YELLOW SILK COTTON สะพรั่งเนรมิตภูเขาทองคำบนพนมรุ้ง

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday January 2, 2002 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--ททท.
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จับมืออำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์เนรมิตพนมรุ้งเป็นภูเขาทองคำจัดงานดอกฝ้ายคำบานผสานกิจกรรมหลากหลายขายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านส่งเสริมการท่องเที่ยวถิ่นภูเขาไฟ
นางสาวเอื้อมพร จิรกาลวิศัลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 1 เผยว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ จัดงานดอกฝ้ายคำบานที่พนมรุ้ง ระหว่างวันที่ 19-20 มกราคม 2545 ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยเป็นปีที่ 2 ของการจัดงานฯ อันเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวก่อนงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เขาพนมรุ้งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วพบว่ามีต้นฝ้ายคำเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย และดอกจะบานในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ของทุกปี ดอกฝ้ายคำมีชื่อที่รู้จักกันดีคือดอกสุพรรณิการ์ หรือดอกฝ้ายอรพิม มีชื่อสามัญว่า YELLOW SILK COTTON มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แต่ไม่ปรากฎหลักฐานว่าเหตุใดจึงพบมากในถิ่นภูเขาไฟโบราณแห่งนี้ โดยเฉพาะเมื่อเวลาออกดอกแล้วจะมองเห็นภูเขาเป็นสีเหลืองอร่ามดั่งภูเขาทองคำที่ส่งเสริมให้ปราสาทพนมรุ้งเด่นเป็นสง่าด้วยหินทรายสีชมพูสวยงามอย่างที่สุดอยู่ท่ามกลางดอกฝ้ายคำจึงถือได้ว่าดอกฝ้ายคำเป็นดอกไม้ที่เคียงคู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มายาวนาน
นางสาวเอื้อมพรฯ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากจะได้ชมดอกฝ้ายคำแล้ว ยังได้ชมความงดงามของปราสาทพนมรุ้ง ลายจำหลักที่ละเอียดอ่อน สะท้อนวิถีชีวิต ความเชื่อความศรัทธาในองค์พระศิวะ เทพเจ้าในศาสนาอินดู ลัทธิไศวนิกาย ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 15-18 สิ่งสำคัญของปราสาทแห่งนี้คือ ทับหลังนารายณ์ บรรทมสินธุ์ ที่เป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ สำหรับกิจกรรมภายในงานดอกฝ้ายคำบานได้จัดให้มีการแสดงนิทรรศการ การประกวดผลผลิตทางการเกษตร และจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านในโครงการหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล อาทิ เครื่องจักรสาน ดอกฝ้ายคำประดิษฐ์ มะพร้าวน้ำหอมอันลือชื่อ ฯลฯ การแสดงดนตรีพื้นบ้าน วงกันตรึม วัฒนธรรมเขมร นั่งช้างชมดอกฝ้ายคำ การประกวดภาพถ่ายดอกฝ้ายคำ การแข่งขัน WALK RALLY ขึ้นเขาพนมรุ้ง ฯลฯ
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ที่ทำการปกครองอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ โทรศัพท์ 0-4462-8119, 0-4462-0895 หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 1 โทรศัพท์ 0-4421-3666, 0-4421-3030 หรือ 0-4421-3667 ทุกวันในเวลาราชการ--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ