ่มคำสั่งซื้อจากตลาดส่งออกหลักอย่างประเทศกัมพูชาและเมียนมาอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ