รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พบหารือผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เร่งปลดไทยพ้น PWL

ข่าวทั่วไป Monday April 11, 2011 16:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--124 คอมมิวนิเคชั่นส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พบหารือผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เร่งปลดไทยพ้น PWL ยืนยันให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ สหรัฐเป็นห่วงเรื่องการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ แต่ยังยาหอมชื่นชมไทยที่ดำเนินนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาควบกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชี้เป็นนโยบายที่ดี นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2554 ได้พบหารือกับนางบาร์บาร่า ไวเซิล ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เกี่ยวกับความคืบหน้าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในช่วงปี 2553 ที่ผ่านมา โดยผู้แทนการค้าสหรัฐได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการวางขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในไทย ซึ่งยังคงพบเห็นได้ทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สีแดง และปัญหาการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ของไทย ซึ่ง USTR ได้รับข้อมูลจากภาคเอกชนสหรัฐฯ คือ MPA (Motion Picture Association) ว่ามีภาพยนตร์สหรัฐฯ ถูกละเมิดโดยการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ในไทย เพิ่มขึ้นจาก 25 เรื่องในปี 2552 เป็น 37 เรื่องในปี 2553 สหรัฐฯ จึงหวังว่าไทยจะออกกฎหมายเอาผิดเจ้าของพื้นที่ที่ใช้ในการขาย ผลิต เก็บรักษาสินค้าละเมิดทรัพย์สิน ทางปัญญา และกฎหมายป้องกันการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ได้โดยเร็ว แต่อย่างไรก็ตามได้แสดงความชื่นชมการดำเนินนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาควบคู่กับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะเป็นการสร้างความตระหนักให้กับประชาชน เกี่ยวกับความสำคัญของการสร้างสรรค์ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชนในภาพรวม “ทางประเทศไทยได้ยืนยันไปว่าไทยตระหนักดีเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันกระบวนการออกกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว มีความคืบหน้าไปมาก โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการร่างกฎหมายป้องกันการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 และขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในประเด็นด้านเทคนิคเกี่ยวกับรูปแบบของการตรากฎหมายว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายลิขสิทธิ์ หรือกฎหมายเฉพาะ และควรจะเป็นความผิดที่ยอมความได้หรือไม่ และสำหรับกฎหมายเอาผิดเจ้าของพื้นที่ กระทรวงพาณิชย์กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานผู้แทนการค้าไทย ว่าบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบันมีความครอบคลุมประเด็นนี้แล้วหรือไม่ หรือจำเป็นจะต้องออกฎหมายใหม่เป็นการเฉพาะ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปโดยเร็วต่อไป ซึ่งผมขอยืนยันว่า ทุกหน่วยงานมีความเห็นพ้องกันว่าจำเป็นจะต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว เพียงแต่ยังมีความเห็นแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดวิธีการดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ดี ในระหว่างนี้ผมได้มอบหมายให้กรมสรรพากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบการเสียภาษี และบัญชีธุรกิจของผู้ให้เช่าพื้นที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอีกทางหนึ่งด้วย” นายอลงกรณ์กล่าว นายอลงกรณ์เปิดเผยต่อไปว่า ในปี 2553 หน่วยงานของไทยปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ 4,851 คดี ยึดของกลาง 4,247,708 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นคดีใหญ่ที่มีของกลางมากกว่า 3,000 ชิ้น จำนวน 89 คดี พร้อมทั้งได้จัดการทำลายของกลางละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 3 ครั้ง จำนวน 879,357 ชิ้น มูลค่ากว่า 2,300 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากลับเข้าสู่ตลาดได้อีก ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ “ในการนี้ผมได้เรียกร้องให้นางบาร์บาร่า ไวเซิล และ USTR ตระหนักถึงความคืบหน้าการดำเนินการของไทย และให้เครดิตรัฐบาลไทย ที่ได้พัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ จนมีความคืบหน้าจากเมื่อปี 2550 ที่ไทยถูกจัดเป็น PWL ครั้งแรกอย่างเด่นชัด ทั้งการให้ความสำคัญในระดับนโยบาย ผลักดันกฎหมาย การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักของประชาชนผ่านการดำเนินนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาควบคู่กับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สมควรที่ไทยจะได้รับการถอดจาก PWL ในการประเมินผลตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ที่จะประกาศผลในเดือนเมษายน 2554 รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ อินทิรา ใจอ่อนน้อม บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง จำกัด โทร. 0-2718-1886

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ