ม.อ.ชี้หาดใหญ่เสี่ยงสูงเจอภาวะขาดแคลนอาหารแนะจัดโซนเพิ่มพื้นที่ปลูกพืช ตุนเสบียงรับมือภัยธรรมชาติ

ข่าวทั่วไป Tuesday February 22, 2011 17:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ม.อ. ชี้สภาพอากาศปรวนแปร-ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อ อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีความเสี่ยงสูงต่อการขาดแคลนอาหาร หากเกิดวิกฤติในพื้นที่ แนะสร้างแนวกันพื้นที่เป็นโซนปลูกพืชอาหารป้อนคนในพื้นที่ ลดการพึ่งพาอาหารจากต่างพื้นที่ ป้องกันการขาดแคลนอาหารยามเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร นักวิชาการหน่วยวิจัยการจัดการความเสี่ยงและท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า คณะได้ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ทำการศึกษาเพื่อประเมินความเปราะบางและความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหาร จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พบว่า อำเภอหาดใหญ่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติในพื้นที่ ได้แก่ เรื่องของปัญหาน้ำ การท่องเที่ยว และพื้นที่ทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในการปลูกพืชอาหาร ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า พื้นที่เกษตรกรรมของ อ.หาดใหญ่ สามารถผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูประชากรในพื้นที่ได้เพียงร้อยละ 5 ของจำนวนประชากรที่อยู่ใน อ. หาดใหญ่เท่านั้น ที่เหลือเป็นการนำเข้ามาจากต่างพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งมีผลต่อความเสี่ยงในการขาดแคลนอาหารของคนในพื้นที่ ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นหากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นในพื้นที่หรือต่างพื้นที่ หรือเกิดปัญหาการคมนาคมไม่สะดวก ซึ่งเมื่อศึกษาโดยใช้แผนที่การใช้ที่ดิน สภาพเศรษฐกิจ สังคม ภูมิประเทศ มาประกอบจะพบว่า มี 7 พื้นที่ใน 13 ตำบลที่อยู่ในอำเภอหาดใหญ่ เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหารมากที่สุด โดยตำบลคลองแห เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด เนื่องจากเป็นตำบลที่เป็นพื้นที่รับน้ำ และไม่สามารถจัดการปัญหาด้วยตนเองได้ นักวิชาการหน่วยวิจัยการจัดการความเสี่ยงและท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.อ. กล่าวว่า จากผลการศึกษาดังกล่าว จึงได้เสนอแนะให้อำเภอหาดใหญ่เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารให้มากขึ้น หรือไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 5 ของพื้นที่ หรือเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่า เพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และวาตภัยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนมีผลต่อการเพาะปลูกพืชอาหารที่มีผลผลิตลดลง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าว ยังไม่ได้รับการตอบรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันราคาที่ดินในอำเภอหาดใหญ่มีราคาสูงขึ้น และเกษตรกรผู้เพาะปลูกยังคงนิยมปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันมากกว่าการปลูกพืชอาหาร เนื่องจากให้ราคาที่สูงกว่าพืชอาหารมาก “หลังปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่อำเภอหาดใหญ่ที่ผ่านมา ปัญหาผักผลไม้ในหาดใหญ่มีราคาแพง เนื่องจากการขนส่งมีความลำบาก เราจึงต้องหาคิดหาวิธีเลี้ยงตัวเองให้ได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ ด้วยการเพิ่มแหล่งอาหารในพื้นที่ให้มากขึ้น จึงอยากนำเสนอให้กับผู้นำองค์กรส่วนท้องถิ่นจัดโซนนิ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ในเทศบาลให้ชัดเจน โดยอยากให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่ หรืออย่างน้อยร้อยละ 15 ของพื้นที่ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกพืชอาหารเพื่อรองรับกับการขาดแคลนอาหารในยามที่เกิดวิกฤติจากภัยพิบัติ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปาริชาติ กล่าว เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ :พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร: 0-2248-7967-8 ต่อ 118 e-mail : c_mastermind@hotmail.com หรือ kongwong91@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ