ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรม แต่งตัวเข้าตลาด mai ตั้ง บล.โนมูระ พัฒนสิน ที่ปรึกษา พร้อมยื่นไฟลิ่งไตรมาส 3 นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 31, 2011 16:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ บมจ. ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรม ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องเพรสไฮโดรลิคขนาดใหญ่และเครน ครบวงจรรายเดียวในประเทศไทย เดินหน้าปรับโครงสร้างกิจการ ก่อนเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เลือก บล.โนมูระ พัฒนสิน เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน พร้อมยื่นไฟลิ่งไตรมาส 3 ปีนี้ มั่นใจอนาคตธุรกิจเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ นายสุรเชษฐ์ กมลมงคลสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการ เพื่อเตรียมพร้อมนำหุ้นเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ภายในปี 2554 โดยได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และคาดว่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อขอกระจายหุ้นกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ สำหรับ บมจ. ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรม ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรไฮดรอลิค โดยเฉพาะเครื่องเพรสไฮโดรลิคขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้โลหะต่างๆ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังผลิต เครน เครื่องยก และเครื่องจักรต่างๆ โดยกลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อู่รถยนต์ และกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลกอย่าง Toyota, Nissan, Honda, Mazda, Mitsubishi Motors และ Ford โดยบมจ.ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม ได้ผ่านปรับโครงสร้าง ด้วยการรวมบริษัท ที.เอ็ม.ซี. แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (T.M.C. Manufacturing CO., LTD.) ที่เน้นผลิตสินค้าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และอู่รถยนต์ทั่วไป และบริษัท ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรม จำกัด (T.M.C. Industrial CO., LTD.) ที่เน้นผลิตเครื่องเพรสไฮดรอลิคขนาดใหญ่เฉพาะตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ทั้งนี้ หากดูเฉพาะเครื่องเพรสไฮดรอลิคขนาดใหญ่และเครน บมจ. ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีการผลิตแบบครบวงจรเพียงรายเดียวในประเทศไทยและมีคุณภาพระดับสากล มีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เพื่อขยายกำลังการผลิตรองรับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และการขยายธุรกิจด้านส่งออกของบริษัทฯ “ตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) การลงทุนในภาคการผลิตจะมีการฟื้นตัวอย่างมากในปี 2554 ภายหลังจากบริโภคที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ในปี 2553 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของ บมจ.ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากส่วนหนึ่งมีการเปิดตัวรถ รุ่นใหม่หลายรุ่นในปีนี้ และอีกส่วนหนึ่งได้รับอานิสงค์จากโครงการรถยนต์อีโคคาร์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมคาดว่า ประเทศไทยจะมียอดการผลิตในปี 2553 ถึง 1.7 ล้านคัน จากเดิมในปี 2552 ที่มียอดผลิตเพียงประมาณ 1 ล้านคัน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์อันดับต้นๆ ในอาเซียน และจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศในระยะยาวภายหลังการรวมตัวของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558” กรรมการผู้จัดการ บมจ. ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรม กล่าว ขณะที่ดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีการปรับตัวสูงขึ้นพอสมควรในปี 2553 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากการขยายตัวของตลาดเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถ โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดว่าดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการขยายตัวกว่า 20% ในปี 2553 ด้านนายนิมิต วงศ์จริยกุล กรรมการบริหารและผู้บังคับบัญชาสายงานบริหารด้านวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า เมื่อ เดือนธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการปรับโครงสร้างของ บมจ.ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม โดยการควบรวมกิจการของ บริษัท ที.เอ็ม.ซี. แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เข้ามารวมกับ บริษัท ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรม จำกัด เพื่อเตรียมพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ โดยปัจจุบันทาง บล.โนมูระ พัฒนสิน อยู่ระหว่างเดินหน้าเตรียมความพร้อมให้บริษัทฯ ในการเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ โดยตั้งเป้าหมายยื่นขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทต่อประชาชน ครั้งแรก ภายในปี 2554 และเชื่อว่า ด้วยศักยภาพและโอกาสการเติบโตของบมจ.ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จะทำให้หุ้นของบริษัทฯ เป็นที่สนใจของนักลงทุน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : อรอนงค์ ภัทรเวชกุล (ฟ้า) บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ในนาม บมจ.ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรม) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 117 E-mail: orn_tabo@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ