สพร. ปั้นเด็กไทยสู่...นักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม

ข่าวทั่วไป Monday November 1, 2010 16:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--สพร. สพร. จัดงานเสวนา “คิดเป็น เห็นภาพ” ดึงกูรูร่วมถ่ายทอดความรู้ กระตุ้นไอเดียเด็กไทย คิดงานอีเวนต์แตกต่างอย่างโดดเด่น เพื่อดึงคนรุ่นใหม่เข้าพิพิธภัณฑ์ ขานรับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) จัดทำโครงการ Young Muse Project ปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 1 เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนรู้งานของพิพิธภัณฑ์ จัดเวทีกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เพื่อคิดกิจกรรมหรืออีเวนต์ที่โดดเด่นและน่าสนใจ ภายใต้แนวคิด Discovery Museum หวังดึงคนรุ่นใหม่เข้าหาความรู้ในพิพิธภัณฑ์ โดยจัดกิจกรรมต่างๆ มากมายเพื่อกระตุ้นไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนทั้งชายและหญิงกว่า 35 คนที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วม แคมป์ “Young Muse Project” เพื่อฝึกทักษะการลำดับประเด็นความรู้ทางวิชาการ ผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานสร้างสรรค์โครงการและกิจกรรมดีๆ ที่จะจัดขึ้นในนามของมิวเซียมสยาม และเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ได้มีการจัดเสวนา “คิดเป็น เห็นภาพ” ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ไปสู่ผลงานที่นำไปใช้จัดแสดงได้จริง โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรนักคิดนักสร้างสรรค์ชื่อดังจากวงการต่างๆ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าหลักคิดในการทำงานด้านการจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์ที่สำคัญก็คือคนทำงานจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เราเป็นใคร จะพูดอะไร แล้วพูดกับใคร ด้วยวิธีไหน แนวคิดนี้จะทำให้เกิดกิจกรรมหรือกระบวนการที่สื่อสารสิ่งต่างๆ ออกไปถึงกลุ่มเป้าหมาย “จุดเริ่มต้นในการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ให้ได้ออกมาที่ดีที่สุดนั้น จะต้องเกิดขึ้นมาจากความรัก ถ้าเราไม่ไม่ชอบไม่รักในสิ่งที่จะทำก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ ดังนั้นหลักคิดเริ่มต้นในการคิดทำกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ก็คือความชอบ เมื่อชอบแล้วก็จะทำให้เรามีความยายามที่จะค้นคว้าหาข้อมูล ที่สำคัญโลกสมัยใหม่การสื่อสารไม่ได้เน้นเฉพาะแค่คนในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ต้องการสื่อสารกับคนทั่วโลก ดังนั้นการจัดกิจกรรมหรือนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ เราจึงควรนำเอาความภาคภูมิใจในรากเหง้าของความไทย ออกไปเสนอต่อสายตาของชาวโลกด้วย” อ.ปาริชาตกล่าว ด้านบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Happening นายวิภว์ บูรพาเดชะ ระบุว่าสิ่งสำคัญลำดับแรกในการคิดงานหรือกิจกรรมต่างๆ ก็คือความน่าสนใจ เพราะเรามีเรื่องราวและข้อมูลต่างๆ มากมาย ดังนั้นทำอย่างอย่างไรที่เราจะจับประเด็นหรือสิ่งที่น่าสนใจออกมาได้ก่อน “คนส่วนมากมักจะพูดว่าต้องคิดนอกกรอบ แต่ถ้าเราไม่รู้ว่ากรอบของเราคืออะไร เราก็จะคิดนอกกรอบไม่ได้ เพราะกรอบคือขอบเขตหรือข้อจำกัดของงาน ทีนี้เมื่อมีสิ่งที่น่าสนใจแล้ว และรู้ว่ากรอบหรือเงื่อนไขในการทำงานเป็นอย่างไร ถัดมาก็คือทำอย่างไรให้สิ่งที่น่าสนใจในกรอบที่มีอยู่ออกมาให้สนุก โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกข้อหนึ่งก็คือกระแส เพราะเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจแล้วก็ต้องมาคิดว่าเราจะทำอะไรกับกระแสที่เกิดขึ้นได้บ้าง ไม่ว่าจะตาม ทวน หรือบิดกระแส แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการมีมุมมองในการนำเสนออย่างรอบด้านทุกแง่มุม” บก.บห.นิตยสาร Happening กล่าว นายคิรินทร์ ทุมมนานนท์ ครีเอทีฟ บริษัท แปลนโมทีฟ จำกัด ผู้จัดงานอีเวนต์ชั้นนำของประเทศกล่าวว่า การจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ สิ่งที่สำคัญก็คือการทำงานเป็นทีม และต้องรู้ข้อมูลของคนที่เราจะไปทำงานด้วยให้มากที่สุด “การทำงานประเภทนี้หัวใจสำคัญก็คือการทำงานเป็นทีม และต้องหาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน เพราะข้อมูลคือสิ่งสำคัญในการที่จะคิดงานหรือกิจกรรมต่างๆ ออกมาให้ได้ดี และต้องมีความเข้าใจในข้อมูลต่างๆ ที่มีอย่างลึกซึ้งไม่อย่างนั้นก็จะคิดอะไรไม่ออก เพราะบางครั้งในการทำงานความไม่สนุกมักจะเกิดการที่เราไม่รู้และไม่เข้าใจ ดังนั้นถ้าเราใส่ความเข้าใจเข้าไปในเนื้อหาของงานเราก็จะเกิดสนุกและงานก็จะออกมาได้ดี” นายสัญใจระบุ “หลังจากผ่านการฝึกทักษะเพิ่มไอเดียความคิดสร้างสรรค์แล้ว ก็จะมีการรวมกลุ่มช่วยกันต่อยอดความคิด ผลิตกิจกรรมหรืออีเวนต์ใหม่ๆ ภายใต้งบประมาณไม่เกิน 2 แสนบาท โดยโครงการต่างๆ ที่เยาวชนคิดขึ้นมาจะต้องมีเนื้อหาและรูปแบบที่สอดคล้องกับกับภารกิจของมิวเซียมสยาม ซึ่งจะมีคณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ อาทิ คุณป๊อด โมเดิร์นด๊อก และคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ร่วมตัดสินผลงานอีกครั้ง โดยผลงานที่ชนะการประกวด จะถูกเปลี่ยนจากความคิดเป็นผลงานจริงเพื่อจัดแสดงต่อสาธารณชนให้เห็นถึงศักยภาพของเด็กไทยในเดือนเมษายนปีหน้า” นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้แห่งชาติกล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ