“ดีเจน้อย” สื่อสารบอกเล่าเรื่อง “เพศ” วัยรุ่น ขยายการเรียนรู้สร้าง “สุขภาวะทางเพศ” สู่เยาวชน

ข่าวทั่วไป Thursday July 7, 2011 12:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี ปัญหาด้านสังคมที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ ส่วนใหญ่มักจะหนีไม่พ้นในเรื่องของยาเสพติด การทะเลาะวิวาท การลักขโมย การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และปัญหาการถูกล่อลวงกระทำทางเพศ ข้อมูลจากศาลคดีเด็กและเยาวชน จ.พะเยา พบว่ามีคดีการกระทำความผิดในที่เกิดขึ้นมากที่สุดกลุ่มเยาวชนเพศหญิงคือ “การถูกล่อลวงกระทำทางเพศ” จากบุคคลภายนอก เพื่อน และคนใกล้ชิด อันมีสาเหตุมาจากการปัญหาสถาบันครอบครัวที่อ่อนแอ เด็กไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ต้องไปเรียนหนังสือในสถานที่ๆห่างไกลบ้าน เป็นเหยื่อของการโฆษณา และมีค่านิยมที่ผิด ส่งผลให้ขาดทักษะในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง “สำนักข่าวเด็กและเยาวชนจังหวัดพะเยา” ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาให้เยาวชนในพื้นที่โดยใช้สื่อแขนงต่างๆ เป็นเครื่องมือสื่อสารองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ไปสู่เยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ได้ตระหนักถึงปัญหาถึงปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำ “โครงการเสริมสร้างสุขภาวะทางเพศเด็กและเยาวชนจังหวัดพะเยา” ขึ้นเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องของสุขภาวะทางเพศ สร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต เพื่อให้อยู่ร่วมในสังคมได้มีความสุขอย่างยั่นยืน โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางสาววรรณพร เพชรประดับ ผู้อำนวยการสำนักข่าวเด็กและเยาวชนฯ และหัวหน้าโครงการเปิดเผยว่า โครงการเสริมสร้างสุขภาวะทางเพศเด็กและเยาวชนมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนงานด้านสุขภาวะทางเพศในพื้นที่ให้เกิดการขยายวงกว้างขึ้น เพราะจังหวัดพะเยามีเครือข่ายที่เรียกว่า “ศูนย์บริการเป็นมิตร” ซึ่งทำหน้าที่ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศทั้งหมด “แต่ปัญหาก็คือเด็กไม่เข้าไปปรึกษาหรือใช้บริการ เราจึงใช้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การรณรงค์ แจกแผ่นพับ จัดรายวิทยุ และสื่อต่างๆ ที่ทำได้ เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเข้าไปใช้บริการ โดยเลือกแกนนำเด็กจาก 6 ตำบลมาเข้ากระบวนการนักสื่อสาร สร้างแกนนำเด็กให้มีความรู้ และมีทัศนคติเรื่องสุขภาวะทางเพศที่ถูกต้อง แล้วเขาก็จะเข้ามาสู่กระบวนการใช้เครื่องมือสื่อสาร สื่อองค์ความรู้ออกไปสู่ชุมชน” นางสาววรรณพรกล่าว โดยทางโครงการได้ออกแบบกิจกรรมดำเนินการสำรวจข้อมูลปัญหา อบรม จัดเวทีเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพแกนนำ ซึ่งกระบวนการต่างๆ จะทำให้แกนนำเด็กและเยาวชนมีทัศนคติที่ถูกต้อง และเกิดความเข้าใจในเรื่องสุขภาวะทางเพศว่าไม่ได้เป็นเรื่องน่าอายแต่เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนควรจะต้องรู้ เพื่อที่จะสามารถป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นมาภายหลังได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงสร้างทักษะเทคนิคด้านการสื่อสาร การผลิตสื่อแขนงต่างๆ เพื่อให้แกนนำสามารถเผยแพร่ความรู้ สร้างความตระหนักในเรื่องสุขภาวะทางเพศ รวมถึงสามารถให้คำแนะนำปรึกษากับเยาวชนในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่แกนนำเด็กและเยาวชนเลือกใช้ในการเผยแพร่องค์ความรู้ในเรื่องของสุขภาวะทางเพศออกไปสู่ชุมชนก็คือ “วิทยุชุมชน” โดยจะเปิดสถานี บ้านดินเรดิโอ 103.5 Mhz ถ่ายทอดเสียงส่งผ่านความรู้แขนงต่างๆ ไปสู่ผู้ฟังตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น. ในวันจันทร์-ศุกร์ และในวันเสาร์-อาทิตย์ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. โดยมีแกนนำเยาวชนสลับสับเปลี่ยนกันมาถ่ายทอดความรู้ในด้านต่างๆ ควบคู่ไปกับเสียงเพลงในแต่ละช่วงเวลา สวัสดีท่านผู้ฟังทุกท่านที่อยู่ทางบ้าน เวลา 18 นาฬิกา ถึง 19 นาฬิกา ก็พบกับนีโน่ กฤษฎา ก๋าใจ ในรายการ สุขภาวะทางเพศเริ่มที่เยาวชน สำหรับท่านผู้ฟังที่อยู่ทางบ้านก็สามารถโทรศัพท์เข้ามาขอเพลง แนะนำ หรือมีเรื่องปรึกษาก็โทรเข้ามาได้ที่ 082-039-4951 สำหรับวันนี้เนื้อหาสาระของเรา จะเป็นในเรื่องของการป้องกันตนเอง หรือทักษะการปฏิเสธ ท่านผู้ฟังที่อยากรู้โปรดติดตามในช่วงหน้า ช่วงนี้ไปฟังบทเพลงเพราะๆกันก่อนครับ... เสียงพูดคุยทักทายเปิดรายการของดีเจน้อย นายกฤษฎา ก๋าใจ หรือ “น้องโน่” อายุ 18 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการบอกว่า เรื่องของสุขภาวะทางเพศนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเอดส์เท่านั้น บางคนคิดว่าสุขภาวะทางเพศจะต้องเป็นเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ชายและผู้หญิง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ สุขภาวะทางเพศเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสุขอนามัยและการดูแลป้องกันตัวเองที่เราทุกคนควรจะต้องรู้ “อย่างเรื่องการป้องกัน ไม่ใช่แค่ผู้ชายที่ต้องป้องกันตนเอง ผู้หญิงก็ต้องป้องกันด้วย ถ้ามีผู้ชายมาบอกผู้หญิงว่าไม่ต้องใส่ถุงยางได้ไหม เราก็จะแนะนำว่าให้ฝ่ายหญิงเอาถุงยางส่งให้ฝ่ายชายเลย แต่เรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนนั้นคิดว่าส่วนใหญ่เป็นเพราะความไม่รู้ของเด็กมากกว่า เพราะเขาไม่รู้ว่าตัวเองจะพร้อมตอนไหน และไม่ได้ป้องกัน ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เราก็จะพยายามให้ความรู้ตรงนี้ อย่างน้อยที่สุดถึงเขาจะมีเพศสัมพันธ์ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ป้องกัน เพราะเดี๋ยวนี้อายุแค่ 12-13 ก็ท้องกันแล้ว จะห้ามคงไม่ได้ แต่ให้ป้องกันเขาทำได้” ดีเจนีโน่ระบุ ด้านแกนนำนักสื่อสารรุ่นเยาว์ฝ่ายหญิงอย่าง “น้องฝ้าย” น.ส.จินตนา ตุ้มคำมา อายุ 19 ปี และ “น้องบราวน์” น.ส.สมฤทัย ศรีใจบัง อาบุ 18 ปี ทั้งพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนว่าเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ “ถ้าเราห้ามแล้วเขาไม่ฟัง ทางที่ดีคือสอนให้เขารู้จักวิธีการดูแลป้องกันตัวเอง เพราะในความเป็นเด็กเขาอาจแยกแยะดีชั่วไม่เป็น” น้องบราวน์กล่าว “เรื่องเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนในปัจจุบันดูจะเป็นเรื่องปกติ ห้ามกันได้ยาก แต่ถ้าจะมีก็ทั้งสองฝ่ายก็จะต้องรู้จักวิธีป้องกันอย่าให้ตั้งครรภ์ หรือไม่ก็ต้องรู้จักยับยั้งใจไว้บ้าง แต่ถ้ายังไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ก็ให้รู้จักวิธีการปฏิเสธไป หรือบอกผู้ชายไปตรงๆ ว่าเราไม่พร้อม” น้องฝ้ายแนะนำ “เป้าหมายแรกเราเน้นการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับเด็ก โดยใช้เด็กเป็นศูนย์กลาง แล้วเด็กจะไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ครอบครัวเป็นเป้าหมายที่สอง ส่วนชุมชนเป็นอันดับที่สาม ซึ่งเป็นผลพลอยได้ เพราะทัศนคติของผู้ใหญ่ที่นี่บางส่วนยังคิดว่าการสื่อสารในลักษณะนี้เป็นการชี้โพรงให้กระรอก เพราะที่นี่ยังเป็นวัฒนธรรมชนบทอยู่ แต่การสื่อสารเรื่องเพศจะต้องทำให้ดูเป็นเรื่องปกติ เพราะเรื่องสุขภาวะทางเพศไม่ใช่การป้องกันตัวเองอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของบทบาทหญิงชาย การเคารพสิทธิ การเคารพความรักที่หลากหลาย ซึ่งการสื่อสารในเรื่องนี้จะทำให้เด็กจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น ในแง่ความเป็นจริงในสังคมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น” หัวหน้าโครงการกล่าวสรุป. ? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0805533283 ปุณณดา / บรอดคาซท์ วิตามิน บี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ