สศอ.- สถาบันไฟฟ้าฯ ลุยยกระดับแรงงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 23, 2009 14:57 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ. อัดงบภายใต้แผน Productivity 30 ล้านบาท มอบสถาบันไฟฟ้าลุยยกระดับแรงงานอุตฯ ไฟฟ้าอิเล็กฯ รองรับการฟื้นตัว หลังออร์เดอร์เริ่มเข้า ชี้ผลระยะยาว ทักษะสูงดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก หนีคู่แข่งด้วยฝีมือ

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยถือว่ามีความแข็งแกร่งในระดับที่ดีมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมสาขาอื่นๆ โดยเฉพาะไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกในการผลิตชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ส่งออกไปทั่วโลก แม้ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะทำให้ยอดการผลิตและการจำหน่ายหดตัวอย่างมโหฬารตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 เป็นต้นมาจนถึงไตรมาสที่ 1 เนื่องจากคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าหลักลดลง

อย่างไรก็ตามขณะนี้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวกลับเข้ามา โดยจากตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่อัตราการติดลบค่อยๆ ลดลง ในกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีการปรับตัวที่ดีขึ้นแม้จะยังติดลบ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนก็ตาม โดยตัวเลขล่าสุดเดือนเมษายน 2552 ติดลบ -11.21% ขณะที่เดือนมีนาคม -17.49% กุมภาพันธ์ -25.98% และเดือนมกราคม -35.39% เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับคำสั่งซื้อกลับเข้ามา ดังนั้น เพื่อความแข็งแกร่งที่ยั่งยืนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สศอ. จึงได้จัดสรรงบประมาณภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ หรือ Productivity เป็นจำนวน 30 ล้านบาทโดยมอบหมายให้สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อรองรับการขยายตัวที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอย่างชัดเจน เนื่องจากคำสั่งซื้อลดลงจำนวนมาก แต่โครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานนี้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยยกระดับฝีมือแรงงานให้เพิ่มขึ้นสร้างความพร้อมรองรับการขยายตัว โดยเฉพาะการที่ผู้ประกอบการได้รับคำสั่งซื้อกลับเข้ามา แม้ช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับลดพนักงานจำนวนมาก แต่เมื่อคำสั่งซื้อกลับเข้ามาผู้ประกอบการได้เรียกกลับพนักงานเข้าทำงานแล้วหลายอัตรา

ขณะเดียวกันการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานอยู่เสมอจะทำให้ในอนาคต ไทยจะเป็นประเทศที่แข็งแกร่งสามารถฝ่าฟันปัญหาทุกอย่างจากการแข่งขันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยในระยะสั้นนี้จะมุ่งเน้นไปที่แรงงานที่มีอยู่เดิมร่วมกับกลุ่มโรงเรียนสอนวิชาชีพด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ ตั้งเป้า 1,000 คน กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่กำลังจะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 1,500 คน และแรงงานจากสมาคมนายจ้างที่มีศักภาพอยู่แล้ว 7,000 คน”

นายอุดม กล่าวว่า การที่ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปทั่วโลก เป็นจุดแข็งที่สำคัญและการเพิ่มทักษะแรงงานลงไปรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามา ถือเป็นแรงเสริมประการสำคัญเพื่อดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาลงทุนเพิ่มหรือขยายกิจการที่มีอยู่แล้วให้ยิ่งใหญ่ขึ้น จะเป็นการหนีคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียนได้อย่างดี แม้ว่าขณะนี้เริ่มมีคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านพร้อมยื่นข้อเสนอดึงดูดนักลงทุนให้ไปขยายกิจการ แต่ศักยภาพและความพร้อมยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดีประเทศไทยต้องไม่ประมาทจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาความพร้อมให้มีอยู่ต่อเนื่อง และความพร้อมด้านบุคลากรนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง โดยขณะนี้ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนเห็นไปในทิศทางเดียวกัน การดำเนินโครงการจึงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการในการจัดฝึกอบรมทุกครั้ง

อัตราการขยายตัวดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

          ดัชนีอุตสาหกรรม 2552          เม.ย.          มี.ค.          ก.พ.          ม.ค.
          ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์        -11.21%       -17.49%       -25.98%       -35.39%

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ