พฤติกรรมผู้ฝากเงินหลัง DPA ขยับ: ภาพลักษณ์มาก่อนผลตอบแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 7, 2011 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจTMB ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics ชี้ ผู้ฝากเงินรายใหญ่มีความตื่นตัวกับการปรับลดเพดานคุ้มครองเงินฝากเหลือ 50ล้านบาท พร้อมเลือกภาพลักษณ์มากกว่าผลตอบแทนที่สูงกว่า ในช่วงสองไตรมาสแรกของปี ผู้ฝากเงินที่มียอดสูงกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป เริ่มย้ายเงินเข้าสู่ธนาคารขนาดใหญ่มากขึ้น ขณะที่ผู้ฝากเงินไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อรายยังมีรูปแบบคงเดิม หากสังเกตข้อมูลสัดส่วนของผู้ฝากเงินมากกว่า 50 ล้านบาทต่อราย กับ ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย ของธนาคารพาณิชย์ไทยสามกลุ่มตามขนาดใหญ่ กลาง เล็ก จะเห็นได้ชัดเจนว่า ตั้งแต่เริ่มเข้าปี 2554 เป็นต้นมา สัดส่วนของผู้มีเงินฝากมากกว่า 50 ล้านบาทในธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 61.7 ในปลายไตรมาส 4 ปี 2553 เป็นร้อยละ 65.4 ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2554 แสดงถึงผู้ฝากเงินรายใหญ่มีการตอบสนองต่อกฎหมายเงินฝากที่วงเงินคุ้มครองสูงสุดอยู่ที่ 50 ล้านบาทพอสมควร การตัดสินใจโยกย้ายเงินหลังจากมีการลดเพดานคุ้มครองเงินฝาก ควรจะสะท้อนถึงการชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งโดยปกติ ธนาคารขนาดเล็กและกลางจะเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าธนาคารที่มีขนาดใหญ่กว่าอยู่แล้ว ด้วยสภาพของการแข่งขันทางธุรกิจ ดังนั้น เมื่อมีการลดเพดานการคุ้มครองเงินฝาก ธนาคารขนาดใหญ่อาจจะได้เปรียบยิ่งขึ้นจากภาพลักษณ์ของความมั่นคง จึงมีความโน้มเอียงที่เงินจะไหลมาฝากมากขึ้นโดยอัตโนมัติ ธนาคารขนาดกลางและเล็กจึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ราคาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเข้าช่วย เราจึงเห็นส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยระหว่างกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และอีกสองกลุ่มถ่างมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2554 ตัวอย่างเช่น ข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบัน ที่ธนาคารขนาดกลางและเล็กให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยสูงกว่า 13-20 basis points ส่วนดอกเบี้ยเงินฝาก 3-6 เดือน สูงกว่า 60-70 basis points หรือ 12-24 เดือนที่สูงกว่าเกือบ 40 basis points เป็นต้น หากพิจารณาด้านความเสี่ยง ธนาคารในแต่ละกลุ่มมีระดับค่อนข้างใกล้เคียงกันเมื่อเปรียบเทียบจากดัชนีความเสี่ยงสำคัญที่รายงานโดย ธปท. ซึ่งคุณสมบัติเบื้องต้นที่จะทำให้ผู้ฝากเงินมั่นใจที่จะไปฝากเงินด้วยควรจะได้แก่ 1.สภาพคล่องที่สูงพอ คือ เมื่อไรที่ต้องการถอนเงิน ธนาคารต้องพร้อมจัดให้ จะเห็นว่ากลุ่มธนาคารขนาดเล็กค่อนข้างโดดเด่นโดยเปรียบเทียบ 2.คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีพอ คือ สินเชื่อที่ธนาคารปล่อยต้องมีคุณภาพ หนี้เสียน้อยๆ ซึ่งในทุกกลุ่มมีการปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 3.ความมั่นคงที่แกร่งพอ คือ ธนาคารต้องมีส่วนของทุนในระดับที่จะรองรับความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะกระทบต่อการดำเนินงานได้พอสมควร โดยกลุ่มธนาคารขนาดกลางและเล็กมีการดำรงเงินกองทุนขั้นที่ 1 เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงกว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ และ 4.ความสามารถในการทำกำไรที่ธนาคารต้องมี เพื่อการดำรงไว้ซึ่งกิจการในระยะยาว ซึ่งกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่มีความได้เปรียบกว่า ข้อมูลเหล่านี้ ผู้ฝากเงินสามารถดูข้อมูลที่ ธปท. เผยแพร่เป็นรายไตรมาสได้ ดังนั้น การที่ผู้ฝากเงินเข้าหาธนาคารขนาดใหญ่มากขึ้น ทั้งๆที่ธนาคารที่มีขนาดเล็กกว่าไม่จำเป็นต้องด้อยกว่าสถาบันใหญ่ๆเสมอไปนั้น น่าจะเป็นผลมาจากภาพลักษณ์ของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่ดูมั่นคงกว่าสถาบันการเงินที่มีขนาดเล็กกว่า ถึงแม้ผู้ฝากเงินสามารถหาผลตอบแทนจากเงินฝากได้มากกว่าภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่แตกต่างกัน ผ่านการฝากเงินกับธนาคารที่มีขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งให้ดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่าโดยเปรียบเทียบ ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายเงินฝากที่ไม่ผันผวน ได้บ่งบอกถึงความมั่นคงแข็งแกร่งของสถาบันการเงินทุกขนาดที่ให้ความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ฝากเงินควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเป็นรายสถาบันด้วยโดยเฉพาะข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปด้วยความมั่นใจในการฝากเงินมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพร้อมรับเดือนสิงหาคมปีหน้า ที่การเพดานคุ้มครองเงินฝากจะเหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อราย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ