มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดตัว คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร และ คลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

ข่าวทั่วไป Friday October 29, 2010 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดตัวคณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ด้วยความร่วมมือ 3 สถาบัน โดยมีบัณฑิตรุ่นแรกจำนวน 36 คน มีงานทำร้อยละ 94.44 และ เปิดตัวคลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร พร้อมให้บริการเดือนตุลาคม ศกนี้โดย ดร.นพ.ศาสตรี เสาวคนธ์ คณบดีคณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยบูรพา เล่าประวัติความเป็นมาให้ฟังว่า คณะแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยบูรพาจัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยบูรพาและโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อร่วมกันจัดการเรียนการสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยจัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม2551 ใช้ชื่อหน่วยงานว่า “วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร” และในปี พ.ศ. 2549 ได้ดำเนินการเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์รับนักศึกษารุ่นแรก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็นหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต ทั้งนี้เพื่อให้มีศักยภาพในการส่งเสริมด้านวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้พัฒนารุดหน้าและสร้างความร่วมมือระดับประเทศและในวันที่10 เมษายน 2551 สภามหาวิทยาลัยบูรพา ได้ประกาศให้วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร เป็น”คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นไป โดยสามารถรับนักศึกษาได้ปีละ 50 คน ตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการวิชาชีพ “ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยบูรพาจะรับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นปีที่ 1-2 โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะรับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นปีที่ 3-4 ซึ่งสำหรับการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นปีที่ 3-4 นั้น ได้รับที่ดินและงบประมาณจากจังหวัดปราจีนบุรีตามโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดในการก่อสร้างอาคาร 2 หลัง เป็นอาคารเรียน 3 ชั้น จำนวน 1 หลัง อาคารหอพัก 3 ชั้น จำนวน 1 หลัง ในพื้นที่ 15 ไร่ ใช้ชื่อหน่วยงานว่า “วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร” และจังหวัดปราจีนได้มอบให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกำกับดูแล เพื่อจัดการเรียนการสอนและอบรมด้านการแพทย์แผนไทย ต่อมากระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าภารกิจด้านการเรียนการสอนไม่ใช่ของโรงพยาบาล จึงได้มอบให้สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข กำกับดูแล” ดร.นพ.ศาสตรี กล่าว คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนเป็นแบบการศึกษาภาคปกติ ระบบทวิภาค โดยในหนึ่งปีการศึกษาจะแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา คือ ภาคต้นและภาคปลาย ตามลำดับ ทั้งนี้ นักศึกษาจะได้เรียนวิชาแพทย์แผนไทยทั้ง 4 สาย ได้แก่ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย หัตถเวชไทย และผดุงครรภ์อนามัย ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัครต้องจบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย โปรแกรมวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ซึ่งทางคณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรจะมีการเปิดรับสมัคร 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. ระบบโควตา จะจัดสรรตามจังหวัดในภาคตะวันออกจำนวน 12 จังหวัด โดยรับสมัครผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของมหาวิทยาลัย ซึ่งในปีพ.ศ. 2545 จะเริ่มรับสมัครในวันที่ 15 พฤศจิกายน — 15 ธันวาคม พ.ศ.2553, 2. โครงการโควตาเครือญาติแพทย์แผนไทย โดยจะรับผู้ที่มีเครือญาติเป็นแพทย์แผนไทยอยู่แล้วมาศึกษา เพื่อกลับไปสืบทอดความรู้ทางด้านการแพทย์แผนไทย และ 3. ระบบเอนทรานซ์ โดยจะรับประมาณ 30 คนเท่านั้น ท่านคณบดีได้กล่าวถึงโอกาสในการได้งานทำว่า บัณฑิตรุ่นแรกของคณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยบูรพามีจำนวน 36 คน สามารถสอบผ่านและมีใบประกอบโรคศิลปะ จำนวน 19 คน คิดเป็นร้อยละ 53 สำหรับเปอร์เซ็นต์การได้งานทำของบัณฑิต 94.44 % ทั้งนี้ผู้ที่จบคณะนี้สามารถทำงานได้หลายอาชีพทั้ง รับราชการ พนักงานบริษัท หรือ เปิดธุรกิจส่วนตัว และนอกจากนี้ในอนาคตทางกระทรวงสาธารณสุขมีโครงการที่จะเปิดรับผู้ที่จบทางด้านแพทย์แผนไทยเข้าเป็นพนักงานในส่วนของโรงพยาบาลประจำตำบลอีกด้วย และนอกจากนี้ทางท่านคณบดีได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดคลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยบูรพาว่า คลินิกจะเปิดให้บริการด้านการแพทย์ทางเลือกช่วงทดลองระบบตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ที่ อาคารอนุรักษ์ คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยบูรพา โดยจะเปิดให้บริการ 2 ด้าน ได้แก่ การบริการด้านการแพทย์แผนไทย และ การบริการด้านการแพทย์ทางเลือก การบริการด้านการแพทย์แผนไทย จะเปิดให้บริการในเรื่องของนวดเพื่อรักษาอาการและประคบสมุนไพร นวดเพื่อสุขภาพ นวดฝ่าเท้า ประคบสมุนไพร และให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ โดยจะเปิดให้บริการช่วงทดลองระบบในวันพุธและวันศุกร์ เวลา 9.00-12.00 น. ทั้งนี้จะเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป การบริการด้านการแพทย์ทางเลือก จะเปิดให้บริการด้วยการฝังเข็มและกดจุด พร้อมกับให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ โดยจะเปิดให้บริการช่วงทดลองระบบวันจันทร์กับพฤหัสบดี เวลา 9.00-12.00 น. วันอังคาร เวลา 9.00-12.00 น. กับ เวลา 13.30 -16.30 น. ต่อมาทางด้าน ดร.วีระศักดิ์ ณรงค์พันธ์ อาจารย์ประจำ คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยบูรพา ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการเปิดให้บริการด้านการแพทย์ทางเลือกว่า การฝังเข็มถือเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง คือ “ประสาทวิทยาประยุกต์” ซึ่งการรักษาแบบนี้ได้มีการบันทึกมานาน และนอกจากนี้ยังมีเอกสารทางด้านวิชาการและการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะด้วย ทั้งนี้ การฝังเข็มจะช่วยปรับสมดุลในร่างกาย และบำบัดโรคได้ทุกโรค การฝังเข็มโดยทั่วไปมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ การฝังเข็มที่ตัว และ การฝังเข็มที่ใบหู ซึ่งทางคลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยบูรพาจะเปิดให้บริการฝังเข็มที่ใบหูเท่านั้นซึ่งจะมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะคอยให้บริการ โดยเข็มที่ใช้นั้นจะเป็นเข็มที่ใช้เฉพาะฝังเข็มเท่านั้นซึ่งต้องสั่งมาจากต่างประเทศ “ข้อดีของการฝังเข็ม คือ 1. บำบัดได้ทุกโรค 2. เจ็บน้อยกว่าการฝังเข็มที่ตัว 3. ใช้เวลาในการรักษาน้อยประมาณครึ่งชั่วโมง ทั้งนี้ การฝังเข็มนั้นแต่ละคนจะใช้เวลาในการบำบัดไม่เท่ากัน และนอกจากนี้แต่ละโรคก็จะใช้เวลาในการบำบัดไม่เหมือนกันด้วยขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง” ดร.วีระศักดิ์ กล่าวในตอนท้าย ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยบูรพา(อาคารอนุรักษ์) 169 ถนนลงหาดบางแสน ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20131 โทร. 0-3810-2630-1

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ