ประติมากรรมใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติ หมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด

ข่าวท่องเที่ยว Friday June 24, 2011 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.-- ปะการังและธรรมชาติใต้ทะเล เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญสำหรับสัตว์ทะเลและมนุษย์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ได้รับความเสียหายอย่างมากจากภาวะโลกร้อนและการใช้ทรัพยากรอย่างเกินขีดจำกัด ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ช่วยให้ปะการังและธรรมชาติใต้ทะเลได้ฟื้นตัว กลับมามีสภาพดี สนับสนุนการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติแนวอนุรักษ์ การสร้างประติมากรรมใต้ทะเล เป็นหนึ่งในทางออกเพื่อเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ให้สาธารณะชนได้สนใจสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ผสมผสานกับการนำเสนอศิลปะ และวัฒนธรรมในรูปแบบที่น่าสนใจ วัตถุประสงค์ ๑. เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา ๒. เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ศิลปะ และวัฒนธรรม เชิงบูรณาการ ๓. ลดความเสียหาย และความแออัดที่เกิดกับปะการังและแหล่งท่องเที่ยวใต้ทะเล ๔. เพิ่มแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลให้ชุมชนท้องถิ่น ๕. นำเสนอการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้กับสถานที่ท่องเที่ยว วิธีการ นำเสนอวิถีชีวิตและคุณค่าไทยผ่านการออกแบบจัดสร้างงานประติมากรรมที่สามารถจัดแสดงได้ทั้งบนบกและใต้ทะเลด้วยวัสดุที่มีอายุยืนยาว ทนทานการกัดกร่อน ปะการังสามารถเติบโตได้ ไม่เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล สามารถปลูกปะการังและอนุบาลสัตว์ทะเล เป็นประติมากรรมนำเสนอแนวคิดสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในพื้นที่และระดับชาติ โดยเริ่มจากช้างที่มีความหมายเป็นมงคลกับจังหวัดตราดและชาวไทยทั้งประเทศ กลุ่มประติมากรรมจัดแสดงในพื้นที่ใต้ทะเลที่เป็นลานทราย ไม่มีจุดสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมดำน้ำและประมงมาก่อน เพื่อให้นักดำน้ำแบบผิวน้ำ และแบบดำน้ำลึกได้มาท่องเที่ยว ชมงานศิลปะ ประสานกับกิจกรรมปลูกปะการัง ปล่อยหอยมือเสือและปลาการ์ตูน เพื่ออนุบาลและเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำในระยะยาว มีการให้ความรู้ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เช่น ปลูกป่าชายเลน โดยนำรายได้บางส่วนที่ได้เพิ่มจากการท่องเที่ยวมาสนับสนุนประมงและชุมชนพื้นบ้านเพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นโดยรวมอย่างยั่งยืน สถานที่ทีเหมาะสม ผลการสำรวจพื้นที่ใต้ทะเลหมู่เกาะช้างจังหวัดตราด ได้พื้นที่ใต้ทะเลที่มีความเหมาะสมบริเวณใกล้เกาะหมาก โดยมีลักษณะดังนี้ ๑. เป็นลานทรายใต้ทะเลที่มีสภาพพื้นทรายและระดับความลึกเหมาะกับการจัดแสดงประติมากรรม ไม่ใช่เส้นทางประจำในการสัญจรทางเรือและแหล่งทำการทำประมง ไม่มีความรุนแรงของกระแสน้ำเมื่อมีการขึ้นลงของน้ำทะเล มีความปลอดภัยเหมาะสมกับนักท่องเที่ยวแบบน้ำตื้น และนักดำน้ำลึก เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากการใช้และรักษาทรัพยากรร่วมกัน ๒. มีระยะการเดินทางจากฝั่งและหมู่เกาะที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานในการเดินทาง ให้เด็ก เยาวชนและครอบครัวสามารถเยี่ยมชม และทำกิจกรรมร่วมกันได้ ๓. ใต้ทะเลมีระดับความใสสามารถมองเห็นได้ในระยะมากกว่า ๑๐ เมตรในเวลากลางวันและในฤดูกาลท่องเที่ยว ปลอดจากกระแสลมรุนแรง รายละเอียดของประติมากรรมประติมากรรมลอยตัวรูปช้างมงคล จำนวน ๕ ชิ้น มีความหมายคือ ช้างอุโบสถหัตถี สีกายดั่งทองนพคุณ ตระกูลพรหมพงศ์ อายุยืนนาน เจริญวิทยาการ ช้างจตุรศก รูปทรงงามบริบูรณ์ มีงา ๔ งา ตระกูลอิศวรพงศ์ ร่ำรวย เจริญทรัพย์ ช้างอ้อมจักรวาล มีลักษณะอันงาม งาข้างขวายาวอ้อมงวงมาทับงาข้างซ้าย มีกำลังมาก ตระกูลอิศวรพงศ์ ร่ำรวย เจริญทรัพย์ ช้างปทุมทันต์มณีจักร งาดังปลีกล้วย ห้าวหาญในสงคราม ตระกูลอัคนีพงศ์ มัจฉา มังสาหารบริบูรณ์ ช้างพิฆเนศวรมหาพินาย มีงาซ้ายข้างเดียว ลักษณะงามสมบูรณ์ ช้างอื่น ๑๐๐๐ ช้างสู้ไม่ได้ ตระกูลอัคนีพงศ์ ประติมากรรมมีขนาดความสูงโดยประมาณ ๒๕๐ เซนติเมตร สร้างด้วยวัสดุผสมคอนกรีตและสัมฤทธิ์ ๒ ประติมากรรมลอยตัวรูปวิถีช้างไทย ๔ ชิ้น สื่อถึงครอบครัวช้างแทนความรักสามัคคีของสถาบันครอบครัวและประชาชน หัวหน้าคณะประติมากร อาจารย์แหลมสิงห์ ดิษฐพันธุ์ ศิลปินอาวุโส ไทยรักษ์แผ่นดิน ที่ปรึกษาสมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้หล่อหล่อพระยืนปางลีลา (พระศรีศากยะทศพลญาณฯ) พระประธาน พุทธมณฑล ออกแบบและขึ้นต้นแบบพระยืนถวายสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อนำไปแกะหินหยกติดตั้งที่เจดีย์ของกองทัพอากาศ ณ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ผู้หล่อพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้วประทานให้วัดบวรนิเวศวิหาร หล่อเหรียญสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ สวนเบญจสิริ กรุงเทพฯ การจัดแสดง จะจัดแสดง ณ พื้นที่หน้าศาลากลางรวม ๙ ชิ้นงานเพื่อเปิดแสดงพร้อมนิทรรศการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตช้างไทยในวันที่ ๕ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๕๕๔ ก่อนนำไปจัดแสดงในพื้นที่ใต้ทะเลที่มีการเตรียมการไว้แล้ว ผู้สนับสนุนโครงการ จังหวัดตราด พร้อม ส่วนราชการท้องถิ่น องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประชาชนและเอกชนตราด สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราด ศิลปินไทยรักษ์แผ่นดิน และ นักดำน้ำอาสาสมัคร ผลในเชิงคุณภาพ ๑. ลดความเสียหายของปะการังและแหล่งดำน้ำ ๒. เพิ่มพื้นที่และรูปแบบการเรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม ‘นอกห้องเรียน’ ให้เยาวชนท้องถิ่น และผู้มาเยือน ๓. เป็นการประชาสัมพันธ์ทางอ้อม เพื่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ในแนวทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผลในเชิงปริมาณ ๑. จากข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวหมู่เกาะช้างราว ๑,๐๐๐,๐๐๐ คนต่อปี ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลตอบแทน ภายในระยะเวลา ๑ ปี ประติมากรรมสามารถจัดแสดงและเป็นที่เติบโตของปะการังได้นานนับสิบปี ๒. จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่ประสงค์จะเดินทางมาชมงานศิลปะ และประวัติศาสตร์ในวิธีนำเสนอที่มีความโดดเด่น เพียงแห่งเดียวในโลก ๓. มีประโยชน์ต่อการอนุบาลสัตว์ทะเล เพื่อเศรษฐกิจชุมชน ๔. เป็นการประหยัดงบประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลก มีการประชาสัมพันธ์ทางอ้อมจากความประทับใจของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ยังสามารถเพิ่มกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงศิลปะ วัฒนธรรมได้อย่างต่อเนื่อง ให้หมู่เกาะช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านศิลปะและวัฒนธรรมในอนาคต รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณหรรษา สาละ ๐๘๖ ๙๙๓ ๙๒๙๐

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ