
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามผลการดำเนินงานกิจกรรมการจัดการความเสื่อมโทรมของที่ดิน ด้วยแนวคิดความสมดุลการจัดการทรัพยากรที่ดิน (Land Degradation Neutrality: LDN) ซึ่งดำเนินการโดยกรมพัฒนาที่ดิน โดยแนวคิด LDN มุ่งเน้นการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมควบคู่กับการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืนตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 15.3 ที่มุ่งลดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เพื่อการผลิตในระยะยาว
LDN Implementation เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่ 12 จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 24,700 ไร่ ประกอบด้วย ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลตามแนวคิด LDN การกำหนดมาตรการที่เชื่อมโยงกับหลักวิชาการด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหาชัดเจนและสามารถฟื้นฟูได้จริง การประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรในพื้นที่เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการที่ดำเนินการมีความเหมาะสม และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อปรับปรุงคุณภาพดิน อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กำหนดเป้าหมายพื้นที่ 23,800 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดทั่วประเทศ และจากตัวอย่างการติดตามผลในพื้นที่ดำเนินการ ณ บ้านโคกสว่าง หมู่ที่ 13 ตำบลหนองเหล็ก อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม พบว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการเป็นพื้นที่ดินทรายจัด มีความลาดเท และเสี่ยงต่อการชะล้างพังทลาย ส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลผลิตลดลง และต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการซ่อมแซมพื้นที่ กรมพัฒนาที่ดินได้เข้าไปสนับสนุนระบบอนุรักษ์ดินและน้ำทั้งวิธีกล อาทิ การปรับระดับพื้นที่ ทางลำเลียงในไร่นา คูระบายน้ำ นาขั้นบันได ท่อลอดเหลี่ยมคอนกรีตเสริมเหล็ก และอาคารระบายน้ำ รวมทั้งวิธีพืช เช่น หญ้าแฝก ไผ่กิมซุง ตลอดจนการจัดสรรปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และโดโลไมท์ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2568
การดำเนินงานพบว่า เกษตรกรทุกรายมีระดับความพึงพอใจในกิจกรรมต่าง ๆ เป็นอย่างมาก สะท้อนถึงประสิทธิภาพของกระบวนการดำเนินงานที่มีความเป็นระบบและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่ได้รับการสนับสนุน เช่น การปรับพื้นที่ช่วยให้การปลูกพืชสม่ำเสมอ การให้น้ำและใส่ปุ๋ยมีประสิทธิภาพ ทางลำเลียงในไร่นาช่วยให้ขนย้ายผลผลิตสะดวกขึ้น คูระบายน้ำช่วยระบายน้ำออกจากแปลงไม่ให้กระทบพื้นที่เพาะปลูก ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ผลสำเร็จของโครงการฯ จะช่วยเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยจาก 250 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นประมาณ 350 กิโลกรัมต่อไร่ ได้ในปี 2568 และในบางรายอาจสามารถเก็บเกี่ยวได้เป็นครั้งแรกจากเดิมที่ไม่ได้ผลผลิตเลย
นอกจากนี้ ยังพบว่า เกษตรกรบางรายที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ได้นำแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน (LDN) ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง ส่งผลให้เกิดการรับรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมของชุมชนในระดับที่เพิ่มมากขึ้น
รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า สศก. ได้เสนอแนวทางการพัฒนาต่อเนื่องในอนาคต อาทิ การส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำให้แก่หน่วยงานระดับท้องถิ่นเพื่อขยายผลการดำเนินงาน และการสนับสนุนงบประมาณเพื่อขยายพื้นที่ดำเนินงานในระยะต่อไป ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่ง สศก. จะสรุปผลการดำเนินงานโครงการปี 2568 ในช่วงเดือนกันยายน 2568 ให้ทราบต่อไป