ผู้ประสบอุทกภัยอีสานชะลอการใช้จ่ายหลังน้ำลด ยกเลิกแผนเที่ยวปีใหม่ และกังวลปีหน้าอุทกภัยจะรุนแรงขึ้น

ข่าวทั่วไป Thursday December 15, 2011 15:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจอีสานโพล (E-Saan Poll) เรื่อง “ความพึงพอใจต่อการจัดการน้ำท่วมและการปรับตัวหลังน้ำลดของชาวอีสาน” พบพื้นที่การเกษตรเสียหายทั้งหมด ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ให้รัฐบาลสอบตกในการจัดการปัญหาน้ำท่วมและการเยียวยา ปีหน้าเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์เพราะกังวลอุทกภัยจะรุนแรงขึ้น วางแผนตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น คาดช่วงปีใหม่อาจซบเซา ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่าการสำรวจครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความพึงพอใจของชาวอีสานต่อความช่วยเหลือที่ได้รับจากภาครัฐและการปรับตัวหลังภาวะน้ำลด โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างผู้ประสบอุทกภัยใน 4 จังหวัดพื้นที่ภาคอีสาน ได้แก่ ร้อยเอ็ด สารคาม ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ และกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่ได้เป็นผู้ประสบภัยโดยตรง จำนวนทั้งหมด 611 ราย ผลดังนี้ เมื่อสำรวจผลกระทบที่ได้รับในด้านต่างๆ พบว่า มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่การเกษตรเสียหาย ร้อยละ 42 รองลงมา ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ในการทำงาน ร้อยละ 27 มีผู้ได้รับผลกระทบจากที่อยู่อาศัยเสียหาย ร้อยละ 20 มีผู้ได้รับผลกระทบจากสิ่งของเครื่องใช้เสียหาย ร้อยละ 7 และผู้ที่ยานพาหนะได้รับความเสียหาย ร้อยละ 4 ตามลำดับ ทั้งนี้ ระดับความเสียหายของพื้นที่การเกษตรมีความรุนแรงมากที่สุดเพราะส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบในระดับเสียหายทั้งหมด ขณะที่ด้านอื่นๆ ได้รับความเสียหายเพียงบางส่วน เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการของภาครัฐในระหว่างน้ำท่วมที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประเมินความพึงพอใจในระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 49 ขณะที่ความพึงพอใจต่อมาตรการเยียวยาของภาครัฐภายหลังน้ำลดของภาครัฐ ใหญ่ประเมินความพึงพอใจในระดับน้อยเช่นกัน คิดเป็นร้อยละ 47 อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานจะคลี่คลายแล้ว แต่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 71 คาดการณ์ว่าในอีก 1-5 ข้างหน้าปัญหาน้ำท่วมจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อถามถึงวิธีการปรับตัวหลังน้ำลดและรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นอีก กลุ่มตัวอย่างตอบว่าจะมีการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ ให้มากขึ้น ร้อยละ 39 รองลงมาจะย้ายที่อยู่ไปพื้นที่อื่น ร้อยละ 13 จะย้ายสถานที่ทำงานไปยังพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม ร้อยละ 12 หันมาเน้นการออมเงินหรือลงทุนในพันบัตรรัฐบาลมากขึ้น ร้อยละ 12 และวิธีอื่นๆ ร้อยละ 24 ส่วนการปรับตัวด้านพฤติกรรมการใช้จ่ายและการบริโภคหลังน้ำลด พบว่ามีการยกเลิก/เปลี่ยนแปลงแผนการเดินทางไปเที่ยวในช่วงวันหยุดปีใหม่ ร้อยละ 17 วางแผนลดจำนวนการรับประทานอาหารนอกบ้าน ร้อยละ 17 มีการลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความบันเทิงลง ร้อยละ 16 เน้นตรวจสอบสินค้าจากหลายแหล่งก่อนตัดสินใจซื้อ ร้อยละ 14 หันมาใช้สินค้าทดแทนที่ราคาถูกกว่า ร้อยละ 14 ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร คิดเป็นร้อยละ 12 และกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคเผื่อยามฉุกเฉิน คิดเป็นร้อยละ 8 “ในช่วงที่ผ่านมา 4 จังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยเช่นเดียวกัน แต่คนทั่วไปอาจจะไม่ทราบเพราะระดับความเสียหายไม่รุนแรงเท่าภาคกลางและกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคอีสานได้มีความตื่นตัวต่อการรับมือภัยธรรมชาติมากขึ้น และมีการปรับตัวโดยวางแผนลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นลง โดยเฉพาะแผนการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่นี้ ประชาชนยังได้เสนอแนะว่าอยากให้ภาครัฐเร่งบริหารจัดการแหล่งกักเก็บน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นอีกในปีหน้า” ดร.สุทินกล่าว ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วยเพศหญิง ร้อยละ 60 เพศชาย ร้อยละ 40 ส่วนใหญ่อายุ 46-55 ปี ร้อยละ 30 รองลงมา อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 24 ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบชั้นประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 53 รองลงคือระดับปริญญาตรี ร้อยละ 14 ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ เกษตรกรรม ร้อยละ 49 รองลงประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 14 ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่ไม่เกิน 5,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 48 รองลงรายได้อยู่ที่ 5,001-10,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 27 รายชื่อคณะผู้วิจัย รศ.มันทนา สามารถ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ รศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน ผศ.ดร.ก่อพงษ์ พลโยราช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ ผศ.ดร.ศิริลักษณ์ ศุทธชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลและประมวลผล นายมนัส ภักดีวัน นางสาวปวีณา ภูแพง นายเกียรติยศ หวัง นางสาวธัญนุช มัชปะโม นางสาวจุฬาลักษณ์ สุวรรณไตรย์ นางสาวปัทมา แก้วบริวงษ์ นางสาวปุณยวีร์ คำโคกสูง นางสาวณาตยา สีหานาม นายถาวร ไชยหงษ์ นางสาวทรัสติยา นามวงค์ นางสาวณฐมน บัวพรมมี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ