ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 1,610 ล้านบาท “ธ. เกียรตินาคิน” ที่ระดับ “A-”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 30, 2011 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,610 ล้านบาทของธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งยืนยันผลอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของธนาคารคงเดิมที่ระดับ “A-” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Positive”หรือ “บวก” อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลประกอบการทางธุรกิจและการเงินของธนาคารที่ดีขึ้น รวมถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ แนวทางการบริหารความเสี่ยงซึ่งเป็นที่ยอมรับ ผลงานในการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น และฐานเงินกองทุนที่มีความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีแรงกดดันจากการมีมูลค่าเครือข่ายธุรกิจ (Franchise Value) ที่จำกัด และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อตลาดระดมเงินฝากภายหลังการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก อีกทั้งความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนของกฎเกณฑ์การออกตั๋วแลกเงิน นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย ผลจากภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงทั้งในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจหลักทรัพย์ อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคารได้ในอนาคต แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะสามารถรักษาระดับการเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ในระยะปานกลาง อีกทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถของธนาคารในการควบคุมคุณภาพของสินเชื่อและการดำรงเงินกองทุนที่เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนของภาวะทางเศรษฐกิจและการเงินในอนาคตได้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นกังวลที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยและความเสี่ยงจากความไม่มั่นคงในฐานเงินฝากลูกค้ารายย่อยอันเป็นผลจากการบังคับใช้กฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝากอย่างสมบูรณ์ในปี 2555 ธนาคารจึงยังคงต้องพิสูจน์ถึงความสามารถในการดำรงจุดแข็งของธนาคารต่อไป รวมทั้งสามารถรักษาระดับความมั่นคงของฐานเงินทุนเอาไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ทริสเรทติ้งรายงานว่าธนาคารเกียรตินาคินเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นลำดับที่ 11 จากจำนวนธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่ง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินทรัพย์ 1.6% เงินให้สินเชื่อ 1.7% และเงินรับฝาก 1.0% ธนาคารสามารถบริหารธุรกิจหลักของธนาคาร อาทิ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อที่อยู่อาศัย การบริหารเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้อง และสินทรัพย์รอการขายด้วยความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการและความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีแรงหนุนจากการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ซึ่งทำให้เงินให้สินเชื่อของธนาคารขยายตัวถึง 21% โดยมียอดสินเชื่อทั้งสิ้น 130 พันล้านบาท ธนาคารมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คิดเป็นสัดส่วน 74% จากจำนวนสินเชื่อทั้งหมด ในขณะที่สินเชื่อเพื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสินเชื่อประเภทอื่นๆ มีสัดส่วน 26% ทั้งนี้ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 มีอัตราการเติบโตจากสิ้นปี 2553 ถึง 25% ด้วยยอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 96 พันล้านบาท เทียบกับ 77 พันล้านบาทในปี 2553 ในขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างเติบโต 12% จากมูลค่า 21 พันล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2553 เป็น 23 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธนาคารเกียรตินาคินมีกลยุทธ์การเติบโตที่มุ่งเน้นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ ดังนั้น จึงได้กำหนดนโยบายด้านสินเชื่อและเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารลดลงอย่างต่อเนื่อง ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมที่ดีขึ้น โดยลดลงจาก 12.3% ในปี 2550 มาอยู่ที่ 4.6% ในปี 2553 และลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 4.0% ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบธุรกิจครบวงจรจำนวน 11 แห่งบนฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพซึ่งเป็นสินเชื่อในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างที่ค่อนข้างสูง โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 14% ของสินเชื่อกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างทั้งหมดของธนาคาร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมสำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพในกลุ่มนี้ซึ่งอยู่ที่ระดับ 8% ธนาคารมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ประกอบด้วยสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 6.4% ของสินทรัพย์รวม ดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 7.0% อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เท่ากับ 95% ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 100% ธนาคารมีการขยายสินเชื่อที่ให้แก่กลุ่มโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยซึ่งมีความเสี่ยงสูง แต่ธนาคารยังสามารถดำรงเงินกองทุนและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจาก สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินกองทุนรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญคิดเป็น 0.44 เท่า ซึ่งดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 0.53 เท่า ธนาคารสามารถสร้างรายได้ที่มากขึ้นและยังคงรักษาระดับผลตอบแทนที่สูงจากธุรกิจหลักของธนาคารไว้ได้ ในขณะเดียวกันธนาคารยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี ในปี 2553 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 2,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากกำไรสุทธิจำนวน 2,229 ล้านบาทในปี 2552 แม้ว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะเพิ่มขึ้นจาก 30% ในปี 2552 เป็น 38% ในปี 2553 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 42% ธนาคารมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยในปี 2553 เท่ากับ 2.1% เพิ่มขึ้นจาก 1.8% ในปี 2552 ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่ 12.7% มาเป็น 14.6% ในปี 2553 ธนาคารมีกำไรสุทธิสำหรับงวด9 เดือนแรกของปี 2554 จำนวน 2,176 ล้านบาท ลดลง 7.4% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2553 โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยที่ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีอยู่ที่ระดับ 1.3% และ 10.0% ตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ธนาคารตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญมากขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้นมากกว่างวดเดียวกันของปีก่อน สำหรับสภาพคล่องและเงินทุนนั้น ธนาคารมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่งเนื่องจากธนาคารมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระคืนภายในช่วง 12 เดือนมากกว่าสินทรัพย์ที่จะครบกำหนดในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแหล่งเงินทุนที่ได้จากลูกค้ารายใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่อาจมีความผันผวนได้มาก อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีกลยุทธ์ที่จะเพิ่มจำนวนบัญชีเงินฝากรายย่อยเพื่อเป็นการกระจายแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 ธนาคารมีสัดส่วนเงินรับฝากประเภทกระแสรายวันและออมทรัพย์คิดเป็น 8% ของเงินรับฝากทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจาก 1% ณ สิ้นปี 2551 ธนาคารมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งโดยสะท้อนจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับ 15.50% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 เพิ่มขึ้นจาก 15.18% ในปี 2553 และเนื่องจากธนาคารได้ให้สินเชื่อซึ่งมีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่สูงโดยเฉพาะสินเชื่อโครงการที่อยู่อาศัย ดังนั้น การดำรงเงินกองทุนและการมีสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อใช้รองรับความเสียหายที่คาดไม่ถึงจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A- อันดับเครดิตตราสารหนี้: KK127A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,493 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A- KK12OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A- KK187A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 240 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 คงเดิมที่ A- หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,610 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2561 A- แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive (บวก)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ