ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนกุมภาพันธ์ 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 22, 2020 14:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)หดตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) เดือนพฤศจิกายน 2562 การผลิตหดตัว ร้อยละ 8.0 เดือนธันวาคมหดตัวร้อยละ 4.4 และเดือนมกราคม 2563 หดตัวร้อยละ 4.0

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2562 และเดือนมกราคม 2563 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนพฤศจิกายนขยายตัว ร้อยละ 1.0 เดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 1.8 และเดือนมกราคม 2563 ขยายตัวร้อยละ 5.1

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2563 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ

  • รถยนต์ และเครื่องยนต์ หดตัวร้อยละ 18.9 จากตลาดส่งออกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนตลาดในประเทศผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย
  • น้ำตาล หดตัวร้อยละ 36.6 จากปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณอ้อยที่เข้าหีบลดลง
  • ยางล้อ หดตัวร้อยละ 23.0 จากการที่ผู้ผลิตบางรายปิดสายการผลิตบางส่วนตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

  • ยา เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.4 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายขาดวัตถุดิบเพื่อผลิตในเดือนก่อนจึงเร่งผลิตและส่งมอบให้ลูกค้าในเดือนนี้แทน รวมถึงในปีก่อนมีปัญหาเครื่องจักรชำรุดและปัญหาคุณภาพน้ำที่ใช้ในการผลิตทำให้ผลิตได้น้อยกว่าปกติ
  • อาหารทะเลแช่แข็ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5 จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะปลาแช่แข็ง และเนื้อปลาบด จากความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการและกักตุนสินค้าเพิ่มขึ้น

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนกุมภาพันธ์ 2563

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย
  • การนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีมูลค่า 1,140.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยหดตัวจากเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องสูบลม เครื่องสูบของเหลว เครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ เครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ และเครื่องจักรในอุตสาหกรรมการพิมพ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การนำเข้าเครื่องจักรบางรายการยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ใช้ในการแปรรูปยาง หรือพลาสติก เครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะ และส่วนประกอบ
  • การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีมูลค่า 6,021.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวจากสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ประเภทเหล็กแผ่นรีดทำด้วยเหล็กกล้าเจืออื่น ๆ เคมีภัณฑ์ ประเภทเคมีภัณฑ์อนินทรีย์และเม็ดพลาสติก ปุ๋ย และ ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม
  • โรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 165 โรงงาน ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 25.0 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 34.0 (%YoY)
  • มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีมูลค่ารวม 8,134 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 22.6 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 46.0 (%YoY)
"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม จำนวน 16 โรงงาน รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน จำนวน 15 โรงงาน"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คือ อุตสาหกรรมการทำชิ้นส่วนพิเศษหรืออุปกรณ์สำหรับรถยนต์ หรือรถพ่วง จำนวนเงินทุน 1,583.00 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมการทำฝอยไม้ การบด ป่น หรือย่อยไม้ จำนวนเงินทุน 1,101.50 ล้านบาท

+ จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 71 ราย ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 13.4 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 60.6 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีมูลค่ารวม 16,879 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 800.2 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.3 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่มีการเลิกประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คือ อุตสาหกรรม การขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน จำนวน 9 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการดูดทราย จำนวน 5 โรงงาน

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คือ อุตสาหกรรมการอบใบยาสูบให้แห้ง หรือการรูดก้านใบยาสูบ มูลค่าเงินลงทุน 14,789 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการพิมพ์ การทำแฟ้มเก็บเอกสาร การเย็บเล่ม ทำปก หรือตบแต่งสิ่งพิมพ์ มูลค่าเงินลงทุน 985 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนกุมภาพันธ์ 2563

1. อุตสาหกรรมอาหาร
  • การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.6 (%YoY) ปัจจัยหลักมาจากผลกระทบของสถานการณ์ภัยแล้ง แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก ส่งออก ที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง อาทิ น้ำตาลทราย ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 36.6 โดยมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 16.7 ในตลาดหลักอย่างตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน และสับปะรดกระป๋อง ดัชนีปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.9 ด้วยวัตถุดิบที่ลดลงทำให้ระดับราคาปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.4 จากตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และซาอุดิอาระเบีย รวมทั้ง แป้งมันสำปะหลัง ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 7.3 จากภัยแล้ง ประกอบกับเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งสินค้าในสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัส Covid-19 ในจีน และอีกหลายประเทศ ส่งผลให้มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 39.3 ในตลาดหลักอย่างจีน อินโดนีเซีย และไต้หวัน

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ ที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง คือ น้ำมันปาล์มปรับตัวลดลงร้อยละ 28.1

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารได้รับอานิสงค์จากการระบาดของไวรัส Covid-19 ส่งผลดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการสินค้า เพื่อเป็นการสำรองอาหารทั้งในและต่างประเทศ ดังนี้ 1) อาหารสำเร็จรูป อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทูน่ากระป๋อง ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.3 และ 3.5 ตามลำดับ 2) อาหารสดแช่เย็นแช่แข็ง อาทิ ปลาแช่แข็ง และกุ้งแช่แข็ง ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 47.5 และ 6.4 รวมทั้ง การผลิตอาหารสำเร็จรูปสำหรับปศุสัตว์ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0

+ การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหาร ในประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.3 ตามความต้องการสำรองอาหาร จากความกังวลของการระบาดของโรคไวรัส Covid-19

  • ตลาดส่งออก ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ร้อยละ 6.3 โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว (ข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (แป้งมันสำปะหลัง) น้ำตาลทรายดิบ รวมทั้ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง (ลำไยสด ทุเรียนสด กล้วยสด อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อาหารสดแช่เย็นแช่แข็ง (ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง) อาหารสำเร็จรูป (ซาร์ดีนกระป๋อง และทูน่ากระป๋อง) และสิ่งปรุงรส ขยายตัวเพิ่มขึ้น เพี่อสต๊อกสินค้าจากความกังวลต่อสถานการณ์การระบาด

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนมีนาคม ปี 63 อาจจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยลบอย่างปริมาณวัตถุดิบสินค้าเกษตรลดลง เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และสับปะรด รวมทั้งผลกระทบจากโรคไวรัส Covid-19 ที่ระบาดรุนแรงไปทั่วโลก อาจส่งผลให้อาหารบางชนิด เช่น ทุเรียนสด ลำไยสด และกล้วย ชะลอตัวเนื่องจากอายุการเก็บรักษาสั้น ไม่สามารถสต๊อกได้นาน แต่อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป/ผลิตภัณฑ์ข้าว) เครื่องดื่ม และอาหารกระป๋องต่าง ๆ (ผลไม้กระป๋อง/ ผักกระป๋อง และอาหารทะเลกระป๋อง) รวมทั้ง มันเส้น มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นหรือเร่งการส่งมอบสินค้าให้เร็วขึ้น เพื่อรองรับการระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

+ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าปรับตัวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า หม้อหุงข้าว สายเคเบิ้ล สายไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นและคอมเพรสเซอร์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7, 25.0, 21.5, 10.2, 6.8, 5.0 และ 0.4 ตามลำดับ โดยเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น มีการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนสายเคเบิ้ลและหม้อหุงข้าวมีการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น หม้อแปลงไฟฟ้ามีการผลิตเพื่อทดแทนสินค้าคงคลังและการส่งออกเพิ่มขึ้น และคอมเพรสเซอร์มีการผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องซักผ้า เตาอบไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน มอเตอร์ไฟฟ้า และพัดลมตามบ้าน ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.7, 18.4, 8.3, 3.8 และ 3.1 ตามลำดับ โดยกระติกน้ำร้อน มีการผลิตลดลงเนื่องจากมีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง มอเตอร์ไฟฟ้าและพัดลมตามบ้านมีการผลิตลดลงเนื่องจากมีคำสั่งซื้อสินค้าจากตลาดต่างประเทศลดลง ส่วนเครื่องซักผ้าและเตาอบไมโครเวฟมีการผลิตลดลงเนื่องจากมีการจำหน่ายตลาดในประเทศและต่างประเทศลดลง

  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,964.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 จากตลาดหลักที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อาเซียนและยุโรป โดยสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ มีมูลค่า 76.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 39.9 ในขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกา มีการสั่งซื้อเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มีมูลค่า 503.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ตู้เย็นเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่า 132.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 2.5
"คาดการณ์การผลิตเดือนมีนาคม 2563 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 4.8 เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มีการระบาดไปทั่วโลกทำให้เกิดการหยุดชะงักของภาคการผลิตในประเทศต้นทางและส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบชั้นกลางของไทยลดลง เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาสินค้าวัตถุดิบชั้นกลางจากหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มหยุดการผลิตบางส่วนจากมาตรการควบคุมโรค"
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

+ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 91.9 สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ PCBA, IC และ HHD โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6, 1.9 และ 0.5 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ Printer โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 22.2 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการสินค้าของตลาดในประเทศและต่างประเทศลดลง

  • การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,628.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้า HDD มีมูลค่า 889.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 ในตลาดจีน อาเซียน และยุโรป ส่วน IC มีมูลค่า 525.4 ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.9 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกาและจีน มีคำสั่งซื้อลดลง
"คาดการณ์การผลิตเดือนมีนาคม 2563 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกทำให้กำลังการผลิตของซัพพลายเออร์บางรายลดลง แต่ยังสามารถผลิตต่อได้จากการสต๊อกสินค้าและชิ้นส่วนเหลือพอสำหรับผลิต-ส่งขายถึงเดือนเมษายน 2563 หากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเป็นต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อ Supply Chain ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ด้านกระบวนการผลิตและส่งมอบสินค้ามากขึ้นและจะส่งผลกระทบถึงการจ้างงานในประเทศได้"

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์
  • การผลิตรถยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีจำนวน 150,604 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม ปี 2563 ร้อยละ 3.62 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.73 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
  • การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีจำนวน 68,271 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม ปี 2563 ร้อยละ 4.77 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.07 (%YoY) จากการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV และรถยนต์ SUV เนื่องจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ปัญหาภัยแล้ง การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า และการแข็งของค่าเงินบาท รวมทั้ง การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

+ การส่งออกรถยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีจำนวน 95,191 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2563 ร้อยละ 45.79 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.33 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ และอเมริกากลางและใต้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว รวมทั้ง การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนมีนาคม ปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ปี 2562 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวรวมทั้ง การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19"
อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์
  • การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีจำนวน 161,644 คัน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนมกราคม ปี 2563 ร้อยละ 0.93 (%MoM) และลดลงเล็กน้อยจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.04 (%YoY) จากการลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มียอดจำหน่ายจำนวน 138,998 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม ปี 2563 ร้อยละ 4.13 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.37 (%YoY)จากการลดลงของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี และ 111-125 ซีซี

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีจำนวน 35,588 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2563 ร้อยละ 12.66 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.13 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเมียนมา

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม ปี 2563 จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ปี 2562 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวรวมทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19"

4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา

การผลิต
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 1.53
  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 30.52 เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่รายหนึ่งของไทยปรับลดปริมาณการผลิตลง เพื่อลดค่าใช้จ่ายตามนโยบายของบริษัท

+ ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.69 เนื่องจากสถานการณ์โควิค-19 ทำให้มีความต้องการใช้ทางการแพทย์สูงขึ้น

การจำหน่ายในประเทศ

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.08 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นใน ผลิตภัณฑ์น้ำยางข้นสำหรับใช้ในการผลิตถุงมือยาง

+ ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.94 ตามการขยายตัวของตลาด Replacement ในประเทศ

+ ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.56 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ทางการแพทย์ที่สูงขึ้น

การส่งออก

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.24 จากการขยายตัวของการส่งออกยางทุกชนิดโดยเฉพาะในส่วนของน้ำยางข้นที่ขยายตัวร้อยละ 21.37 จากการส่งออกไปยังตลาดจีนที่เพิ่มขึ้น

+ ยางรถยนต์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.99 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งขยายตัวร้อยละ 22.17

+ ถุงมือยาง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.35 จากการขยายตัวของตลาดจีนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้จีนมีความต้องการใช้สูงขึ้นมาก และตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย

คาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2563

การผลิตและจำหน่ายยางแปรรูปขั้นปฐม คาดว่าจะปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในสินค้ายางแปรรูปขั้นปฐมอยู่ระหว่างรับมือกับปัญหาโรคระบาดในประเทศ จึงสั่งปิดท่าเรือหลายแห่ง ทำให้ผู้ประกอบการไทยส่งสินค้าไปยังจีนได้ยากขึ้น บางรายต้องเลื่อนการส่งสินค้าออกไป และมีต้นทุนการขนส่งสินค้าที่สูงขึ้น สำหรับการผลิตยางรถยนต์คาดว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มการหดตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในขณะที่การจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากตลาด Replacement มีทิศทางการขยายตัวที่ดี ในส่วนของการผลิตและจำหน่ายถุงมือยางในประเทศคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีความต้องการใช้ทางการแพทย์สูงขึ้น จึงมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม คาดว่าจะมีมูลค่าลดลง เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ยังยืดเยื้อ ทำให้จีนประกาศเลื่อนการเปิดท่าเรือจากช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 เป็นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนมิถุนายน 2563 แทน สำหรับการส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยางคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามความต้องการสินค้ายางรถยนต์จากไทยเพื่อทดแทนสินค้าจากจีน และตลาดสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี

5. อุตสาหกรรมพลาสติก

ดัชนีผลผลิต-ดัชนีการส่งสินค้า
  • ดัชนีผลผลิต เดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีค่าดัชนีผลผลิต อยู่ที่ระดับ 90.18 หดตัวร้อยละ 1.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตหดตัวในหลาย ๆ กลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น แผ่นฟิล์มพลาสติก หดตัวร้อยละ 19.50 เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ หดตัวร้อยละ 13.73 และกระสอบพลาสติก หดตัวร้อยละ 10.98 เนื่องจากเกิดภัยแล้งส่งผลต่อผลผลิตภาคการเกษตรทำให้ความต้องการกระสอบพลาสติกลดลง
  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนกุมภาพันธ์ 2563 อุตสาหกรรมพลาสติกมีค่าดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 90.03 หดตัวร้อยละ 3.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีการส่งสินค้าหดตัวในกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มพลาสติก หดตัวร้อยละ 20.92 รองลงมาคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำหดตัวร้อยละ 17.79 และกระสอบพลาสติก หดตัวร้อยละ 17.26

+ การส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีมูลค่า 354.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 8.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์พลาสติก ที่มีการส่งออกขยายตัวสูงที่สุด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (HS 3919) ขยายตัวร้อยละ 116.49 และ กลุ่มผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (HS 3916) ขยายตัวร้อยละ 100.49 และการส่งออกขยายตัวในตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ เวียดนาม และจีน

ปริมาณและมูลค่าการส่งออก-นำเข้า
  • การนำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีมูลค่า 303.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 8.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่ส่งผลให้การนำเข้าหดตัว เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสุขภัณฑ์ (HS 3922) หดตัวร้อยละ 66.44 กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน (HS 3924) หดตัว ร้อยละ 43.24 และกลุ่มผลิตภัณฑ์เส้นใยยาวเดี่ยว (HS 3916) หดตัว ร้อยละ 41.28
          แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก เดือนมีนาคม 2563 คาดการณ์ว่าการผลิตจะยังคงหดตัว สำหรับการส่งออกจะขยายตัว  อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น สถานการณ์ไวรัส        โควิด - 19 ที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อการผลิตพลาสติกประเภท single use บางประเภท

6. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

+ ดัชนีผลผลิต เดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ระดับ 93.80 ขยายตัวร้อยละ 0.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน ขยายตัวร้อยละ 12.89 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตขยายตัวสูงสุด ได้แก่ การผลิตเอทานอล ขยายตัวร้อยละ 23.29 เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จึงมีความต้องการนำเอทานอลมาผลิตเจลล้างมือเพิ่มขึ้น สำหรับเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย หดตัวร้อยละ 4.12 ตามลำดับ

+ ดัชนีการส่งสินค้า เดือนกุมภาพันธ์ 2563 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีค่าดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 86.76 ขยายตัวร้อยละ 1.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีการส่งสินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน ขยายตัวร้อยละ 10.70 ขยายตัวสูงสุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เอทานอล สำหรับกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ดัชนีการส่งสินค้าหดตัวร้อยละ 0.91 จากการหดตัวในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก

  • การส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีมูลค่า 634.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าการส่งออก 329.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.08 สำหรับเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่าการส่งออก 304.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 15.07 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกหดตัว เช่น เครื่องสำอาง หดตัวร้อยละ 31.09 และเคมีภัณฑ์อินทรีย์ หดตัวร้อยละ 18.99 การส่งออกหดตัวในตลาดหลัก เช่น จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย
  • การนำเข้า เดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีมูลค่า 1,062.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 10.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าการนำเข้า 653.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.73 สำหรับเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีมูลค่าการนำเข้า 408.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 14.11 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าหดตัว เช่น ปุ๋ย เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์และสี

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เดือนมีนาคม 2563 การผลิตคาดว่าจะขยายตัว สำหรับการส่งออกจะหดตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง (สงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย)

7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  • ดัชนีผลผลิต เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 91.74 หดตัวร้อยละ 9.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่ใช้เป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้แก่ Ethylene, Propylene และBenzene หดตัวร้อยละ 18.18, 15.63 และ 3.06 ตามลำดับ และปิโตรเคมีขั้นปลายในกลุ่มที่นำไปใช้ผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตโฟม ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก และขวดน้ำดื่ม ได้แก่ PS resin, PE resin, EPS resin และ PET resin หดตัวร้อยละ 33.01, 12.48, 6.50 และ 1.39 ตามลำดับ
  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 95.53 หดตัวร้อยละ 13.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่ใช้เป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้แก่ Propylene, Benzene และ Ethylene หดตัวร้อยละ 18.18, 14.14 และ 6.15 ตามลำดับ และปิโตรเคมีขั้นปลายในกลุ่มที่นำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่น ABS resin, PE resin, PS resin และ SAN resin เป็นต้น หดตัวร้อยละ 24.68, 21.19, 19.54 และ 13.02 ตามลำดับ
  • การส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีมูลค่า 863.93 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 16.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวของปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน ที่ใช้เป็นตัวทำละลาย และสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เช่น Para-Xylene, Terephthalic Acid, และ Toluene เป็นต้น และปิโตรเคมีขั้นปลายที่นำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตขวดน้ำดื่ม เช่น PE resin, PP resin, PC resin และ PET resin เป็นต้น
  • การนำเข้า เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีมูลค่า 400.25 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 11.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในกลุ่มปิโตรเคมีขั้นปลายที่นำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก และยางสังเคราะห์ เช่น PE resin, PP resin, Nylon resin และ BR rubber เป็นต้น ส่วนการนำเข้า ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานมีการขยายตัวในกลุ่มที่นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต PVC ผลิตโพลีเอสเทอร์เรซิน และสารตั้งต้นของอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีอื่น ๆ เช่น Vinyl Chloride, Ethylene Glycol และ Propylene เป็นต้น

คาดการณ์แนวโน้ม เดือนมีนาคม ปี 2563 คาดว่า การส่งออกภาพรวมจะยังคงชะลอตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกในหมวดน้ำมันและปิโตรเคมีลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อาจจะส่งผลให้ความต้องการปิโตรเคมีขั้นปลายสำหรับนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องในทางการแพทย์สูงขึ้น เช่น หน้ากากอนามัย กระบังป้องกันหน้า (Face Shield) แว่นตานิรภัย ถุงมือยาง รองเท้าบู๊ท เป็นต้น

8. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีค่า 88.6 ลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบน จากการชะลอตัวของการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ ตามการชะลอตัวของสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 90.1 ลดลงร้อยละ 1.1 จากการผลิตเหล็กเส้นกลม ลดลงร้อยละ 27.1 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) รองลงมา คือ ลวดเหล็ก และเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ 12.7 และ 7.9 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 84.6 ลดลงร้อยละ 5.0 จากการผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงร้อยละ 47.3 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลงร้อยละ 6.4 และ 4.5 ตามลำดับ

+ การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายเพิ่มขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณการจำหน่าย 0.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากการจำหน่ายเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรีดร้อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 ผลิตภัณฑ์

ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณการจำหน่าย 0.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากการบริโภคเหล็กแผ่นบางรีดร้อนและเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 และ 6.1 ตามลำดับ

  • การนำเข้า ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีปริมาณนำเข้า 0.7 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 23.7 (ลดลง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนการนำเข้าลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณนำเข้า 0.1 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 39.8 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรีดร้อน ประเภท Carbon Steel ลดลงร้อยละ 77.7 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้าลดลง คือ ญี่ปุ่น) รองลงมา คือ เหล็กลวด ประเภท Alloy Steel และท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ลดลงร้อยละ 51.0 และ 36.5 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณนำเข้า 0.6 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 18.1 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นหนารีดร้อน ประเภท Alloy Steel ลดลงร้อยละ 77.5 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้าลดลง เช่น จีน และญี่ปุ่น) รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลงร้อยละ 67.2 และ 45.5 ตามลำดับ
"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมีนาคม 2563 คาดการณ์ว่า การผลิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีประเด็นที่น่าติดตาม เช่น สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ไวรัสโควิค-19 และโครงการก่อสร้างภาครัฐ ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะยาว เช่น โครงการพัฒนาผังเมืองของกรมทางหลวงชนบท โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อการผลิต และบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศ"

9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต

+ เส้นใยสิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.16 และ 3.51 (YoY) ส่วนหนึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อนำไปใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย เนื่องจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งความต้องการมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

  • ผ้าผืน ลดลง ร้อยละ 6.42 (YoY) 42 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศมีแนวโน้มลดลงการจำหน่ายในประเทศ
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 2.02 3.71 และ 26.79 (YoY) เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบเพื่อการส่งออกลดลง รวมถึงกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว การส่งออก
  • เส้นใยสิ่งทอ มูลค่าลดลง ร้อยละ 2.40 (YoY) โดยเฉพาะตลาดหลักอันดับ 1 อย่างจีน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้โรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มหลายแห่งปิดทำการ ส่งผลให้การส่งออกเส้นใยสิ่งทอของไทยลดลง

+ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.95 และ 3.52 (YoY) โดยตลาดผ้าผืนที่ขยายตัวได้แก่ เวียดนาม บังคลาเทศ และเมียนมา ซึ่งมีการสั่งซื้อจากไทยทดแทนการนำเข้าผ้าผืนจากจีน ด้านการส่งออกเสื้อผ้าบุรุษและสตรีไปยังสหภาพยุโรปยังคงขยายตัว นอกจากนี้เกาหลีใต้ มีการสั่งซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากไทยทดแทนการสั่งจากจีนซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤตของการระบาดของโรค COVID-19

คาดการณ์แนวโน้มเดือนมีนาคม 2563

ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ จะขยายตัวเพื่อรองรับการความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ ส่วนผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป อาจชะลอตัวเนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19

10. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม

+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีจำนวน 6.65 ล้านตัน ลดลงจากเดือนมกราคม ปี 2563 ร้อยละ 4.90 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.93 (%YoY)

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 2.87 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2563 ร้อยละ 2.61 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.74 (%YoY)

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีจำนวน 1.27 ล้านตัน ลดลงจากเดือนมกราคม ปี 2563 ร้อยละ 7.01 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.40 (%YoY) เนื่องจากตลาดส่งออกหลักหลายประเทศปรับเพิ่มคำสั่งซื้อเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังคลาเทศ เมียนมา และกัมพูชา

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมเดือนมีนาคม ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เริ่มมีแนวโน้มทรงตัวเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค และส่งผลต่อความไม่มั่นใจในการขยายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ของผู้ประกอบการ

อุตสาหกรรมซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)

+ การผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีจำนวน 3.20 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2563 ร้อยละ 3.41 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.04 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 2.87 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2563 ร้อยละ 2.61 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.74 (%YoY)

+ การส่งออกซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีจำนวน 0.49 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2563 ร้อยละ 0.71 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.71 (%YoY) เป็นผลจากการปรับเพิ่มคำสั่งซื้อของประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา และกัมพูชา

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมีนาคม ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อาจจะเริ่มมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค และส่งผลต่อความไม่มั่นใจในการขยายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ของผู้ประกอบการ

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ