สพร. จับมือนักวิชาการเสนองานวิจัย "ปาตานีศึกษา" สะท้อนปัญหาความขัดแย้งจาก "สภาวะความเป็นสมัยใหม่"

ข่าวทั่วไป Tuesday January 31, 2012 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ไอแอมพีอาร์ "สภาวะความเป็นสมัยใหม่" ที่สังคมไทยได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตก ได้สะท้อนออกมาในรูปของความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสรีนิยมและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงพัฒนาการทางการเมืองในการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้ว่าสภาวะเหล่านี้จะเป็นการแสดงจุดยืนของประเทศว่าไม่ใช่ดินแดนที่ล้าหลัง แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธว่าการเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทยและสังคมมลายูปาตานี (ปัตตานี) กลับปรากฏปัญหาความขัดแย้งมากกว่าความผาสุก อีกทั้งทวีความรุนแรงและยังไม่อาจหาข้อยุติได้ จึงนับความจำเป็นที่ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันกำหนดเส้นทางการเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่ที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อมหาชนส่วนใหญ่ รวมถึงรักษาคุณค่าและจิตวิญญาณของสังคมแบบจารีตไว้ให้ได้ ด้วยเหตุนี้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. จึงได้ร่วมกับ หน่วยวิจัยภูมิศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย จัดสัมมนาวิชาการ “สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย : การค้นหาประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมปาตานี” ขึ้น ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำเสนองานวิจัยด้านปาตานีศึกษาให้คนในสังคมได้รับรู้ข้อมูลและเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมของปาตานีอย่างลึกซึ้ง เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตก นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เป็นผลงานต่อเนื่องจากการจัดสัมมนาวิชาการในปี 2552 ภายใต้หัวข้อ “ภาพหลอกหลอน ณ ชายแดนใต้ของไทย : การเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีและโลกอิสลาม” ซึ่งการสัมมนาทั้งสองครั้ง เป็นการนำเสนองานวิจัยที่นักวิจัยได้ทำการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลจากพื้นที่ทั้งมิติทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และระบบนิเวศ "การที่คนในสังคมจะสามารถร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ ในการเข้าไปสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่อย่างเท่าทันและนำไปสู่ความผาสุกของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมได้นั้น จะต้องได้รับข้อมูลความรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างจิตสำนึก การรู้จักตนเอง รู้จักเพื่อนบ้าน และรู้จักโลกเสียก่อน ซึ่งการนำเสนองานวิจัยด้านประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมปาตานี เป็นการจัดการองค์ความรู้ที่จะทำให้เกิดการสร้างวิจารณญาณที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการกำหนดเส้นทางเดินเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ได้" นายราเมศกล่าว เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว จะพบว่าความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ระหว่างรัฐไทยกับคนในท้องถิ่นซึ่งถูกเรียกว่า "ผู้ก่อความไม่สงบ" เกิดขึ้นมาโดยตลอดบนเงื่อนไขหลายประการ อาทิ ปมประวัติศาสตร์ที่บังคับให้อาณาจักรปาตานีต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของสยามตามข้อตกลงระหว่างสยามกับอังกฤษ การปฏิรูปราชการแผ่นดินที่ยกให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมอำนาจการปกครอง ความผูกพันชิดใกล้กับโลกวัฒนธรรมมลายู ความเชื่อมั่นศรัทธาในศาสนาอิสลาม ปัญหาความยากจนเรื้อรัง ตลอดจนปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่แล้วเหตุการณ์ที่เปรียบเหมือนเชื้อปะทุให้ความรุนแรงยิ่งยืดเยื้อยาวนานและรุนแรงขึ้นก็เกิดขึ้น ณ มัสยิดกรือเซะ ในปี พ.ศ.2547 โดยในการสัมมนาครั้งนี้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอผลงานวิจัย มัสยิด “แดง" ที่อธิบายถึงแง่มุมต่างๆ ของการใช้ความรุนแรงในศาสนสถานทั้งมัสยิดและวัดซึ่งถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ อย่างเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะซึ่งภาครัฐได้แก้ปัญหาด้วยกระบวนการและวิธีทางการเมืองว่า "การที่ผู้ก่อการใช้มัสยิดกรือเซะเป็นฐานต่อสู้ในเหตุการณ์ครั้งนั้น หากฝ่ายทหารยอมล่าถอยก็เปรียบได้กับการยืนยันความศักดิ์สิทธิ์ของมัสยิด แต่เมื่อมีการโจมตีก็เท่ากับการละเมิดความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ ในขณะที่ผู้ก่อการที่เสียชีวิตในมัสยิดกลายเป็นผู้พลีชีพ" ศ.ดร.ชัยวัฒน์ อธิบาย ดังนั้นการที่ภาครัฐได้ทำให้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แปดเปื้อนไปด้วยความรุนแรง จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มีอันตรายร้ายแรงขึ้น และทำให้การลดทอนความขัดแย้งทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะขอบเขตทางวัฒนธรรมที่เคยทำหน้าที่จำกัดความรุนแรงมิให้ลุกลามกลับถูกละเมิดทำลาย ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเสื่อมทรามลง ความขัดแย้งจึงมีแนวโน้มยืดเยื้อยาวนานมากขึ้น ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ดินแดนปาตานีก็กำลังก้าวเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยืนยันได้จากการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ อาทิ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม การใช้เทคโนโลยีทันสมัยในภาคเกษตรกรรม การออกไปศึกษาหรือทำงานต่างพื้นที่ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม อาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิภาคศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากการเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่ว่า ผู้ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์จะต้องยืดหยัดในความสัมพันธ์ทางสังคมที่เอื้อต่อมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสายตระกูล ชนชั้น วรรณะหรือชาติพันธุ์ เพราะการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะทำให้คนบางกลุ่มที่ยืดกุมผลประโยชน์จะหมดอำนาจจากสถานะเดิม "การมองและเคารพมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมจะเอื้อประโยชน์และความสงบสุขต่อชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ในระยะยาว และหากกล่าวถึงพื้นที่ความทรงจำร่วมของชุมชนที่เรียกว่าชาติ สังคมไทยอาจจำเป็นต้องกำหนดองค์ประธานชุดใหม่และโครงเรื่องชุดใหม่ในการเขียนประวัติศาสตร์ชาติ โดยยึดสามัญชนเป็นองค์ประธานของโครงเรื่อง มุ่งแสดงให้เห็นถึงแบบวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ที่สัมพันธ์กับชีวิตของผู้คนในวงกว้าง ในส่วนของประวัติศาสตร์ปาตานีก็จำเป็นต้องก้าวพ้นจากกรอบความคิดที่ว่า ประวัติศาสตร์ปาตานีเป็นปริมณฑลแห่งการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ความทรงจำระหว่างรัฐไทย กับขบวนการปลดปล่อยปาตานีเพียงอย่างเดียว จนทำให้มองไม่เห็นมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนความหลากหลายของวิถีชีวิตและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมในพื้นที่เดียวกัน" ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ ระบุ จากผลงานวิจัยที่มุ่งค้นหาประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมปาตานี ที่ได้นำเสนอในงานสัมมนาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าไม่มีสังคมใดที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่ได้ แม้แต่สังคมปาตานีที่มีความผูกพันลึกซึ้งกับภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองอย่างแข็งแกร่ง แต่แนวทางการเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่ที่จะเอื้อประโยชน์และความสุขแก่มหาชนในดินแดนอันศักสิทธิ์อันเป็นด้ามขวานของไทยได้อย่างแท้จริง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญต่อการทำความเข้าใจในวิถีทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง เมื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมปรากฎขึ้น ความสงบสุขย่อมงอกงามเหนือความขัดแย้ง และการพัฒนาในมิติต่างๆ ไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ก็จะดำเนินไปอย่างราบรื่น.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ