
กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม สานพลังความร่วมมือ ทางออกประเทศไทย กรณีความสำเร็จ: "โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ แก้วิกฤติประชากร" โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยนางพัชรมณฑ์ ปิติปัญญากุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสวัสดิการ และคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กระทรวง พม. ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการขับเคลื่อนแผนงานระบบสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ กลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์(DHCB) สวทช. และนักพัฒนาสังคม กระทรวง พม. เข้าร่วมงาน ณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส) องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตประชากรของประเทศ โดยข้อมูลในปี 2567 ประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คิดเป็นร้อยละ 20.94ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสวนทางกับอัตราการเกิดใหม่ของประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานที่มีจำนวนลดลง ส่งผลให้ประชากรวัยสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว และในปี 2574 คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งสำคัญของประเทศ โดยจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการพัฒนาประเทศในหลายด้าน กระทรวง พม. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตประชากรให้เป็นโอกาส โดยผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นพลังทางสังคม โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ผ่าน "โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน" ด้วยการจัดระบบบริบาลและพัฒนาการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สร้างผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ ทำหน้าที่ดุจลูกหลานของคนในชุมชน เพื่อปกป้อง คุ้มครองพิทักษ์สิทธิ ช่วยเหลือดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุครอบคลุม ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ มิติสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยการผนวกความร่วมมืองานทางด้านการ "พัฒนาสังคม" ของ กระทรวง พม. และ "นวัตกรรมเทคโนโลยี" ของ สวทช. เข้าด้วยกัน เป็นโมเดลการแก้ปัญหาสังคมแบบใหม่ ไม่ใช่การทำงานแบบแยกส่วน แต่เป็นการบูรณาการความร่วมมือและสานพลังของทุกภาคส่วนสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาประเทศไปด้วยกันอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการขับเคลื่อนประเทศ โดยการใช้นวัตกรรมจากระบบนิรันดร์ ของ สวทช. เข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มให้กับโครงการบริบาลฯในการขับเคลื่อนดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งความสำเร็จนี้จะเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศได้ในปัจจุบัน
ศาสตราจารย์ ดร.กนก กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการบริบาลฯ กระทรวง พม. ได้เริ่มดำเนินการนำร่องโครงการ ตั้งแต่ปี 2567 โดยนำร่องใน 19 พื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก สกลนคร อุบลราชธานี สงขลา ปัตตานี มีผู้บริบาลฯ จำนวน 35 คน ซึ่งผลลัพธ์ในปีแรก พบว่า มีผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลคุ้มครองทางสังคม จำนวนมากกว่า 24,340 คน และต่อมาในปี 2568 จึงขยายผลการดำเนินงานโครงการให้ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ 156 พื้นที่ ผู้บริบาลฯ จำนวน 307 คน รวมทั้งสิ้น 342 คน (ปี 2567 - 2568) มีผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลคุ้มครองทางสังคม จำนวนมากกว่า 342,000 คน ซึ่งในอนาคต ปี 2569 กระทรวง พม. มีแผนขยายผลพื้นที่ดำเนินงานโครงการให้ครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ 256 พื้นที่ 76 จังหวัด สร้างผู้บริบาลฯ เพิ่มขึ้น จำนวน 536 คน
"เราจำเป็นต้องทำให้ผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้น ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีหลักประกันความมั่นคงในช่วงปั้นปลายของชีวิต โดยส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันบนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งเป็นการจัดระบบสวัสดิการชุมชนอย่างยั่งยืน
ดังนั้นเป้าหมายหลักของโครงการฯ คือ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และป้องกันการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ ที่สำคัญ คือช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณของประเทศในการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ เพื่อสร้างสังคมคุณภาพรองรับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุของประเทศ"
ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการขับเคลื่อนแผนงานระบบสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ สวทช. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาระบบการปฏิบัติงานสำหรับผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ "Nirun for community" หรือเรียกว่า ระบบ "นิรันดร์" ซึ่งเป็นระบบ ซอฟต์แวร์บริหารจัดการสถานดูแลผู้สูงอายุ ออกแบบมาเพื่อใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสนับสนุนโครงการบริบาลสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน ที่จะช่วย 'ผู้บริบาล' ใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน เช่น ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุในมิติต่าง ๆ แนะนำกิจกรรมที่ผู้บริการต้องทำ บันทึกการลงไปทำงาน นำไปสู่การสรุปผลการทำงานของผู้บริบาล และสรุปผลสุขภาพผู้สูงอายุในโครงการได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริหารของกระทรวง พม. สามารถนำไปใช้กำหนดยุทธศาสตร์การดูแลผู้สูงอายุในภาพรวมของประเทศได้ และยังตอบโจทย์ของ สวทช. ด้านมิติลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จากการพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (AI-C) ตามกลยุทธ์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (S&T Implementation for Sustainable Thailand) ด้วย
"การทำงานของระบบนิรันดร์ ข้อมูลที่ผู้บริบาลฯ บันทึกเข้ามาในระบบนิรันดร์ทุกวัน สามารถประมวลผลและแสดงออกมาให้ผู้บริบาลฯ นำไปใช้ดูแลผู้สูงอายุได้ อาทิ การประมวลผลข้อมูลตั้งต้นของผู้สูงอายุ (อายุ, โรค, ผลประเมิน ADL) ซึ่งแสดงผลเป็น "แผนการดูแลเบื้องต้น" (Recommended Care Plan) หรือข้อแนะนำในการดูแล เช่น ควรเน้นกิจกรรมกายภาพบำบัด, ควรเฝ้าระวังเรื่องอาหาร เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริบาลฯ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละบุคคลได้"
นายธาวินทร์ ลีลาคุณารักษ์ ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กล่าวว่า ระบบนิรันดร์ช่วยสนับสนุนการรายงานผลการปฏิบัติงานประจำวันของผู้บริบาลฯ ได้เป็นอย่างดี สะดวก รวดเร็วในการบันทึกข้อมูล และยังช่วยติดตามผลการดูแลผู้สูงอายุเฉพาะรายในพื้นที่อย่าง Real Time ช่วยบันทึกข้อมูลประวัติส่วนบุคคลเบื้องต้น สภาพปัญหาความต้องการของผู้สูงอายุในมิติต่าง ๆ การประเมินผลครอบคลุม ทั้ง 5 มิติ และวิเคราะห์กิจกรรมการดูแลผู้สูงอายุที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อสภาพปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุได้ ช่วยทำให้ผู้บริบาลฯ มีข้อมูล พิกัดของพื้นที่ของผู้สูงอายุที่ชัดเจนเพื่อความสะดวกในการค้นหาและการเดินทางเพื่อไปดูแลผู้สูงอายุได้อย่างทันท่วงที สามารถนำข้อมูลภาพรวมของสภาพปัญหาและการดูแลผู้สูงอายุมาวิเคราะห์วางแผนการดูแลผู้สูงอายุในมิติต่าง ๆ ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
"สิ่งที่ได้ประโยชน์จากระบบนิรันดร์ คือ การค้นหาข้อมูลผู้สูงอายุ จากเดิมจะบันทึกทำลงกระดาษ กว่าที่เราจะค้นหาเอกสารชื่อผู้สูงอายุต้องใช้เวลานาน แต่เมื่อมีระบบนิรันดร์ แค่พิมพ์ชื่อย่อผ่านระบบฯ บนโทรศัพท์มือถือก็สามารถเลือกหาผู้สูงอายุที่เราต้องการได้ในเสี้ยววินาที นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์เรื่องของพิกัดที่อยู่ของผู้สูงอายุ เมื่อเรารู้ชื่อ รู้ตำแหน่งบ้านผู้สูงอายุ ก็สามารถลงพื้นที่บ้านผู้สูงอายุได้อย่างแม่นยำ ไม่ต้องเสียเวลาตระเวนหา ที่สำคัญข้อมูลการดูแลในมิติต่าง ๆ ที่เราดูแลผู้สูงอายุทุกเดือน สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างแม่นยำ เช่น ข้อมูลการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ ทำให้เราสามารถประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว" ผู้บริบาลฯ กล่าวย้ำ
ด้านนายหลงมา ทีปะลา ผู้สูงอายุวัย 85 ปี ในตำบลนิคมกระเสียว อ.ด้านช้าง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันอาศัยอยู่คนเดียว ลูกหลานไปทำงานกลับมาหาบ้าง แต่ก็รู้สึกดีใจ อุ่นใจจากการที่มีผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ (คุณบุ๊น-ธาวินทร์ ลีลาคุณารักษ์) เข้ามาดูแลเหมือนเราเป็นญาติคนหนึ่ง ชื่นชมที่ภาครัฐมีโครงการฯ ดีๆ แบบนี้ โดยส่งคนเข้ามาคอยช่วยเหลือ ดูแลผู้สูงอายุ ในวันที่สภาพร่างกายผู้สูงอายุไม่เอื้ออำนวย และยังช่วยเหลือดูแลเป็นธุระเรื่องอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี
"ตาก็เคยบอกเขานะว่า บุ๊น เอ้ย เอ็งก็รักดูแลคนเฒ่าคนแก่เหมือนญาติดีนะ เวลาเขาเข้ามาเยี่ยมบ้านแต่ละทีเขาก็จะเอาของมาฝากตลอด เข้ามากวาดบ้าน ถูบ้าน รองน้ำให้ที่บ้าน ช่วยตรวจวัดความดันให้ทุกครั้ง เวลาเราไม่สบายก็ถามว่าตาเป็นอะไร ไปโรงพยาบาลไหม คือมีแต่สิ่งดี ๆ ที่เขาเข้ามาดูแลผู้สูงอายุในชุมชนเรา"
นอกจากนี้โครงการดังกล่าว ยังเชื่อมกับภาคเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการใช้เกมที่พัฒนาระบบสมอง ทางด้านความคิด ความจำ ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมและสวัสดิภาพของผู้สูงอายุ
นางสาวณัชชา โรจน์วิโรจน์ Founder & Industrial Designer บริษัท BLIX POP ในฐานะผู้พัฒนาเกมขนมมงคลให้ สวทช. รวมถึงรับสิทธิผลิตและจัดจำหน่ายจาก สวทช. กล่าวว่า นวัตกรรมเกมขนมมงคลเข้ามาเป็นส่วน "เติมเต็ม" ให้การดูแลผู้สูงอายุในมิติของสุขภาพ ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมที่เป็นปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุในปัจจุบันที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และช่วยฝึกความทรงจำ เสริมพัฒนาการทางด้านสมองและกล้ามเนื้อมือ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำเกมขนมมงคล สนับสนุนให้ผู้บริบาลฯ นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่และชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี และยังเป็นความร่วมมือที่ทำให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ช่วยกันแก้ปัญหาสังคมได้เป็นอย่างดี
"เป็นเรื่องที่ดีมาก ถ้าทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุในครอบครัวและชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น"