กระทรวงพลังงานเตือนอย่ากักตุนน้ำมัน และแจ้งข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัยด้านกระแสไฟฟ้า

ข่าวทั่วไป Monday October 31, 2011 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--กระทรวงพลังงาน นายพชร นริพทะพันธุ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน รายงานสถานการณ์พลังงานช่วงอุทกภัย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2554 ว่า ปริมาณน้ำท่วมที่แผ่ขยายวงกว้างในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงทำให้จำเป็นต้องปิดสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้น รวมเป็น 279 สถานี ทั่วประเทศ เป็นสถานีที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร 39 สถานี นนทบุรี 57 สถานี ปทุมธานี 84 สถานี อยุธยา 66 สถานี นครสวรรค์ 13 สถานี ชัยนาท 6 สถานี ลพบุรี 3 สถานี อ่างทอง 4 สถานี. ส่วนพิจิตร สมุทรปราการ สิงห์บุรี สระบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี และนครปฐม จังหวัดละ 1 สถานี ในส่วนสถานีบริการ NGV ปิดทั่วประเทศ 86 แห่ง อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร 19 แห่ง ปทุมธานี 35 แห่ง นนทบุรี 20 แห่งสมุทรปราการ 5 แห่ง อยุธยา 4 แห่ง ชลบุรี 2 แห่ง ระยอง 1 แห่ง และขอย้ำว่าสถานะน้ำมันสำรองในคลังมีเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องกักตุน เพียงแต่ให้วางแผนการใช้อย่างพอเหมาะและศึกษาสถานที่ ของสถานบริการที่ใกล้เคียง หรือตามเส้นทางที่ยังเปิดให้บริการ ทางกระทรวงพลังงานและบริษัทใต้กำกับดูแลยังทำงานเพื่อที่จัดส่งน้ำมันไปยังสถานบริการที่ยังเปิดให้บริการและให้มีน้ำมันใช้อย่างทั่วถึง และเพื่อความปลอดภัยกระทรวงพลังงานจึงขอเตือนประชาชนว่าโปรดอย่ากักตุนน้ำมันเชื้อเพลิงเนื่องจากหากมีการรั่วไหลอาจเป็นอันตรายได้ ในส่วนของแก๊ซหุงต้ม ทางกระทรวงพลังงานก็ได้ประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์เนื่องจากได้รับการร้องเรียนถึงการขายเกินราคา และเน้นย้ำคู่ค้าให้ช่วยกันตรวจสอบอย่าให้ใครเอาเปรียบประชาชนในยามวิกฤติ โฆษกกระทรวงพลังงานแจ้งเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยของประชาชนว่า เสาไฟฟ้าที่จมน้ำมิเตอร์ที่ติดอยู่บนเสาต้องอยู่ห่างจากระดับน้ำไม่น้อยกว่า 1 เมตร หากผู้ใดพบเจอเสาไฟที่มีมิเตอร์ห่างจากระดับน้ำน้อยกว่า 1 เมตรที่ยังไม่ได้ตัดกระแสไฟฟ้า ขอให้แจ้งการไฟฟ้านครหลวง ที่เบอร์โทรศัพท์ 1130 และ 1129 สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อจะได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการตัดไฟ และขอเตือนว่าอย่าเข้าใกล้ปลั๊กไฟฟ้าที่จมน้ำซึ่งยังไม่ได้ทำการตัดกระแสไฟฟ้าระยะห่างน้อยกว่า 2 เมตร นอกจากนี้หากมีความจำเป็นต้องเดินตามถนน ตรอก หรือซอยที่มีเสาไฟฟ้าโปรดอย่าจับต้องวัสดุที่เป็นโลหะที่อาจจะสัมผัสกับสายไฟฟ้าซึ่งจมอยู่ใต้น้ำและอาจมองไม่เห็น เช่นรั้วโลหะ เพราะอาจเป็นสื่อนำไฟฟ้าและทำให้ไฟฟ้าดูดถึงแก่ชีวิตได้ สำหรับการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ในขณะนี้ เป็นการระบายน้ำออกตามปกติเพื่อรักษาความสมดุลของระดับน้ำในเขื่อนไม่ให้เกิดผลกระทบกับความปลอดภัยของตัวเขื่อน ซึ่งเป็นการปล่อยน้ำตามปกติที่ไม่มีผลต่อปริมาณน้ำท้ายเขื่อนมากนัก และขอยืนยันว่าการระบายน้ำดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำที่ไหลลงสู่กรุงเทพหมานครและปริมณฑลมากกว่าที่เป็นอยู่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ