คำชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี EM Ball หรือ ก้อนจุลินทรีย์

ข่าวทั่วไป Monday November 7, 2011 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ตามที่มีการนำเสนอข่าวสารว่าการใช้ EM Ball ไม่เกิดผลในการบำบัดน้ำเสียและอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อ สิ่งแวดล้อมด้วยนั้น ทำให้ผู้มีจิตอาสาจำนวนมากเกิดความสับสนและกระทบต่อการระดมอาสาสมัครช่วยทำ EM Ball ในหลายแห่งรวมถึงคณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญซึ่งร่วมกับศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม( ABAC Flood R - SA ) เร่งผลิต EM Ball ให้ได้จำนวน100,000 ลูก ภายใน 2-3 วันเพื่อนำไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยจังหวัดนนทบุรีในสัปดาห์หน้า ดังนั้น คณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจึงใคร่ขอชี้แจงข้อมูลอีกด้านหนึ่งเพื่อสร้างความเข้าใจผ่านสื่อมวลชน ดังนี้ 1. การทำงานของ EM Ball มิใช่เป็นการบำบัดน้ำเสียโดยตรง แต่ใช้หลักการนำเอาจุลินทรีย์ชนิดดีมีประสิทธิภาพไปแย่งอาหาร( ของเสีย ซากพืชสัตว์ที่ไหลมากับน้ำ) จากจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในน้ำที่กำลังจะเน่าเสียหรือในน้ำเสีย สกัดกั้นการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ธรรมชาติที่เป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสีย การใช ้EM Ball ในน้ำที่เริ่มจะเน่าเสียจะเห็นผลเร็วกว่าในน้ำที่เน่าเสียแล้ว 2. การผลิต EM Ball ที่จะช่วยปรับสภาพน้ำได้ต้องใช้กรรมวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม กล่าวคือ 2.1 ใช้หัวเชื้อน้ำจุลินทรีย์เข้มข้นชนิดดี มีคุณภาพซึ่งประกอบไปด้วยจุลินทรีย์กลุ่มที่ใช้ออกซิเจน กลุ่มที่ไม่ใช้ออกซิเจน และกลุ่มที่ใช้หรือไม่ใช้ออกซิเจนก็ได้ นำมาผสมให้เจือจางในอัตราพอเหมาะเป็นส่วนประกอบหลักสำคัญ 2.2 เลือกใช้สูตรและส่วนผสมในการปั้นขึ้นรูปที่มีสารอาหารน้อยที่สุดเพียงประทังชีวิตของจุลินทรีย์ชนิดดีให้พออยู่ได้ก่อนการนำไปใช้งาน เนื่องจากมีสูตรและส่วนผสมในการผลิตหลากหลายและมีความเหมาะสมในการใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ห้ามใช้สูตรที่มีส่วนผสมกากน้ำตาลหรือมูลสัตว์ซึ่งมีสารอาหารสำหรับจุลินทรีย์มากเกินไป 2.3 EM Ball ที่ทำเสร็จแล้วไม่สามารถนำไปใช้ได้ทันที ต้องผึ่งลมไว้เป็นเวลา 2-3 วัน ห้ามตากแดดเป็นอันขาด 3. การใช้งาน EM Ball ที่เหมาะสมต้องนำไปใช้เฉพาะพื้นที่มีสภาพน้ำท่วมขังหรือน้ำไม่ค่อยไหลเวียนและต้องใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม EM Ball ขนาดลูกเทนนิส 1 ลูก ใช้ได้สำหรับน้ำท่วมขัง 4-5 ลบ.ม.โดยจะยังไม่เห็นผลต่อสภาพในทันทีเพราะ EM Ball จะค่อยๆ ปลดปล่อยจุลินทรีย์ออกมาทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 7 วัน หากเร่งใส่ EM Ball จนเกินจำนวนที่กำหนดจะทำให้มีสารอาหารหลงเหลือในน้ำมากเกินไปและอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพน้ำได้ ทั้งนี้ EM Ball ที่ผลิตเสร็จแล้วต้องนำไปใช้ภายใน 30 วัน ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ ดร.วิยดา กุนทีกาญจน์ (ปริญญาเอกด้านจุลชีววิทยา University of California, Davis) โทร. 087-715-6699 e-mail: viykun@gmail.com หรือ ดร. เชิดชัย เชี่ยวธีรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา คณบดีคณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โทร. 02-719-1515

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ