คณะแพทย์ มช. ผู้นำในการรักษาโรคธาลัสซีเมีย จัดงานสวนดอกร้อยดวงใจ เพื่อชีวิตที่สดใส ห่างไกลธาลัสซีเมีย

ข่าวทั่วไป Tuesday July 12, 2011 15:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.พญ.พิมพ์ลักษณ์ เจริญขวัญ หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ธาลัสซีเมีย” เป็นโรคเลือดจางที่เกิดจากความผิดปกติของยีนที่สร้างสายโกลบิน ทำให้ไม่เกิดการสร้างโปรตีนโกลบินหรือสร้างได้เป็นโปรตีนที่มีโครงสร้างที่ผิดปกติไป เมื่อส่องดูเม็ดเลือดแดงผ่านกล้องจุลทรรศน์ จะพบเม็ดเลือดที่มีรูปร่างผิดปกติ ดังนั้นผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียถ้ามีอาการน้อย ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการเลย และตรวจพบว่าเป็นโรคธาลัสซีเมียโดยเหตุผลอื่น ชนิดที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการซีดตั้งแต่อายุ 6-12 เดือน และมักจำเป็นต้องรับเลือดแดงทุก 3-4 สัปดาห์ เพื่อบรรเทาอาการซีด ผุ้ป่วยที่มีอาการซีดเรื้อรัง จะมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูก หน้าตา ท้องโตจากอวัยวะภายในคือตับและม้ามที่โตขึ้น ชนิดที่มีอาการรุนแรงที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการซีดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มีตับและหัวใจโต เป็นทารกบวมน้ำ และส่วนใหญ่เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ธาลัสซีเมีย มีความสำคัญมากในคนไทย เนื่องจากคนไทย 60 กว่าล้านคนเป็นพาหะของธาลัสซีเมียสูงถึง 24 ล้านคน โอกาสที่ผู้ที่เป็นพาหะของธาลัสซีเมียจะแต่งงานกันและมีลูกที่เป็นธาลัสซีเมียก็สูงขึ้นไปด้วย เมื่อคำนวนแล้ว พบว่า เด็กเกิดใหม่ทุก ๆ 1,000 คนมีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง 6-8 คน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยความร่วมมือของ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา และทีมแพทย์จากสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารก สาขาโลหิตวิทยา และอีกหลายหน่วยงาน ได้มีการร่วมกันสร้างปรากฎการณ์ทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมีย ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ปัญจะ กุลพงษ์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ต่อพงศ์ สงวนเสริมศรี จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ได้ดูแลผู้ป่วยเด็กโรคธาลัสซีเมียมาโดยตลอด และได้มีก ารพัฒนาทั้งการจัดหาเลือดที่มีคุณภาพและพอเพียงจากธนาคารเลือด การให้ยาขับธาตุเหล็กชนิดฉีดผ่านเครื่องปั้มให้ยา จนปัจจุบันมีผู้ป่วยหลายรายที่แม้จะเป็นโรคธาลัสซีเมียที่รุนแรง แต่มารับเลือดอย่างสม่ำเสมอ ดูแลอาหาร การออกกำลังกาย และให้ยาขับธาตุเหล็กชนิดฉีด ซี่งต้องแทงเข็มฉีดยาผ่านเครื่องเป็นเวลา 10 ชั่วโมง ได้ครบ 5-6 วันต่อสัปดาห์ ได้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี เรียนดี และช่วยเหลือสังคมได้ดี นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. ต่อเงศ์ สงวนเสริมศรี ได้พัฒนาความรู้พื้นฐานทางด้านพันธุกรรมของธาลัสซีเมียในเชียงใหม่และภาคเหนือของประเทศไทยไปอย่างมาก โดยได้รับทุนจาก มูลนิธิ Volkswagen ประเทศเยอรมนี ศึกษาความชุกของพาหะธาลัสซีเมียชนิดต่าง ๆ ในประชากรภาคเหนือ และได้รายงานยีนธาลัสซีเมีย และฮีโมโกลบินผิดปกติที่พบเป็นครั้งแรกในโลกที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้แก่ ยีนเบต้า-โกลบิน แหว่งขนาด 3.4 กิโลเบส และอีกชนิดหนึ่งคือ ฮีโมโกลบิน สวนดอก (Hb Suan Dok) ที่มีความผิดปกติของสายอัลฟ่า-โกลบิน ซึ่งได้ชื่อตามโรงพยาบาลสวนดอกของเรานั่นเอง คณะแพทยศาสตร์ ฯ มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก และ สมาคมศิษย์เก่าแพทย์ มช. ขอเชิญคนไทยทุกคนร่วมกันทำบุญด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในการให้ชีวิตที่สดใส และห่างไกลโรคธาลัสซีเมีย ให้กับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ในภาคเหนือ ในการช่วยกันบริจาคทุนทรัพย์เพื่อซื้ออุปกรณ์และคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์ ผ่านทางมูลนิธิ โรงพยาบาลสวนดอกและร่วมบริจาคได้ที่ โทร. 053-920-400 และ 053-947-400 ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนสุเทพ เชียงใหม่ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชีมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอกร้อยดวงใจ เลขที่บัญชี 471-2-33333-8 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาคณะแพทยศาสตร์ เชียงใหม่ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชีมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอกร้อยดวงใจ เลขที่บัญชี 566-494611-9 และขอเชิญติดตามรับชมการถ่ายทอดสดงานวันมหิดล “สวนดอกร้อยดวงใจเพื่อชีวิตที่สดใส ห่างไกลธาลัสซีเมีย ได้ในวันพุธที่ 14 กันยายน 2554 ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี เวลา 22.15 - 24.00 น. ฝ่ายประชาสัมพันธ์ : คุณโชติรส ทิมพัฒนพงษ์ (กล้วย) 02-712-9849-50

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ