สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 28 พ.ย. — 2 ธ.ค. 54

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 28, 2011 15:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--ปตท. ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ 21-24 พ.ย. 54 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.02 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 107.93 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 2.50 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลอยู่ที่ 96.81 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 2.93 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 107.42 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล น้ำมันดีเซลเฉลี่ยลดลง 6.02 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 125.42 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยลดลง 3.20 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 108.77 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่ ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - สถานะทางการคลังของประเทศยูโรโซนอ่อนแอ อาทิกระทรวงการคลังกรีซรายงานยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11% อยู่ที่ระดับ 2.01 หมื่นล้านยูโร ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ และ การประมูลขายพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี มูลค่า 6 พันล้านยูโร ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามสามารถระดมทุนได้เพียงประมาณ 60% และ รัฐบาลสเปนระดมทุนจากการประมูลขายพันธบัตรอายุ 10 ปี ได้จำนวน 3.6 พันล้านยูโรต่ำกว่าเป้าหมายที่ 4 พันล้านยูโร - ภาคอุตสาหกรรมของจีนถดถอย โดย HSBC รายงานดัชนีกิจกรรมภาคอุตสาหกรรม (Purchasing Manager Index: PMI) ในเดือน พ.ย. 54 ลดลง 3 จุด จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 48 จุด ต่ำสุดในรอบ 32 เดือน - National Oil Corporation ของลิเบียรายงานอัตราการผลิตน้ำมันดิบของประเทศลิเบียปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 750,000 บาร์เรลต่อวัน และออกประมูลขายน้ำมันดิบจากแหล่ง Sharara เป็นครั้งแรกปริมาณ 1 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการประมูลขายน้ำมันดิบชนิดนี้ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ - รัฐมนตรีน้ำมันของอิรักรายงานยอดผลิตน้ำมันดิบในประเทศอิรักปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะเพิ่มกำลังผลิตสูงกว่าระดับ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 54 และมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตสู่ระดับ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ.2555 ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - สหภาพยุโรปมีกำหนดประชุมมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านโดยการระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในวันที่ 2 และ 8 ธ.ค. 54 ซึ่งอาจทำให้ยุโรปต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากแหล่งอื่นเพราะอิหร่านเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบเป็นอันดับที่ 3 ของยุโรป ที่ระดับ 450,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 - นักวิเคราะห์ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งในไตรมาส 4 ของปีนี้ - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีแผนจะให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศอิตาลีมูลค่า 6 แสนล้านยูโร โดยอัตรากู้ยืมอยู่ที่ระดับ 4-5% ซึ่งเป็นอัตรากู้ยืมที่ต่ำกว่าพันธบัตรของอิตาลีที่สูงเกือบ 7% โดย IMF มีเป้าหมายให้อิตาลีฟื้นฟูประเทศภายใน 18 เดือน - ทบวงสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 พ.ย. 54 ลดลง 6.2 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 330.8 ล้านบาร์เรล น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 209.6 ล้านบาร์เรล และ น้ำมันดีเซลลดลง 0.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 132.9 ล้านบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรปซึ่งส่งสัญญาณลุกลามสู่ประเทศแกนนำของกลุ่มอย่างเยอรมนี อีกทั้งจีนเพิ่มมาตรการเข้มงวดต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากข้อมูลทางเศรษฐกิจออกมาดีเกินคาดส่งผลให้ JP Morgan ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 4/54 จากเดิม 2.5% มาอยู่ที่ 3% ขณะที่การคว่ำบาตรต่ออิหร่านของยุโรปอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงขึ้นก่อผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งอยู่ในภาวะเปราะบางโดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของยุโรป ให้จับตาการขนส่งน้ำมันดิบ Murban ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผ่านท่อขนส่งน้ำมันดิบ Abu Dhabi Crude Oil Pipeline (ADCOP) ขนาด 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ จากแหล่งผลิต Habshan ไปยังท่าส่งออก Fujairah ความยาว 480 ก.ม. ซึ่งจะเริ่มขนส่งน้ำมันดิบ Murban ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปลายเดือน ธ.ค. 54 โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบ Hormuz ที่มีความเสี่ยงหากประเทศตะวันตกใช้กำลังทหารโจมตีอิหร่าน คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI จะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 105-110 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และ 95-100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2537-1630 โทรสาร 0 2537-2171

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ