ภาวะอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2009 15:19 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

! แหล่งผลิตอะลูมิเนียมขั้นต้นที่สำคัญของโลกมีกระจายอยู่ในหลายทวีป โดยมีสัดส่วนการผลิตแบ่งเป็น ทวีปอเมริการ้อยละ 29 ทวีปเอเซียร้อยละ 24 ทวีปยุโรปร้อยละ 33 โอเชียเนียร้อยละ 9 และแอฟริการ้อยละ 5

! ปริมาณการใช้อะลูมิเนียมแบ่งตามสัดส่วนของอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมขนส่ง(Transport) คิดเป็นร้อยละ 26 อุตสาหกรรมหีบห่อ (Packaging) คิดเป็นร้อยละ 22 อุตสาหกรรมก่อสร้าง(Construction) คิดเป็นร้อยละ 22 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล (Machinery) คิดเป็นร้อยละ 8 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical) คิดเป็นร้อยละ 8 และอื่นๆ

ภาวะอะลูมิเนียมในตลาดโลก

ในปี 2551 อะลูมิเนียมมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,578 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเมตริกตันโดยขึ้นสูงสุดในเดือนกรกฎาคมไปอยู่ที่ 3,220 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเมตริกตัน และต่ำที่สุดในเดือนธันวาคม ที่ราคา 1,460เหรียญสหรัฐฯ ต่อเมตริกตัน

ปริมาณการผลิตโลก

ปริมาณการผลิตอะลูมิเนียมขั้นต้นของโลก ในปี 2551 มีปริมาณเท่ากับ 39.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ ซึ่งผลิตได้รวม 38 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 4.47 เนื่องจากประเทศผู้ผลิตอะลูมิเนียมรายใหญ่ของโลกสามารถผลิตอะลูมิเนียมได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศผู้ผลิตอะลูมิเนียมอันดับ 4 ของโลก มีปริมาณการบริโภคอะลูมิเนียมในประเทศลดลง ทำให้มีปริมาณอะลูมิเนียมเหลือเพื่อการส่งออกมากขึ้น และกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอะลูมิเนียมขั้นต้นสุทธิในปี 2551

ตารางที่ 1: ปริมาณการผลิตอะลูมิเนียมขั้นต้น จากประเทศผู้ผลิต 10 อันดับแรก
                             ปี 2550          ปี 2551
          จีน                 12,600          13,500
          รัสเซีย               3,960           4,200
          แคนาดา              3,090           3,100
          สหรัฐอเมริกา          2,554           2,640
          ออสเตรเลีย           1,960           1,960
          บราซิล               1,660           1,660
          นอร์เวย์              1,300           1,300
          อินเดีย               1,220           1,300
          แอฟริกาใต้              899             850
          สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์      890             920

ที่มา: U.S.Geological Survey Yearbook & & & & หน่วย: พันเมตริกตัน

ปริมาณการผลิตโดยรวมของผู้ผลิตอะลูมิเนียมรายใหญ่ของโลกมีเพิ่มมากขึ้น โดย จีน รัสเซีย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นในปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 7.14, 6.06, 0.32 และ 3.36 ตามลำดับ

ปริมาณอะลูมิเนียมคงคลังในตลาดโลก

ตารางที่ 2: ปริมาณอะลูมิเนียมคงคลัง (จากปริมาณ High-grade Aluminum Inventory ของ London Metal Exchange)
                           ปี 2550           ปี 2551      เปลี่ยนแปลง(ร้อยละ)
          ไตรมาสที่ 1           811           1,032           + 27.25
          ไตรมาสที่ 2           824           1,093           + 32.64
          ไตรมาสที่ 3           937           1,377           + 46.95
          ไตรมาสที่ 4           929           2,338           +151.66

ที่มา: London Metal Exchange& & & & & & หน่วย: พันเมตริกตัน

ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2551 ราคาอะลูมิเนียมขั้นต้นได้ตกต่ำลงจากราคาในช่วงกลางปีประมาณร้อยละ 50 เนื่องจากอุปสงค์ของอะลูมิเนียมขั้นต้นในตลาดโลกมีปริมาณลดลง อันมีสาเหตุมาจากการหดตัวของเศรษฐกิจและการบริโภคทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจาก

1. การสะสมของปริมาณอะลูมิเนียมคงคลังในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นสูงมากจากปีก่อนหน้า ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ราคาอะลูมิเนียมในตลาดโลกลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง

2. การคาดการณ์ถึงภาวะถดถอย (Bearish Speculation) อย่างรุนแรงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากจะทำให้ปริมาณการบริโภคอะลูมิเนียมของสหรัฐอเมริกาเองลดลง จนทำให้กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอะลูมิเนียมสุทธิในปี 2551 แล้ว ผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลก ยังทำให้ผู้ซื้อเกิดการคาดการณ์ถึงภาวะถดถอย จนทำให้เกิดการชะลอซื้อและชะลอบริโภคตามมาอีกด้วย

ภาวะสินค้าอะลูมิเนียมในประเทศไทย

การนำเข้า

ในปี 2551 ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าหมวดอะลูมิเนียม (HS: 76) จำนวนทั้งสิ้น 770,561 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 9.27 ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้าอะลูมิเนียมมากที่สุด 3 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และจีน โดยมีสัดส่วนการนำเข้า คิดเป็นร้อยละ 24.75, 17.74 และ 12.41 ตามลำดับ

สินค้าที่มีปริมาณการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่

HS: 7601 อะลูมิเนียมที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป มีปริมาณการนำเข้ารวม 437,359 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 56.76 ของปริมาณสินค้าอะลูมิเนียมที่มีการนำเข้าทั้งหมด และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 3.92 ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้าอะลูมิเนียมที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปเป็นปริมาณมากที่สุดคือ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย

HS: 7606 แผ่น แผ่นบางและแถบ ทำด้วยอะลูมิเนียม มีความหนาเกิน 0.2 มิลลิเมตร มีปริมาณการนำเข้ารวม 126,611 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 16.43 ของปริมาณสินค้าอะลูมิเนียมที่มีการนำเข้าทั้งหมด และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 26.13 ประเทศที่ไทยนำเข้าอะลูมิเนียมแผ่นเป็นปริมาณมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้

HS: 7602 เศษและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นอะลูมิเนียม มีปริมาณการนำเข้ารวม 101,207 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 13.13 ของปริมาณสินค้าอะลูมิเนียมที่มีการนำเข้าทั้งหมด และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 103.08 ประเทศที่ไทยนำเข้าเศษอะลูมิเนียมเป็นปริมาณมากที่สุด คืออังกฤษ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่

HS: 7601 อะลูมิเนียมที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป มีมูลค่าการนำเข้าโดยรวม 1,238 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าร้อยละ 44.24 และมีการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าร้อยละ 0.64 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้าอะลูมิเนียมที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปเป็นมูลค่าสูงสุด คือ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย โดยสามประเทศนี้ถือครองส่วนแบ่งตลาดถึงกว่าร้อยละ 70 ของการนำเข้าอะลูมิเนียมที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปทั้งหมดของไทย

HS: 7606 แผ่น แผ่นบางและแถบ ทำด้วยอะลูมิเนียม มีความหนาเกิน 0.2 มิลลิเมตร มีมูลค่าการนำเข้าโดยรวม 543 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าร้อยละ 19.39 และมีอัตราส่วนการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 25.91 ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้าอะลูมิเนียมแผ่นเป็นมูลค่าสูงสุด คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน โดยสามประเทศนี้ถือครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 56 ของการนำเข้าอะลูมิเนียมแผ่นทั้งหมดของไทย

HS: 7616 ของอื่นๆ ทำด้วยอะลูมิเนียม มีมูลค่าการนำเข้าโดยรวม 205 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าร้อยละ 12.69 และมีอัตราส่วนการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 0.68 ประเทศที่ไทยนำเข้าของที่ทำด้วยอะลูมิเนียมเป็นมูลค่าสูงสุด คือ ญี่ปุ่น จีน และ มาเลเซีย โดยสามประเทศนี้ถือครองส่วนแบ่งตลาดถึงกว่าร้อยละ 70 ของการนำเข้าของที่ทำด้วยอะลูมิเนียมทั้งหมดของไทย

การส่งออก

ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าหมวดอะลูมิเนียม (HS: 76) ในปี 2551 จำนวนทั้งสิ้น 248,534 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,268 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 12.09 ประเทศที่ไทยส่งสินค้าอะลูมิเนียมออกไปขายเป็นมูลค่ามากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอินเดีย โดยมีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 36.5, 15.21 และ 10.37 ตามลำดับ

สินค้าที่มีปริมาณการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

HS: 7610 สิ่งก่อสร้าง ไม่รวมถึงอาคารสำเร็จรูปตามประเภทที่ 94.06 และส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้าง (เช่น สะพานและส่วนของสะพาน หอคอย เสาที่มีโคงประสานกัน หลังคา โครงหลังคา ประตูหน้าต่าง กรอบของประตูหน้าต่างและธรณีประตู ระเบียบ เสาชนิดพิลลาร์และคอลัมน์) ทำด้วยอะลูมิเนียม รวมทั้ง แผ่น เส้น โพรไฟล์ หลอดหรือท่อ และของที่คล้ายกันที่จัดทำไว้เพื่อใช้ทำเป็นสิ่งก่อสร้างทำด้วย อะลูมิเนียม มีปริมาณการส่งออกรวม 79,844 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 32.13 ของปริมาณสินค้าอะลูมิเนียมที่ไทยมีการส่งออกทั้งหมด ปริมาณการส่งออกในปีนี้ได้หดตัวลงร้อยละ 1.56 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าสิ่งก่อสร้างและส่วนประกอบที่ทำด้วยอะลูมิเนียมเป็นปริมาณมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา

HS: 7604 ท่อน เส้นและโพรไฟล์ ทำด้วยอะลูมิเนียม มีปริมาณการส่งออกรวม 32,033 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 12.89 ของปริมาณสินค้าอะลูมิเนียมที่ไทยมีการส่งออกทั้งหมด ปริมาณการส่งออกในปีนี้ได้หดตัวลงถึงร้อยละ 4.69 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ประเทศที่ไทยส่งออกท่อน เส้นและโพรไฟล์ทำด้วยอะลูมิเนียมเป็นปริมาณมากที่สุด คือ อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย

HS: 7602 เศษและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นอะลูมิเนียม มีปริมาณการส่งออกรวม 30,655 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 12.33 ของปริมาณสินค้าอะลูมิเนียมที่ไทยมีการส่งออกทั้งหมด มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 2.17 ประเทศที่ไทยส่งออกเศษอะลูมิเนียมเป็นปริมาณมากที่สุด คือ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

HS: 7610 สิ่งก่อสร้าง ไม่รวมถึงอาคารสำเร็จรูปตามประเทภทที่ 94.06 และส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้าง (เช่น สะพานและส่วนของสะพาน หอคอย เสาที่มีโคงประสานกัน หลังคา โครงหลังคาประตูหน้าต่าง กรอบของประตูหน้าต่างและธรณีประตู ระเบียบ เสาชนิดพิลลาร์และคอลัมน)? ทำด้วยอะลูมิเนียม รวมทั้ง แผ่น เส้น โพรไฟล์ หลอดหรือท่อ และของที่คล้ายกันที่จัดทำไว้เพื่อใช้ทำเป็นสิ่งก่อสร้างทำด้วยอะลูมิเนียม มีมูลค่าการส่งออกรวม 470 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.09 ของการส่งออกอะลูมิเนียมทั้งหมดของไทย และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 10.69 ประเทศที่ไทยมีการส่งออกสิ่งก่อสร้างและส่วนประกอบที่ทำด้วยอะลูมิเนียมเป็นมูลค่าสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ โดยการส่งออกของไทยไปยังสามประเทศนี้คิดเป็นร้อยละ 90 ของการส่งออกสิ่งก่อสร้างและส่วนประกอบที่ทำด้วยอะลูมิเนียมทั้งหมดของไทยไปยังทุกประเทศ

HS: 7615 ของใช้บนโต๊ะอาหาร ของใช้ในครัวหรือของใช้ตามบ้านเรือนอื่นๆ และส่วนประกอบของของดังกล่าว ทำด้วยอะลูมิเนียม ของที่ใช้ขัดหม้อ แผ่น ถุงมือและของที่คล้ายกันสำหรับขัดมันหรือขัดถู ทำด้วยอะลูมิเนียม เครื่องสุขภัณฑ์และส่วนประกอบของเครื่องสุขภัณฑ์ทำด้วยอะลูมิเนียม มีมูลค่าการส่งออกรวม 168 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.25 ของการส่งออกอะลูมิเนียมทั้งหมดของไทย มูลค่าการส่งออกในปีนี้ได้หดตัวลงถึงร้อยละ 4.33 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ประเทศที่ไทยมีการส่งออกของใช้ที่ทำด้วยอะลูมิเนียมในพิกัดฯ 7615 เป็นมูลค่าสูงสุด คือ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสหราชอาณาจักร โดยการส่งออกของไทยไปยังสามประเทศนี้คิดเป็นร้อยละ 89 ของการส่งออกของใช้ทำด้วยอะลูมิเนียมทั้งหมดของไทยไปยังทุกประเทศ

HS: 7616 ของอื่นๆ ทำด้วยอะลูมิเนียม มีมูลค่าการส่งออกรวม 134 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.54 ของการส่งออกอะลูมิเนียมทั้งหมดของไทย และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 21.27 ประเทศที่ไทยมีการส่งออกของอื่น ๆ ทำด้วยอะลูมิเนียมเป็นมูลค่าสูงสุด คือ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยการส่งออกของไทยไปยังสามประเทศนี้คิดเป็นร้อยละ 52 ของการส่งออกของอื่น ๆ ทำด้วยอะลูมิเนียมทั้งหมดของไทยไปยังทุกประเทศ

การผลิต

ผู้ผลิตไทยได้จากผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ทำให้ปริมาณการสั่งซื้อสินค้าอะลูมิเนียมในประเทศไทยมีปริมาณลดลง สินค้าอะลูมิเนียมในหมวดที่ใช้เป็นส่วนประกอบของรถยนต์มีปริมาณลดลงสูงสุดคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณสินค้าที่ผลิตในปีก่อนหน้า สินค้าในหมวดอื่นมีปริมาณการผลิตลดลงโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 30 สินค้าในหมวดที่ผลิตสำหรับอุตสาหกรรมอาหารเป็นหมวดเดียวที่ยังคงรักษาการผลิตระดับเดิม

นอกจากผลกระทบของปริมาณการผลิตที่ลดลงแล้ว ต้นทุนวัตถุดิบในปี 2551 อาจเป็นภาระของผู้ผลิตไทย เนื่องจากกว่าครึ่งของปี 2551 ผู้ผลิตมีวัตถุดิบคงคลังที่มีต้นทุนสูง ในขณะที่ครึ่งหลังของปีราคาวัตถุดิบที่ลดลงกว่าร้อยละ 50 ทำให้ผู้ผลิตบางส่วนต้องรับภาระต้นทุนวัตถุดิบเหล่านั้นไว้

จากการพิจารณาตารางการลดภาษีภายใต้ข้อตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีของไทยและประเทศคู่เจรจาที่ได้ลงนามไปแล้ว จะเห็นได้ว่าสินค้าอะลูมิเนียมส่วนใหญ่เป็นสินค้าภายใต้บัญชีลดภาษีปกติ(Normal Track) ของไทย คือจะมีการปรับลดภาษีภายในระยะเวลา 1 - 2 ปีนี้ ซึ่งในส่วนนี้ผู้ประกอบการควรตระหนักถึงภาวะการแข่งขันจากประเทศจีน และเกาหลีใต้ ที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นภายในปี 2553 และมีการเตรียมความพร้อมและมาตรการเพื่อรองรับกับสถานการณที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงแนวทางแสวงหาประโยชน์จากการเปิดเสรีภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว

บทสรุปและคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ปี 2552

ถึงแม้ว่าราคาอะลูมิเนียมขั้นต้นจะตกต่ำลงในช่วงปลายปี 2551 แต่ปริมาณความต้องการบริโภคจากระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ประเทศจีนนั้นยังคงมีอยู่ เนื่องจากจีนนั้นไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามากนัก จึงคาดการณ์ได้ว่าปริมาณการบริโภคที่ยังคงมีอยู่นี้จะยังคงสนับสนุนการเติบโตของปริมาณการผลิตอะลูมิเนียมขั้นต้นในปี 2552 อย่างไรก็ดีผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจน่าจะยังคงมีผลในส่วนของอัตราการเติบโตที่อาจจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2550 และ 2551 นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มผู้ผลิตบางส่วนอาจจะเข้ามาสู่การผลิต เมื่อเสร็จสิ้นการลงนามซื้อขายพลังงานใหม่ (Renew Energy Contract) และการลดลงของราคาพลังงานก็จะเป็นปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนให้ผู้ผลิตกลับเข้าสู่การผลิตอีกครั้ง

ในส่วนของผู้ซื้อ เมื่อราคาอะลูมิเนียมขั้นต้นลดต่ำลง และผู้ซื้อได้ระบายปริมาณสินค้าคงคลังที่มีมูลค่าสูงนั้นได้ที่ระดับหนึ่งแล้ว ผู้ซื้ออาจจะพิจารณาว่าราคาสินค้าได้ตกลงในราคาที่เหมาะสม และกลับเข้าสู่ตลาดซื้อสินค้าเพื่อรักษาระดับสินค้าคงคลังอีกครั้ง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ