ปภ.เตือนหน้าร้อนนี้...เด็กเสี่ยงจมน้ำสูง

ข่าวทั่วไป Thursday March 10, 2011 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--ปภ. จากสถิติอุบัติภัยในเด็ก พบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุทำให้เด็กเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 เฉลี่ยปีละกว่า 1,500 คนหรือวันละ 4 คน โดยเฉพาะช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บ่อน้ำ ทะเลสาบ แม่น้ำ เป็นต้น รวมถึงสระน้ำและแหล่งน้ำตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงขอแนะวิธีป้องกันเด็กจมน้ำเสียชีวิต ดังนี้ แหล่งน้ำธรรมชาติ ให้เด็กเล่นน้ำในบริเวณปลอดภัยที่ระดับน้ำไม่ลึก ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำหรือวิ่งเล่นบริเวณริมตลิ่งหรือชายทะเลตามลำพัง แม้เด็กจะว่ายน้ำเป็นก็ตาม เพราะหากเด็กเป็นตะคริว เกิดกระแสน้ำวนหรือคลื่นดูด จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างปลอดภัย สระว่ายน้ำ ให้เด็กเล่นน้ำในสระว่ายน้ำที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย และเล่นน้ำในสระน้ำที่เหมาะสมกับวัยและทักษะในการว่ายน้ำของเด็ก รวมถึงดูแลไม่ให้เด็กเล่นน้ำในลักษณะผาดโผน แหล่งน้ำภายในบ้าน สร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก เช่น ปิดประตูห้องน้ำให้สนิท ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำ ทำรั้วกั้นบ่อปลา เป็นต้น เพื่อป้องกันเด็กเล็กจมน้ำจากความซุกซน ที่สำคัญ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด สอนให้เด็กมีทักษะในการช่วยเหลือตนเอง หากเกิดฉุกเฉิน รวมถึงให้เด็กสวมใส่เสื้อชูชีพ หรือห่วงยางในการเล่นน้ำ และโดยสารเรือทุกครั้ง นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรเรียนรู้วิธีช่วยเหลือเด็กและการปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำอย่างถูกวิธี ดังนี้ การว่ายน้ำเข้าไปช่วยเหลือเด็กจมน้ำ ให้พยุงตัวเด็กไว้ โดยวิธีพยุงตัวแบ่งเป็น 3 แบบ ดังนี้ แบบที่ 1 กอดไขว้หน้าอก ใช้มือข้างหนึ่งพาดบนบ่าข้ามข้อศอกไขว้ทแยงหน้าอก จับข้างลำตัวตรงรักแร้ใช้มืออีกข้างหนึ่งพุ้ยน้ำ ถีบเท้าทั้งสองข้างให้ลอยตัว และว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง แบบที่ 2 ใช้มือทั้ง 2 ข้าง จับขากรรไกรทั้ง 2 ข้างของเด็ก แล้วใช้เท้าถีบน้ำ เพื่อลอยตัวและเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แบบที่ 3 ใช้มือข้างหนึ่งจับผม และมืออีกข้างหนึ่งพุ้ยน้ำ พร้อมใช้เท้าถีบน้ำให้ลอยตัว วิธีนี้เหมาะสำหรับเด็กจมน้ำที่พยายามกอดรัดผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ วิธีปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ หากพบว่าเด็กหยุดหายใจให้บีบจมูกแล้วเป่าปากสลับกับการนวดหัวใจ กรณีไม่สามารถใช้วิธีเป่าปากได้ให้จับเด็กนอนคว่ำลักษณะห้อยหัว ใช้มือสองข้างยกท้องเด็กขึ้น เพื่อให้น้ำไหลออกจากปาก หากเด็กเริ่มรู้สึกตัวให้จับเด็กนอนตะแคง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกจากปากอีกครั้ง ใช้ผ้าห่มคลุมตัวเด็กให้เกิดความอบอุ่นแล้วรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลในทันที
แท็ก ธรรมชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ