สภาหอการค้าฯ เสนอทางออกแก้ปัญหาความแออัดท่าเรือกรุงเทพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2011 17:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายภาณุมาศ ศรีศุข ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้งดให้บริการท่าเทียบเรือบางส่วนที่ท่าเรือกรุงเทพ เพื่อทำการปิดซ่อมรางปั้นจั่นยกตู้สินค้า (Gantry Crane) บริเวณหน้าท่า การปรับปรุงนี้จะใช้เวลา 2 ปี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2553 เป็นต้นมา โดย ท่าบริการตู้สินค้า 1 ซึ่งมีท่าเทียบเรือ 4 ท่า ปัจจุบันใช้ได้ 2 ท่า เนื่องจากอยู่ระหว่างการซ่อมรางเครน และทดสอบ Gantry Crane ที่เพิ่งติดตั้ง โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ 100% ประมาณต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ท่าบริการตู้สินค้า 2 มีท่าเทียบเรือ 3 ท่า ปัจจุบันใช้ได้ 2 ท่า เนื่องจาก Crane เสีย อยู่ระหว่างการรออะไหล่จากต่างประเทศ และในระหว่างเดือนสิงหาคม 2554 — กรกฎาคม 2555 จะปิดปรับปรุงทีละท่า ใช้เวลาท่าละ 3 เดือน เป็นเวลาโดยรวมประมาณ 1 ปี ดังนั้น ในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 — กรกฎาคม 2555 จะเปิดให้ใช้บริการรวมทั้ง 2 ท่าบริการ ตู้สินค้าได้เพียง 6 ท่า และคาดว่าจะเปิดใช้บริการได้ครบสมบูรณ์ทั้ง 7 ท่าอีกครั้งได้ภายในสิ้นปี 2555 นอกจากนี้ จะดำเนินการปรับปรุงลานพักตู้สินค้าหมายเลข 2 เป็นเวลา 10 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 เป็นต้นไป นายภาณุมาศ กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ส่งผลกระทบต่อเรือสินค้า ที่จะต้องใช้บริการ ท่าเทียบเรือของท่าเรือกรุงเทพเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรือสินค้าต้องจอดรอเพื่อเทียบท่าประมาณ 3—4 วัน ทำให้ผู้ประกอบการจากหลายองค์กร ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมเจ้าของเรือไทย และสมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพ ได้ร่วมหารือ เพื่อสรุปผลกระทบที่เกิดขึ้น และเสนอแนวทางแก้ไข ดังต่อไปนี้ผลกระทบต่อผู้ประกอบการจากปัญหาความแออัดที่ท่าเรือกรุงเทพ 1. บริษัทเรือไม่สามารถขนส่งสินค้าไปถ่ายลำให้เรือแม่ (Mother Vessel) ในท่าเรืออื่นในต่างประเทศได้ทันตามกำหนดเวลา และตู้สินค้าบางตู้ต้องถ่ายลำเพื่อไปต่อกับสายเรืออื่น เป็นผลให้ส่งตู้สินค้าไม่ทันกำหนดเวลาไม่ต่ำกว่า 7 วัน ทำให้ต้องรับภาระต้นทุนการบริหารเรือที่เพิ่มขึ้น ดังนี้ จากจำนวนเรือที่เข้าท่าเรือกรุงเทพ 200 ลำ/เดือน คิดเป็นค่าเสียเวลาเรือ ~ 480 ล้านบาท/เดือน ค่าน้ำมันส่วนเพิ่มเนื่องจากต้องเร่งความเร็วในการไปถึงที่หมาย 10-20% ~ 163 ล้านบาท/เดือน ค่าฝากตู้สินค้าขาออก (Storage) ในท่าเรือ ~ 36 ล้านบาท/เดือน 2. ผู้นำเข้า-ผู้ส่งออก รับภาระค่า Bangkok Port Congestion Surcharge USD 50/ตู้ 20 ฟุต และ USD 100/ตู้ 40 ฟุต สำหรับตู้สินค้าขาเข้าและขาออกที่ท่าเรือในกรุงเทพทุกแห่ง คิดเป็นค่าใช้จ่าย ~ 215 ล้านบาท/เดือน อาจถูกผู้ซื้อสินค้าปลายทางปฏิเสธการรับสินค้า เนื่องจากสินค้าถึงไม่ตรงตามกำหนด ส่วนสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ที่ต้องเปลี่ยนไปใช้การขนส่งทางอากาศแทน สินค้าประเภทเน่าเสียง่าย (Perishable) อาจด้อยคุณภาพลง เช่น ผัก ผลไม้ และสินค้าแช่เย็นต่างๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้การขนส่งทางอากาศ สำหรับสินค้าตู้เย็น (Reefer) ขาออกที่ต้องไปใช้ท่าเรือ หรือ ICD ของเอกชนข้างนอก จะมี ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม ~ 3,000 บาท/ตู้ สินค้านำเข้าที่ใช้ท่าเรือกรุงเทพจำนวนมาก ประสบปัญหาที่ใช้เวลานานในการหาตู้สินค้า เนื่องจากตู้ถูกนำไปวางกระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบ คณะผู้แทนของภาคเอกชน นำโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบปลัดกระทรวงคมนาคมเพื่อชี้แจงประเด็นปัญหา ตลอดจนร่วมหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาความแออัดของท่าเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากปลัดฯ และผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของการท่าเรือฯ จนได้ข้อสรุป ดังนี้ 1. ให้การท่าเรือฯ และผู้ประกอบการเรือไปหารือเพื่อวางแผนกำหนดการรับเรือเข้าเทียบท่าในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 — กรกฎาคม 2555 ที่ผู้ประกอบการจะสามารถใช้ท่าเทียบเรือได้เพียง 6 ท่า โดยให้วางแผนการรับเรือเข้าเทียบท่าเป็นรายเดือน 2. ให้การท่าเรือฯ และผู้ประกอบการเรือ ตรวจสอบความสามารถของ Gantry Crane อีกครั้ง เนื่องจากข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ตรงกัน นอกจากนี้ ยังให้ตรวจสอบด้วยว่า จำนวนรถหัวลาก 140 คันที่การท่าเรือฯ จัดเตรียมไว้ให้เพียงพอกับความต้องการในการใช้งานหรือไม่ อีกทั้งให้ปรับปรุงระบบการบริหารการใช้รถหัวลากให้มีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้งานได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงคมนาคมจะเรียกประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยคณะผู้แทนของภาคเอกชนได้มีข้อเสนอแนะอื่นๆ ดังต่อไปนี้ 1. ขอให้การท่าเรือฯ พิจารณาเปลี่ยนการจัดสรรให้เรือเข้าเทียบท่าเป็นระบบ Fixed Window เป็นรายเดือน แทนระบบ First Come First Serve (เรือลำไหนมาก่อนได้เข้าเทียบท่าก่อน) ในปัจจุบัน เพื่อจะได้จัดทำตารางการเทียบท่าของเรือสินค้าล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้การบริหารเวลาในการเทียบท่าและการขนถ่ายสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นเดียวกันกับท่าเรือระดับนานาชาติทั่วไป 2. การท่าเรือฯ ควรประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบอย่างเป็นทางการในเรื่องต่อไปนี้ การปิดปรับปรุงท่าบริการตู้สินค้า 2 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 — กลางปี 2555 ทำให้เปิดให้บริการได้เพียง 6 ท่า โดยควรระบุว่ามีการเตรียมท่าเรือสำรองไว้ที่ใด สำหรับการปิดปรับปรุงลานพักตู้สินค้า โดยควรระบุว่ามีการเตรียมลานพักตู้สินค้าสำรองไว้ ที่ใดบ้าง 3. พิจารณาขยายเวลา Free Time ในลานพักตู้สินค้า จากปกติ 3 วันเป็น 7 วันในช่วงที่ดำเนินการปรับปรุงท่าเรือ และลานพักตู้สินค้า รวมทั้ง การชดเชยค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น ค่าฝากตู้ เป็นต้น (ซึ่งการท่าเรือฯ ได้รับไว้พิจารณาและจะนำเสนอให้คณะกรรมการบริหารของการท่าเรือฯ พิจารณาต่อไป) 4. ขอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่ชัดเจนว่า จะปรับลดขนาดของท่าเรือกรุงเทพลงหรือไม่ และเมื่อใด และปีละเท่าใด ทั้งนี้ เพื่อลดความแออัดของการจราจรในกรุงเทพฯ และผู้ประกอบการสามารถไปเตรียมแนวทางที่จะไปใช้ท่าเรือแหลมฉบัง หรือท่าเรือเอกชนอื่นทดแทน ฝ่ายสื่อสารองค์กร โทร. 02-6221860-76 ต่อ 402-7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ