ภาวะอุตสาหกรรมทองแดงปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2009 15:08 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

! ในปี 2551 สถานะการณ์ราคาทองแดงขั้นต้นในตลาดโลกมีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับแร่โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก (Non-ferrous) ชนิดอื่น แต่ในช่วงปลายปี ขณะที่ราคาแร่โลหะชนิดอื่นเริ่มตกลงอย่างรวดเร็ว ทองแดงยังคงรักษาระดับราคาที่สูงอยู่ได้ จนเข้าสู่ ไตรมาสที่ 4 ของปี ที่ราคาของทองแดงขั้นต้นจึงได้เริ่มลดระดับอย่างรวดเร็วตามแนวโน้มของราคาแร่โลหะอื่นๆ ในตลาดโลก

! ราคาเฉลี่ยของทองแดงขั้นต้นในปี 2551 เท่ากับ 6,963.48 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน มีราคาเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในเดือนเมษายน เท่ากับ 8,714.18 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน และลดลงต่ำสุดในเดือนธันวาคมที่ราคาเฉลี่ย 3,105.10 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน

ภาวะทองแดงในตลาดโลก

! การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ผลิตขนาดใหญ่ ทั้งสี่ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย จีน และอินเดีย (Brazil, Russia, China, India : BRIC) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ที่นอกจากจะมีผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างมากแล้ว การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศเหล่านั้นเอง ได้ส่งผลให้มีการบริโภคในประเทศมากขึ้น นำมาซึ่งรายได้ของประชากรที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ได้สร้างอุปสงค์ต่อสินค้าอุปโภคและบริโภคพื้นฐาน(Commodities) ให้เพิ่มมากขึ้น และฉุดให้ราคาของสินค้าเหล่านั้น เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ทองแดงเป็นสินค้าอุปโภคพื้นฐาน (Commodity) ที่มีความจำเป็นในการขยายตัวของเศรษฐกิจ ด้วยคุณสมบัติที่สำคัญต่างๆ ของทองแดง เช่น เป็นตัวนำไฟฟ้าและนำความร้อนที่ดี ไม่จับสนิมยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย เหล่านี้ ทำให้ทองแดงได้รับความนิยมและนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับสินค้าสำเร็จรูปที่จำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ต่างๆ มากมาย

London Metal Exchange ได้จำแนกสัดส่วนการใช้งานทองแดงในอุตสาหกรรมต่างๆ ไว้ดังนี้ คือ

  • อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 42
  • อุตสาหกรรมก่อสร้าง ร้อยละ 28
  • อุตสาหกรรมขนส่ง ร้อยละ 12
  • อุตสาหกรรมเครื่องอุปโภค ร้อยละ 9
  • อุตสาหกรรมเครื่องมือและเครื่องจักร ร้อยละ 9

ปริมาณการผลิตโลก!

ตารางที่ 1: ปริมาณการผลิตทองแดงขั้นต้นของโลก จากประเทศผู้ผลิต 10 อันดับแรก
                       ปี 2550         ปี 2551
          ชิลี            5,560           5600
          เปรู           1,190           1220
          สหรัฐอเมริกา    1,170           1310
          จีน              946           1000
          ออสเตรเลีย       870            850
          อินโดนีเซีย        797            650
          รัสเซีย           740            750
          แคนาดา          589            590
          แซมเบีย          520            560
          คาซัคสถาน        407            460

ที่มา: U.S.Geological Survey Yearbook & & & & & หน่วย: พันเมตริกตัน

ด้วยราคาทองแดงขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นสูงติดต่อกันในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตในหลายประเทศต่างประกาศขยายการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ผลผลิตโดยรวมของทองแดงขั้นต้นทั่วโลกกลับน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2550 ด้วยปัญหาต่างๆ ของการผลิตทองแดงที่เกิดทั่วโลก เช่นปัญหาแรงงานในละตินอเมริกา ปัญหาแร่ที่ได้มีคุณภาพต่ำ การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อความพยายามเพิ่มผลผลิตของผู้ผลิตทองแดงขั้นต้นทั้งหลาย

นอกจากนั้นแล้วปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาทำให้ผู้ผลิตบางส่วน ทั้งในสหรัฐอเมริกาเอง และผู้ผลิตในภูมิภาคอื่นๆ ต้องทบทวนแผนการขยายการผลิตทองแดงของตน ทำให้การผลิตทองแดงขั้นต้นโดยรวมทั้งปีมีการขยายตัวจากปี 2550 เพียงเล็กน้อย

ภาวะสินค้าทองแดงในประเทศไทย

การนำเข้า

ในปี 2551 ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าหมวดทองแดง (HS: 74) จำนวนทั้งสิ้น 426,766 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,569 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 2.62 ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้าทองแดงมากที่สุด 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และลาว โดยมีสัดส่วนการนำเข้า คิดเป็นร้อยละ 21.96, 12.74 และ 9.98 ตามลำดับ

สินค้าที่มีปริมาณการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่

  • HS: 7403 ทองแดงบริสุทธิ์ และทองแดงเจือที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) มีปริมาณการนำเข้ารวม 271,685 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 63.66 ของปริมาณสินค้าทองแดงที่มีการนำเข้าทั้งหมด และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 7.64 ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้าทองแดงและทองแดงเจือที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปเป็นปริมาณมากที่สุด คือ ลาว อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
  • HS: 7409 แผ่น แผ่นบางและแถบ ทำด้วยทองแดง มีความหนาเกิน 0.15 มิลลิเมตร มีปริมาณการนำเข้ารวม 44,694 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10.47 ของปริมาณสินค้าทองแดงที่มีการนำเข้าทั้งหมด และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 14.14 ประเทศที่ไทยนำเข้าทองแดงแผ่นเป็นปริมาณมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน
  • HS: 7408 ลวดทองแดง มีปริมาณการนำเข้ารวม 35,995 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 8.43 ของปริมาณสินค้าทองแดงที่มีการนำเข้าทั้งหมด การนำเข้าลวดทองแดงได้หดตัวลงร้อยละ 3.38 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ประเทศที่ไทยนำเข้าลวดทองแดงเป็นปริมาณมากที่สุด คือ อินโดนีเซีย ไต้หวัน และอินเดีย

สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่

HS: 7403 ทองแดงบริสุทธิ์ และทองแดงเจือที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) มีมูลค่าการนำเข้าโดยรวม 2,049 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าร้อยละ 54.42 และมีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 6.34 ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้าทองแดงและทองแดงเจือที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปเป็นมูลค่าสูงสุด คือ ลาว อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย โดย สามประเทศนี้ถือครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 48 ของการนำเข้าทองแดงที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปทั้งหมดของไทย

HS: 7409 แผ่น แผ่นบางและแถบ ทำด้วยทองแดง มีความหนาเกิน 0.15 มิลลิเมตร มีมูลค่าการนำเข้าโดยรวม 458 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าร้อยละ 12.82 และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 18.03 ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้าทองแดงแผ่นเป็นมูลค่าสูงสุด คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา โดยสามประเทศนี้ถือครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 78 ของการนำเข้าทองแดงแผ่นทั้งหมดของไทย

HS: 7408 ลวดทองแดง มีมูลค่าการนำเข้าโดยรวม 290 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าร้อยละ 8.12 และมูลค่าการนำเข้าทองแดงได้หดตัวลงถึงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ประเทศที่ไทยนำเข้าลวดทองแดงเป็นมูลค่าสูงสุด คือ อินโดนีเซีย ไต้หวัน และอินเดีย ซึ่งสามประเทศนี้ถือครองส่วนแบ่งตลาดถึงกว่าร้อยละ 66 ของการนำเข้าลวดทองแดงทั้งหมดของไทย

การส่งออก

ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าหมวดทองแดง (HS: 74) ในปี 2551 จำนวนทั้งสิ้น 158,803 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,004 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกได้ปรับลดลงจากเมื่อปีก่อนหน้านี้ประมาณร้อยละ 40.44 ประเทศที่ไทยส่งสินค้าทองแดงออกไปขายเป็นมูลค่ามากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และจีนโดยมีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 18.73, 14.48 และ 9.28 ตามลำดับ

สินค้าที่มีปริมาณการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

HS: 7404 เศษและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นทองแดง มีปริมาณการส่งออกรวม 76,378 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 48.1 ของปริมาณสินค้าทองแดงที่ไทยมีการส่งออกทั้งหมด ปริมาณการส่งออกเศษทองแดงของไทยได้หดตัวลงร้อยละ 27.86 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ประเทศที่ไทยส่งออกเศษทองแดงเป็นปริมาณมากที่สุด คือ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน

HS: 7411 หลอดหรือท่อทำด้วยทองแดง มีปริมาณการส่งออกรวม 24,178 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 15.22 ของปริมาณสินค้าทองแดงที่ไทยมีการส่งออกทั้งหมด ปริมาณการส่งออกท่อทองแดงของไทยได้หดตัวลงมากถึงร้อยละ 40.87 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ประเทศที่ไทยส่งออกท่อทองแดงเป็นปริมาณมากที่สุด คือ มาเลเซีย อินเดีย และสาธารณรัฐเชค

HS: 7407 ท่อน เส้น และโพรไฟล์ ทำด้วยทองแดง มีปริมาณการส่งออกรวม 19,585 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 12.33 ของปริมาณสินค้าทองแดงที่ไทยมีการส่งออกทั้งหมด มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 1.97 ประเทศที่ไทยส่งออกเส้นและโพรไฟล์ทองแดงเป็นปริมาณมากที่สุด คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย และมาเลเซีย

สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

HS: 7404 เศษและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นทองแดง มีมูลค่าการส่งออกรวม 337 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.61 ของการส่งออกทองแดงทั้งหมดของไทย และมูลค่าการส่งออกเศษทองแดงได้หดตัวลงร้อยละ 19.12 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยประเทศที่ไทยมีการส่งออกเศษทองแดงเป็นมูลค่าสูงสุด คือ ญี่ปุ่น จีน และมาเลเซีย โดยการส่งออกของไทยไปยังสามประเทศนี้คิดเป็นร้อยละ 68.4 ของการส่งออกเศษทองแดงทั้งหมดของไทยไปยังทุกประเทศ

HS: 7411 หลอดหรือท่อทำด้วยทองแดง มีมูลค่าการส่งออกรวม 231 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.05 ของการส่งออกทองแดงทั้งหมดของไทย และมูลค่าการส่งออกท่อทองแดงได้หดตัวลงถึงร้อยละ 26.83 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยประเทศที่ไทยมีการส่งออกท่อทองแดงเป็นมูลค่าสูงสุดคือ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสาธารณรัฐเชค โดยการส่งออกของไทยไปยังสามประเทศนี้คิดเป็นร้อยละ 35 ของการส่งออกท่อทองแดงทั้งหมดของไทยไปยังทุกประเทศ

HS: 7407 ท่อน เส้น และโพรไฟล์ ทำด้วยทองแดง มีมูลค่าการส่งออกรวม 161 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.06 ของการส่งออกทองแดงทั้งหมดของไทย และมูลค่าการส่งออกเส้นและโพรไฟล์ทำด้วยทองแดงได้หดตัวลงร้อยละ 3.35 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยประเทศที่ไทยมีการส่งออกเส้นและโพรไฟล์ทำด้วยทองแดงเป็นมูลค่าสูงสุด คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย และมาเลเซีย โดยการส่งออกของไทยไปยังสามประเทศนี้คิดเป็นร้อยละ 38 ของการส่งออกเส้นและโพรไฟล์ทำด้วยทองแดงทั้งหมดของไทยไปยังทุกประเทศ

การผลิต

ในปี 2551 บริษัทไทยคอปเปอร์ ผู้ผลิตทองแดงขั้นต้นรายเดียวในประเทศไทย ยังอยู่ระหว่างการเจรจาหาบริษัทคู่ค้าและผู้ร่วมทุน คาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ก่อนบริษัทฯ จะเปิดสายการผลิตได้

ปริมาณการผลิตของผู้ผลิตสินค้าทองแดงอื่นๆ ในประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา สินค้าทองแดงที่ได้รับผลกระทบได้แก่สินค้าในหมวดของส่วนประกอบรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณการสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศลดลงประมาณร้อยละ 40 ขณะที่ ผู้ผลิตมีต้นทุนสินค้าคงคลังในช่วงต้นปีที่สูง แต่ในช่วงปลายปีจนถึงปี 2552 มีแนวโน้มว่าวัตถุดิบในตลาดโลกจะมีปริมาณลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการผลิตทองแดงขั้นต้นของโลกปรับลดแผนการผลิตจากราคาโลกที่ตกต่ำ

ในการเจรจา FTAของไทยกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ สินค้าทองแดงส่วนใหญ่ถูกจัดเป็นสินค้าที่ลดภาษีในบัญชีปกติ (Normal Track) และมีการปรับลดภาษีค่อนข้างเร็วและโดยมากประเทศไทยได้กำหนดปรับลดภาษีนำเข้าทองแดงของไทยเหลือ 0% ใน FTA ต่าง ๆ ไปแล้วหรือกำหนดไว้อย่างช้าภายในปี 2009, 2010, 2012 เกือบทั้งหมด ยกเว้นสินค้า ดังต่อไปนี้

ทองแดงยังไม่ขึ้นรูปใน HS: 7403 จำพวกแคโทดซึ่งขณะนี้ไทยเก็บภาษีขาเข้าร้อยละ 1 เป็นสินค้าที่ไทยยกเว้นไม่ปรับลดภาษีในกรอบอาเซียน-จีน

ท่อน เส้นและโพรไฟล์ทองแดง (HS: 7407) และทองแดงแผ่น (HS: 7409) บางประเภทซึ่งได้มีการสงวนไว้เป็นสินค้าอ่อนไหวในกรอบอาเซียน-จีน

เห็นได้จากตารางการปรับลดภาษีข้างต้นว่าท่าทีของสินค้าอุตสาหกรรมทองแดงไม่ได้เป็นไปในแนวทางเดียวกันในทุกกรอบ อาทิ จีนและเกาหลีใต้ต่างก็มีขีดความสามารถผลิตทองแดงแผ่นในระดับสูงแต่ในการเจรจาไทยกำหนดระยะเวลาการลดภาษีกับเกาหลีไว้เร็วกว่าจีนมาก ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะเกาหลีมีการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตทองแดงแผ่นในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าแม้อุตสาหกรรมทองแดงจะไม่ได้รวมกลุ่มอย่างเป็นทางการในสภาอุตสาหกรรมฯ แต่ก็มีภาคเอกชนที่สนใจ และให้ความสำคัญกับการแสวงหาประโยชน์และการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดจาก FTA

ข้อพึงระวัง

! ! 1. การที่ไทยไม่มีการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการทองแดงในประเทศทำให้การหาท่าทีร่วมกันที่จะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมทองแดงโดยรวมในประเทศเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและนับจากนี้ไปไทยจะมีการเปิดเสรี FTA กับประเทศที่มีขีดความสามารถการแข่งขันสูงอีกหลายประเทศโดยเฉพาะอินเดียและสหภาพยุโรป ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญและร่วมในการหารือกับภาคราชการเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อให้การเปิดเสรียังประโยชน์ให้แก่อุตสาหกรรมทองแดงในประเทศไทยอย่างทั่วถึงและอย่างแท้จริง

! ! 2. ภาคเอกชนผู้ประกอบการควรต้องศึกษาการเปิดเสรีภายใต้ FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วเพื่อหาแนวทางในการแสวงหาประโยชน์และปกป้องตัวเองจากการได้รับผลกระทบโดยจากตารางการลดภาษีข้างต้นแม้ว่าประเทศไทยจะมีอัตราภาษีขาเข้าทองแดงค่อนข้างต่ำแต่ก็มีบางรายการที่มีภาษีขาเข้าสูง 10-20% และไทยได้กำหนดให้ลดภาษีขาเข้าเหลือ 0% ในปี 2010-2012 ได้แก่ สินค้าทองแดงขั้นปลายใน HS: 7418และ 7419 ซึ่งข้อมูลในเรื่องนี้ ควรมีการส่งสัญญาณไปยังกลุ่มผู้ผลิตสินค้าทองแดงปลายน้ำเพื่อให้เตรียมตัวรองรับการแข่งขันที่จะรุนแรงมากขึ้นจากจีนและเกาหลีใต้ในอนาคตอันใกล้และหากคาดการณ์ว่าภาคเอกชนใดจะได้รับผลกระทบก็จะได้แจ้งเป็นข้อมูลให้ภาครัฐทราบเพื่อจะได้หาแนวทางในการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวให้น้อยลงได้

บทสรุปและคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมทองแดง ปี 2552

! วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกามีความรุนแรง และส่งผลกระทบไปยังหลายประเทศในหลายภูมิภาคของโลก จนดูเหมือนเศรษฐกิจโลกจะชะงักงันไปชั่วขณะหนึ่ง แต่ในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ไม่มากนัก ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้หลังการปรับตัวเพื่อตั้งรับกับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศมีขนาดใหญ่พอที่จะดูดซับการผลิตส่วนเกินที่เกิดจากการส่งออกที่ลดลงได้ ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่กำลังเติบโตนี้ จะเป็นส่วนที่สร้างอุปสงค์ของสินค้าทองแดงให้อยู่ในระดับที่ไม่ต่ำเกินไป เพราะทองแดงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

! ปัจจัยที่มีผลต่อราคาของทองแดง นอกจากอุปสงค์ของสินค้าที่มาจากประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่และกำลังเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วนั้น ด้านผู้ผลิตหรือฝั่งอุปทานของทองแดงยังคงเป็นส่วนสำคัญที่ยังคงรักษาระดับราคาทองแดงให้ไม่ต่ำลงไปได้มาก เนื่องจากปัญหาต่างๆ ในการผลิตทองแดงที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ที่ทำให้อัตราการเติบโตของปริมาณทองแดงขั้นต้นที่เข้าสู่ตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ

! ฉะนั้น ถึงแม้ว่าราคาทองแดงในปีที่ผ่านมาจะต่ำลงมามาก แต่การลดลงของราคามีแนวโน้มว่าจะเป็นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะอุปสงค์ที่ยังคงมีอยู่จากประเทศที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่อาจจะหวนกลับเข้าสู่ตลาดเมื่อเห็นว่าสินค้ามีราคาต่ำลงมาก และอุปทานที่ไม่สม่ำเสมอจากผู้ผลิต จะทำให้ราคาทองแดงในปี 2552 มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นจากปลายปีที่แล้ว แต่อาจจะไม่สูงเท่ากับช่วงเดียวกันของปี 2551 เพราะความต้องการสินค้าเพื่อนำไปผลิตเพื่อส่งออกจะลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ