เอแบคโพลล์ ผุดหลักสูตร A.P.P.L.E. แก้ภัยพิบัติน้ำท่วมด้วยการปฏิรูปนโยบายสาธารณะ

ข่าวทั่วไป Monday November 14, 2011 17:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการหลักสูตร Analysis of Polling, Policy, Law, and Economics หรือ APPLE ด้านการบูรณาการวาระประชาชน นโยบายสาธารณะ กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ เพื่อนักศึกษาผู้สนใจทั่วไปสามารถเสนอแนะทางออกให้ภาครัฐและเอกชนผ่านพ้นวิกฤตขององค์กร ชุมชน และประเทศโดยส่วนรวม ด้วยการระดมคณาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของนานาประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยคอร์เนล มหาวิทยาลัยมิชิแกน และสถาบันการศึกษาและวิจัยของกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นต้น โดยมุ่งเน้นงานวิจัย ทฤษฎี การระดมสมองเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และการแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มประเทศอาเซียนผ่าน Colloquium ของหลักสูตรได้ที่ www.abacpoll.au.edu ดร.นพดล กล่าวต่อว่า เมื่อประเทศประสบภัยพิบัติในวงกว้างจึงส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนเสียหายต่อกลุ่มประชาชนผู้บริโภคทุกหมู่เหล่า บริษัทห้างร้าน นิคมอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐและเสถียรภาพของรัฐบาล อันมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่พร้อมในการเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่ได้เกิดขึ้น สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงเปิดหลักสูตร APPLE ขึ้นเพื่อนำวาระของประชาชนผ่านการทำสำรวจ สู่การวิเคราะห์ข้อมูลเชื่อมโยงแบบบูรณาการนโยบายสาธารณะ ข้อกฎหมายและหลักเศรษฐศาสตร์ทั้งระดับมหภาค วิสาหกิจชุมชน และการทำธุรกิจในสภาวะเสี่ยง ผอ.หลักสูตร APPLE มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ชี้ให้เห็นว่า เสียงสะท้อนจากวาระของประชาชนมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางของนโยบายสาธารณะ ยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติ การปรับแผนกลยุทธทางธุรกิจ และการดำเนินชีวิตจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคทุกระดับชั้นในพื้นที่ประสบภัยพิบัติและพื้นที่เสี่ยง ทั้งนี้จากการวิจัยและทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ค้นพบสิ่งที่น่าพิจารณาคือ ประการแรก ผู้นำประเทศและเจ้าหน้าที่รัฐมักจะตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของสื่อมวลชน อารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชน และการตัดสินใจบางเรื่องต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย บรรดาแกนนำนักการเมืองหลายคนหลบฉากอยู่เบื้องหลังเพราะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมีความเสี่ยงสูงต่อการทำลายภาพลักษณ์ของพวกเขา ดังนั้น นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศ และหัวหน้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะลุกขึ้นและก้าวเข้าไปสู่สนามรบของข้อมูลข่าวสารให้สื่อมวลชนและคอข่าววิพากษ์วิจารณ์ แต่ในอีกด้านหนึ่งภัยพิบัติครั้งนี้ก็ทำให้เกิด “พระเอก” หรือซุปเปอร์ฮีโร่ขึ้นได้เช่นกันซึ่งเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นในทุกสังคมที่เผชิญภัยพิบัติครั้งใหญ่ของประเทศ ประการที่สอง ผลกระทบของภัยพิบัติน้ำท่วมต่อนโยบายสาธารณะและสถาบันหลักของประเทศ ที่อาจยกกรณีศึกษาครั้งนี้เทียบกับเหตุวินาศกรรม 911 ของสหรัฐอเมริกาที่หน่วยงานด้าน CIA และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศและของโลกถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในขณะที่ข้าราชการตำรวจ New York Police และหน่วยดับเพลิงของรัฐได้รับการยกย่องสรรเสริญ ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปนโยบายสาธารณะด้านความมั่นคงของประเทศและระหว่างประเทศครั้งใหญ่ สำหรับภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ของประเทศไทย รัฐบาลน่าจะพิจารณาปฏิรูปนโยบายสาธารณะด้านการป้องกันภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกัน โดยสนับสนุนงบประมาณและหนุนเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติระหว่างประเทศให้กับหน่วยงานที่ได้รับการชื่นชมในการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติครั้งนี้ด้วยความเสียสละของกำลังพลในกองทัพ อาสาสมัคร ตำรวจ สื่อมวลชน และภาคเอกชนที่มีจิตอาสา และอาจประกาศช่วงเวลานี้เป็นวันระลึกถึง “จิตอาสาแห่งชาติ” เพื่อรักษาความรักความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในสังคมไทย ประการที่สาม มีงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการกับภัยพิบัติมากมาย เช่น มาตรการเตรียมตัวเฝ้าระวังและป้องกันภัยพิบัติ การตัดสินใจของผู้บัญชาการระดับต่างๆ ในระหว่างปฏิบัติตอบโต้กับสถานการณ์ฉุกเฉิน การเชื่อมประสานงานของยุทธศาสตร์บริการ การสื่อสารกับสาธารณชน และการทำงานในระบบโซเชียลมีเดีย เป็นต้น ดังนั้น กระบวนการถอดบทเรียนภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบันและรัฐบาลในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารต่อสาธารณชนที่รัฐบาลต้องสามารถบอกประชาชนได้ว่า น้ำจะมาเมื่อไหร่ น้ำจะสูงแค่ไหน และน้ำจะอยู่นานเท่าไหร่ รวมทั้งอะไรที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกที่เป็นผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ เสนอให้เว็บของทำเนียบรัฐบาลมีฐานข้อมูลที่ครบถ้วน ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงเพียงพิมพ์รหัสไปรษณีย์เข้าไปก็สามารถทราบได้ว่าพื้นที่ของตนเองมีปัญหาภัยพิบัติมากน้อยเพียงไร การที่รัฐบาลไม่สามารถสื่อสารกับสาธารณชนอย่างทั่วถึงได้จะทำให้เกิดข่าวลือ ความวิตกกังวล การตื่นตระหนกและความเห็นแก่ตัวในหมู่ประชาชน ส่งผลให้เกิดการกักตุนสินค้า การปล้นสะดม อาชญากรรม และการบริหารจัดการภัยพิบัติโดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสบความยากลำบากมากขึ้นไปอีก จึงเสนอให้ปฏิรูปการสื่อสารบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชน และจัดทำหนังสือคู่มือหรือแผ่นซีดี (CD) รับมือภัยพิบัติระดับครัวเรือนและภาคธุรกิจแจกจ่ายให้ทั่วถึงกัน นอกจากนี้ อาจต้องใช้เวลานานเป็นปีที่ผู้นำประเทศ ผู้ปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจะผ่านพ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ เช่น การฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติระดับครัวเรือน ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม การเลือกปฏิบัติ คดีความที่เกิดขึ้นในศาลยุติธรรม การทุจริตคอรัปชั่น การหาแหล่งเงินทุนมาฟื้นฟูประเทศ และภัยพิบัติอื่นๆ ในอีกวงรอบที่อาจเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น การมองไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรคจึงน่าจะเป็นอีกทางออกหนึ่งของประเทศ เพราะการมองย้อนกลับไปยังอดีตที่ฟื้นฝอยหาตะเข็บจะทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่หาข้อยุติได้ยาก แต่การถอดบทเรียนและมองไปข้างหน้าจะทำให้ทุกคนในประเทศเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาและแนวทางป้องกันแก้ไขผ่านนโยบายสาธารณะและยุทธศาสตร์ของการเฝ้าระวัง เตรียมพร้อมและรับมือกับภัยพิบัติในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โทร. 027191546 — 7 www.abacpoll.au.edu

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ