ยุติธรรมจุดวิสัยทัศน์กับเหยื่ออาชญากรรม

ข่าวทั่วไป Friday April 18, 2003 13:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--กระทรวงยุติธรรม
สำนักงานกิจการยุติธรรมจุดวิสัยทัศน์ใหม่สำหรับเหยื่ออาชญากรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม จุดประกายให้ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม มีวิสัยทัศน์ใหม่ในการปฏิบัติต่อเหยื่ออาชญากรรม รุดจัดสัมมนาทางวิชาการครั้งใหญ่ 21 เมษายน 2546 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ระดมนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในกระบวนการ ยุติธรรมร่วมอภิปรายอย่างเข้มข้น คาดสะกดความสนใจผู้ร่วมเข้าฟังไม่ต่ำกว่า 150 คน สืบเนื่องจากการที่กระทรวงยุติธรรมได้จัดทำแผนแม่บทกระบวนการยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (แผน 5 ปี ) โดยได้วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ข้อจำกัด และโอกาสของกระบวนการ ยุติธรรมไทย ซึ่งข้อมูลจากเวทีการประชาพิจารณ์ทั้งประเทศมีความเห็นที่สอดคล้องกับการจัดลำดับความสำคัญของ “จุดแข็ง” ของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ควรเร่งดำเนินการ คือ กระบวนการยุติธรรมมี
แนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดและวิธีบริหารงานยุติธรรมไปสู่ลักษณะเอื้ออาทรสมานฉันท์และขยายโอกาสแก่ผู้เสียเปรียบในสังคม ซึ่งมีกระแสเรียกร้องวิธีการไม่ให้ใช้ความรุนแรง (Non-violence) และการสร้างความสมานฉันท์ (Peacemaking) ในเวทีของประชาคมโลก
ด้วยเหตุผลดังกล่าวสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมจึงจัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์:วิสัยทัศน์ใหม่สำหรับเหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำผิดในสังคม ในวันจันทร์ที่ 21 เมษายน 2546 ระหว่างเวลา 8. 30 | 16.30 น. ณ โรงแรม รามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โดยเวลา 09.00 น. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ยุติธรรมจะเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง “แนวคิดเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) กับระบบปฏิปักษ์ในกระบวนการยุติธรรมไทย” ทั้งนี้คาดว่าจะมี นักบริหาร นักวิชาการ ข้าราชการที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม องค์กรเอกชนและประชาชนเข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 150 คน
การจัดการสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ
(1) เพื่อเผยแพร่วิสัยทัศน์ใหม่ ในเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” ในฐานะ “กระบวนการยุติธรรมทางเลือก” สำหรับกระบวนการยุติธรรมและสังคมไทย
(2) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ การใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับเหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำผิดในสังคมไทย
(3) เพื่อสร้าง เครือข่ายความร่วมมือระหว่างบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการประสานงานในอนาคต
สำหรับรูปแบบการสัมมนาจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยหลังพิธีเปิดการสัมมนาและบรรยายพิเศษของรมว.ยุติธรรมแล้ว ในช่วงเวลา10.00 - 12.00 น. จะมีการอภิปรายเป็นคณะเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในมุมมองของเหยื่ออาชญากรรม” โดยนักวิชาการและ ผู้ทรงคุณวุฒิในกระบวนการยุติธรรม อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดชา สังขวรรณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์วิชา มหาคุณ ผู้พิพากษาศาลฎีกา รองศาสตราจารย์ ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยมีพ.ต.ท.ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ สำนักงานกิจการยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
ส่วนช่วงเวลา 13.00 - 16.30 น. เป็นการนำเสนอกรอบแนวคิดเรื่อง “การปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” โดยอาจารย์จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พล.ต.ต.จุตติ ธรรมโน ผู้บังคับการกองวิชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายกุลพล พลวัน อธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย นายมนตรี ศิลปมหาบัณฑิต ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำสำนักงานศาลฎีกา นายนัทธี จิตสว่าง รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ โดยมีรองศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการวิพากษ์
ทั้งนี้คาดว่าผลการประชุมทางวิชาการเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์:วิสัยทัศน์ใหม่สำหรับเหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำผิดในสังคมไทย”จะนำไปสู่การสรุปและวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยต่อไป--จบ--
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ