มหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ (TICEF) ปิดฉากยิ่งใหญ่ มั่นใจไทยก้าวไปสู่ประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอาเซียนแน่นอน

ข่าวทั่วไป Wednesday December 1, 2010 16:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปปิด "มหกรรมงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ (TICEF) " ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน ณ โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์ ไฮแอท เซ็นทรัลเวิล์ด ที่ผ่านมา ได้เสร็จสิ้นลงอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหลายประเทศและหลายสาขาวิชาชีพ กว่า 1,700 คน จาก 50 ประเทศว่า ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม เนื่องจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอดของประเทศขนาดเล็กในสังคม เพราะปัจจุบันโลกมีการต่อสู้กันอย่างแข่งขันและเข้มข้นตามแนวคิดของนายจอห์น ฮอร์กิ้นส์ ประธานกลุ่มสร้างสรรค์และนักเขียนเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากอังกฤษ เนื่องจากในอนาคตข้างหน้า การแข่งขันด้วยอัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ ประเทศเล็กอย่างประเทศไทย จะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอย่างประเทศเวียดนามและประเทศจีนได้อีกต่อไป และทางรอดของประเทศเล็กอย่างไทยก็คือ การผลิตสินค้าจากทรัพยากรที่มีในประเทศ เช่น สมุนไพร และยารักษาโรคเป็นต้น “การสร้างสรรค์สามารถทำให้เอสเอ็มอีและบริษัทขนาดใหญ่แข่งขันกันอย่างเท่าเทียมได้ ไทยมีเอสเอ็มอี ถึงร้อยละ 99 หากสร้างโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ จะทำให้ช่วยประสบผลสำเร็จได้ มีการย้ายสู่อุตสาหกรรมที่เติบโตได้ โดยผู้ประกอบการต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น บุคลากรเป็นสินทรัพยที่สร้างสรรค์ได้ ดังนั้นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุน และเกิดการจ้างงานที่ดี รายได้ที่ดี อยู่ร่วมกันได้มนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยทำระดับปัจกบุคลและท้องถิ่น หากทำสำเร็จ สังคมก็สำเร็จ ต้องมีการจัดการสมดุลระหว่างความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ และเทคโนโลยี ซึ่งที่สุดนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้นได้” นายไตรรงค์กล่าว นายไตรรงค์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า หลังการจัดงาน"มหกรรมงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ" ในครั้งนี้ ยังเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาคนี้ และเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของไทย จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ได้ในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือปี พ.ศ.2555 อย่างแน่นอน ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานแม้เป็นครั้งแรกของไทย แต่ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ โดยประเทศไทยได้รับการยอมรับจาก WIPO หรือ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก องค์การสหประชาชาติ(UN) และ UNESCO รวมถึงองค์การการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ให้การยอมรับว่า ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำประเทศด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาคนี้ และหวังว่า Thailand Model เป็นแบบอย่างให้กับประเทศกำลังพัฒนาต่อไป ขณะเดียวกันไทยก็สามารถสร้างองค์กรคือ สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติในการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และองค์การการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาในการสร้างผู้นำภาคราชการ และผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะให้มีการจัดตั้ง WIPO ACADEME เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ เพราะการที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ 2 ประการคือ รัฐบาลสามารถผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศผู้นำด้านเศรฐษกิจสร้างในภูมิภาคนี้ และการเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้อยู่ในระดับร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ภายในปี 2555 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมูลค่าจะเพิ่มจากปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 900,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาทได้อย่างแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ