เอชเอสบีซี เผยตลาดเกิดใหม่เติบโตเร็วในไตรมาส 4/2010 แต่เผชิญความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อในปี 2011

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 21, 2011 13:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี ประเด็นสำคัญดัชนีตลาดเกิดใหม่ ไตรมาส 4/2010: - ดัชนีตลาดเกิดใหม่ของเอชเอสบีซี (HSBC Emerging Markets Index) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 55.7 ในไตรมาส 4/2010 ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม - อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก อินเดีย และจีน เติบโตเร็วที่สุด - อัตราเงินเฟ้อของราคาวัตถุดิบ พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบสองปีครึ่ง ขณะที่ระบบห่วงโซ่อุปทานยังมีปัญหา - ผลผลิตและธุรกิจใหม่ในตลาดเกิดใหม่มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาส 4/2010 - ปริมาณออร์เดอร์ส่งออกโตเร็วขึ้น แต่ยังน้อยกว่าที่เคยสูงสุดในไตรมาส 1/2010 ดัชนีตลาดเกิดใหม่ของเอชเอสบีซี (HSBC Emerging Markets Index หรือ HSBC EMI) ระบุว่า เศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ขยายตัวในอัตราที่เร็วขึ้นในไตรมาส 4/2010 ฟื้นจากการชะลอตัวชั่วคราวในไตรมาส 3/2010 และทำให้ช่องว่างของการเติบโตเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มตลาดเกิดใหม่เด่นชัดยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น (input cost inflation) เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในปี 2011 ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด นับตั้งแต่ไตรมาส 2/2008 ซึ่งดัชนี HSBC EMI ได้เคยรายงานไว้ตั้งแต่ไตรมาส 1/2010 ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ถีบตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ผลกระทบจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในสหรัฐอเมริกา และปริมาณสต็อกสินค้าของผู้ประกอบการที่มีอยู่น้อย ทำให้การส่งมอบสินค้าล่าช้าและมีราคาสูงขึ้น ดัชนี HSBC EMI ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.7 ในไตรมาส 4/2010 เพิ่มจาก 54.2 ของไตรมาสก่อน จากค่าเฉลี่ยที่ทรงตัวในระดับต่ำที่ 54.7 ในช่วง 5 ไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นก็ยังช้ากว่าที่เคยเติบโตในไตรมาส 4/2009 และครึ่งแรกของปี 2010 อัตราการเติบโตเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต ขณะที่การเติบโตของภาคบริการทรงตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2010 ทั้งนี้ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคการผลิตและภาคบริการอยู่ในระดับเกือบเท่ากัน มร. สตีเฟน คิง หัวหน้าเศรษฐกร ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างมากหลังจากชะลอตัวไปช่วงหนึ่งในไตรมาส 3/2010 โดยเป็นการกลับมาสู่แนวโน้มการเติบโตระยะยาว ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการที่ตลาดเกิดใหม่เหล่านี้มีการค้าระหว่างกันมากขึ้น อาจทำให้เราได้เห็น “ยุคทอง” ของตลาดเกิดใหม่ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศพัฒนาแล้วในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 ที่การค้าระหว่างประเทศเจริญรุ่งเรืองและอัตราภาษีลดต่ำลง ถ้าตลาดเกิดใหม่เหล่านี้สามารถร่วมมือกันลดระดับอัตราภาษีที่มีอยู่ เราอาจได้เห็นการเติบโตอย่างมหาศาลของการค้าโลกก็เป็นได้” “ขณะเดียวกัน ก็มีความวิตกกังวลที่ตามมาจากปัญหาเงินเฟ้อ เป็นครั้งแรกที่ต้นทุนและราคาสินค้าซึ่งเป็นองค์ประกอบของดัชนี HSBC EMI พุ่งขึ้นแตะระดับที่น่าเป็นห่วง นับจากที่ราคาอาหารและพลังงานที่ทะยานสูงขึ้นในช่วงต้นปี 2008 เคยส่งผลกระทบที่น่ากลัวมาแล้ว ผู้กำหนดนโยบายของประเทศตลาดเกิดใหม่จะสามารถชะลอภาวะเงินเฟ้อได้หรือไม่ เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่สำหรับนักลงทุนในปี 2011 เนื่องจากประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่อยากปล่อยค่าเงินลอยตัวและปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ดังนั้น จึงต้องหันมาจับตาผลกระทบของมาตรการ “ควบคุมเชิงปริมาณ” เช่น กรณีที่จีนและฮ่องกงพยายามจำกัดปริมาณสินเชื่อ” ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นทั่วกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะสาธารณรัฐเชค โปแลนด์ และตุรกีมีอัตราการเติบโตสูงมากในไตรมาส 4/2010 ส่วนจีนและอินเดียมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงและรวดเร็วที่สุดในช่วง 3 ไตรมาส ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไต้หวันเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และคงที่ในเกาหลีใต้ ผลประกอบการของบริษัทผู้ผลิตในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของออเดอร์ส่งออก ในบรรดาตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ 4 ประเทศ พบว่า อินเดียมีการขยายตัวของธุรกิจส่งออกสูงที่สุด จีนขยายตัวเพียงเล็กน้อย แต่บราซิลและรัสเซียกลับมีการส่งออกลดลง ส่วนภาคธุรกิจบริการของตลาดเกิดใหม่ อินเดียยังคงขยายตัวได้ดี แม้ว่าอัตราการเติบโตจะอ่อนตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำในช่วง 4 ไตรมาส ขณะที่จีนมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง (ในช่วง 8 ไตรมาส) ส่วนในรัสเซียขยายตัวในอัตราเร่งมากขึ้นมาตลอดช่วง 3 ไตรมาส และบราซิลขยายตัวเพียงเล็กน้อยในไตรมาส 4/2010 มร. เฟรเดอริก นิวมานน์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชีย ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า “ในปี 2011 เศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะยังคงขยายตัวในอัตราสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว สะท้อนถึงการเข้าสู่ยุคใหม่ที่โลกได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยเอเชียได้เข้าสู่วัฎจักรของการเติบโตที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจีนได้มีบทบาทสำคัญแทนที่สหรัฐอเมริกา ในฐานะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญกว่านั้นคือ การเติบโตเศรษฐกิจยังคงหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย โดยฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี และกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น สิงคโปร์ เริ่มมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แสดงถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในขณะที่เศรษฐกิจในโลกตะวันตกยังคงไม่แน่นอน” อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เร่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากนับตั้งแต่ไตรมาส 2/2008 ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจในระยะต่อไป เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ถีบตัวถึงระดับสูงสุด ก่อนจะลดลงมาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก ดัชนีราคาต้นทุนสินค้าไต่ระดับขึ้นเกือบ 6 จุดจากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้แรงกดดันจากเงินเฟ้อทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ผู้ผลิตต้องรับสภาพต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นในไตรมาส 4/2010 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ไตรมาส ส่วนผู้ประกอบธุรกิจด้านบริการมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าของผู้ผลิต แต่เงินเฟ้อในภาคบริการยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับจากไตรมาส 3/2008 เป็นต้นมา ดัชนีตลาดเกิดใหม่ในไตรมาส 4/2010 ที่ธนาคารเอชเอสบีซีจัดทำ ยังมีบทวิเคราะห์เพิ่มเติมเรื่องแนวโน้มที่เกิดขึ้นในปี 2010 ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างดัชนี EMI และ GDP ในภาพรวม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดัชนี EMI ระบุว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่มีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจที่ระดับ 8% ต่อปี ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2010 ลดลงจากที่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 9.6% ในไตรมาส 1/2010 ปัจจัยด้านการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออก ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในปี 2010 ดัชนี HSBC EMI ชี้ว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศช่วยกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ขณะที่การบริโภคภายในประเทศของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้รับผลกระทบจากภาวะการว่างงาน การตัดทอนงบประมาณของภาครัฐ และหนี้สินภายในครัวเรือน ข้อมูลจากดัชนี HSBC EMI ยังระบุว่า การบริโภคภายในประเทศของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในปี 2010 ปรับตัวดีขึ้นเทียบกับโลกตะวันตก เนื่องด้วยตลาดแรงงานที่เติบโตดี อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณว่าการบริโภคภายในประเทศของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอาจจะเริ่มฟื้นตัวในไม่ช้าจากตัวเลขการจ้างงานที่ดีขึ้น ดัชนี HSBC EMI ระบุไว้ตั้งแต่ไตรมาส 4/2009 ว่า แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกได้เคลื่อนย้ายสู่โลกตะวันออก เนื่องจากตลาดเกิดใหม่มีการพึ่งพาทางการค้าต่อกันมากขึ้น เห็นได้ชัดจากปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกันเอง ความสัมพันธ์ทางการค้าเช่นนี้จะทำให้ “เส้นทางสายไหม” ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต กลับมาเป็นช่องทางเชื่อมโยงการค้ากับประเทศพัฒนาแล้วอีกครั้ง ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มตลาดเกิดใหม่ก้าวเข้าสู่ยุคทองในทศวรรษหน้า ดัชนี HSBC EMI เป็นดัชนีรายไตรมาส คำนวณโดยใช้ฐานข้อมูล Purchasing Managers’ Index (PMI) พัฒนาโดย Markit ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงินทั่วโลก ธนาคารเอชเอสบีซี ได้ร่วมมือกับ Markit ในปี 2009 เพื่อสนับสนุนและร่วมพัฒนาดัชนี PMI ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วรนันท์ สุทธปรีดา, สาวิตรี หมวดเมือง โทรศัพท์ 0-2614-4609, 0-2614-4606

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ