บีโอไอเดินหน้าเร่งรัดส่งเสริมการลงทุน หวังกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ข่าวทั่วไป Wednesday May 2, 2007 17:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเร่งดำเนินการชักจูงให้เกิดการลงทุน พร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ หวังกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มั่นใจนโยบายส่งเสริมใหม่ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่วนภาวะการลงทุนไตรมาสแรกสดใส นักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมเพิ่ม 75% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา ส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศขยายตัว 25 %
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้บีโอไอหามาตรการเร่งรัดส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วน โลหะ ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเกษตร รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของผู้ได้รับส่งเสริม ทั้งนี้เพื่อช่วยกระตุ้นการลงทุนและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
ด้านนายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ หลายเรื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่มีคุณภาพ อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม และมาตรการส่งเสริมการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม จึงทำให้มั่นใจว่า หากบีโอไอแก้ไขปัญหาอุปสรรคแก่นักลงทุนอย่างใกล้ชิด ภาวะการลงทุนของไทยก็จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการยื่นขอรับส่งเสริม และการเปิดดำเนินกิจการ ซึ่งจะช่วยส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
สำหรับในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2546 ถึง 2549) การเปิดดำเนินงานของโครงการที่ได้รับส่งเสริมลงทุนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยจำนวนโครงการเปิดดำเนินงานเพิ่มจาก 424 โครงการในปี 2546 เป็น 1,074 โครงการ ในปี 2549 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 49 ต่อปี ส่วนมูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่เปิดดำเนินงานเพิ่มจาก 112,262 ล้านบาทในปี 2546 เป็น 202,081 ล้านบาทในปี 2549 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 29 ต่อปี
ไตรมาสแรกขยายตัว 75%
นายสาธิตกล่าวต่อไปว่า มูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ขอรับส่งเสริมในช่วง ไตรมาสแรกของปี 2550 (มกราคม-มีนาคม) มีมูลค่า 129,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่า 73,900 ล้านบาท ถึงร้อยละ 75 ส่วนจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จาก 302 โครงการ เป็น 356 โครงการ
อุตสาหกรรมที่มีผู้สนใจลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งคือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี กระดาษ และพลาสติก มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 33,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่าการลงทุน 13,500 ล้านบาทกว่า 2 เท่า
อันดับที่สองคือ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าการลงทุนรวม 29,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่าการลงทุน 12,000 ล้านบาทกว่า 2 เท่า มีโครงการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ กิจการทำ R&D ยางรถยนต์, โรงไฟฟ้า Bio Mass, กิจการ Logistic Park และโรงแรม เป็นต้น
อันดับสามคือ อุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการลงทุนรวม 29,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่าการลงทุน 7,800 ล้านบาท กว่า 4 เท่ามีโครงการลงทุนที่สำคัญได้แก่ กิจการผลิตน้ำมันปาล์ม กิจการคัดคุณภาพข้าว และกิจการผลิตเอทานอล
อันดับสี่คือ อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่าการลงทุน 11,500 ล้านบาท กว่าร้อยละ 72 โดยมีโครงการผลิตยางรถยนต์ โครงการผลิตรถแทร็กเตอร์ โครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และ Mould & Die
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 15,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนผลิต PCBA, Compressor, Resistor ชิ้นส่วน HDD และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
ต่างชาติลงทุนเพิ่ม สวนกระแส
นายสาธิตกล่าวถึงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ในช่วง 3 เดือนแรกปี 2550 ว่า มีมูลค่ากว่า 74,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2549 โดยหลายประเทศมีการขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มมากขึ้นกว่าไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ยังคงเป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยสูงสุดจำนวน 81 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 39,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2549 และคิดเป็นมูลค่าการลงทุนร้อยละ 51 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด ส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ของประเทศอื่นๆ ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน (เพิ่มร้อยละ 500 หรือ 5 เท่า) เกาหลีใต้ (เพิ่มร้อยละ 10) อินเดีย (เพิ่มร้อยละ 110) อินโดนีเซีย (เพิ่มร้อยละ 1,600 หรือ 16 เท่า) เยอรมนี (เพิ่มร้อยละ 230) ฝรั่งเศส (เพิ่มร้อยละ 29) แคนาดา (เพิ่มร้อยละ 16,000 หรือ 160 เท่า) แม้แต่การลงทุนจากออสเตรเลีย ซึ่งถูกระบุว่าขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทย ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 37

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ