สศอ. สั่งลุยต่อ แผนพัฒนาอุตฯ รถไฟฟ้า - อุตฯ เกี่ยวเนื่อง ระยะ 2 จัดทำ Roadmap หนุนผู้ประกอบการ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 13, 2010 14:07 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ. เดินหน้าต่อยอดโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศ ระยะที่ 2 หลังส่งโครงการศึกษาดังกล่าวออกมาในระยะที่ 1 จนเป็นรูปเป็นร่าง พร้อมจัดทำ Roadmap พัฒนาอุตฯ ขนส่งทางรางทั้งระบบ กำหนดกรอบนโยบายพัฒนาอุตฯ ผู้ประกอบการภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผลจากการประชุมระดมสมอง และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงวิทยาศาสต์และเทคโนโลยี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) และผู้ประกอบการหลายรายที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน เพื่อใช้สำหรับการขนส่งระบบรางได้ ทั้งในส่วนของงานก่อสร้าง (Civil Work) งานระบบราง (Track Work) การประกอบตัวรถไฟ / รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Rolling Stock) งานระบบไฟฟ้า (Electrical Work) และงานระบบอาณัติสัญญาต่างๆ (Signaling) เพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในด้านนี้ ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น และหากเป็นเช่นนี้ตลอดไป โดยที่ภาครัฐไม่มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิต และพัฒนาชิ้นส่วนให้เป็นไปตามความต้องการ และมาตรฐานที่กำหนดอย่างชัดเจน ประเทศไทยก็จะสูญเสียงบประมาณมหาศาลไปกับการซื้อและนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ จากต่างประเทศ และประเทศไทยอาจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระบบรางจากต่างประเทศตลอดไป

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงได้เสนอแนวคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทยขึ้น รวมถึงแผนการดำเนินการ เพื่อสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ ซึ่งเน้นการต่อยอด และสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลาสติก ให้สามารถเข้าร่วมเป็นเครือข่ายการผลิตชิ้นส่วนให้กับอุตสาหกรรมขนส่งระบบรางของโลกได้ ในปี 2552 สศอ.จึงได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ซึ่งในระยะที่ 1 นั้น ได้มีการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างอุตสาหกรรม

รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในประเทศ และรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ซึ่งได้จ้างสถาบันการขนส่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาโครงการ และปัจจุบันได้ดำเนินการศึกษาเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว “หลังจากที่ได้มีการดำเนินการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศในระยะที่ 1 จนเสร็จสิ้นโครงการแล้ว ในปี 2553 สศอ. เห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการขยายขอบเขตการศึกษาต่อในระยะที่ 2 เพื่อให้ครอบคลุมงานในส่วนของอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางทั้งหมด และจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วน เช่น รายชื่อ/ที่อยู่ และชิ้นส่วนที่สามารถผลิตได้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่ยื่นประมูลโครงการขนส่งระบบรางในอนาคต รวมถึงเน้นการจัดทำ Roadmap ในแต่ละส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง เพื่อเป็นแนวทางสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคน และกำหนดกรอบนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของภาครัฐ รวมถึงจัดทำแผนปฎิบัติการสำหรับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งข้อมูลที่เราจะได้จากการศึกษาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบราง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของประเทศดังกล่าว ในระยะ 20 ปีข้างหน้า ตามแผนระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว โดยคำนึงถึงผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างรอบคอบนั้น จะสามารถนำเสนอต่อรัฐบาลในการตัดสินใจส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางทั้งระบบของประเทศ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ และจะเป็นตัวเสริมสร้างการพัฒนาขีดความสามารถให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ให้มีมาตรฐาน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางของประเทศไทยในอนาคต โดยไม่ต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลของประเทศให้กับต่างชาติอีกต่อไป” นางสุทธินีย์ กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ