ผลวิจัย เรื่อง รื้อฟื้นความจำของความสอดคล้องตรงกันระหว่าง วาระรัฐบาล กับ วาระประชาชน

ข่าวทั่วไป Wednesday February 29, 2012 16:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.พ.--เอแบคโพลล์ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง รื้อฟื้นความจำของความสอดคล้องตรงกันระหว่าง วาระรัฐบาล กับ วาระประชาชน เปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ กับรัฐบาลปัจจุบันและ อะไรที่คนไทยอยากเห็นจากคนไทยด้วยกันเองในช่วงรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยประจำ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง รื้อฟื้นความจำของความสอดคล้องตรงกันระหว่าง วาระรัฐบาล กับ วาระประชาชน เปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ กับรัฐบาลปัจจุบัน และอะไรที่คนไทยอยากเห็นจากคนไทยด้วยกันเองในช่วงรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม สุพรรณบุรี เชียงราย เชียงใหม่ นครสวรรค์ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ เลย สกลนคร อุดรธานี นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี ยะลา และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,478 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 - 25 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่าความทรงจำ 5 อันดับแรกของประชาชนต่อภารกิจ นโยบาย วาระของรัฐบาลยุค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันดับแรก ร้อยละ 53.9 ระบุข่าวการติดตามจับตัว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ข่าวยึดทรัพย์ ดำเนินคดีของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ อันดับที่สอง ร้อยละ 48.7 ระบุข่าวความพยายามแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ต้องใช้เวลานาน อันดับที่สาม ร้อยละ 46.9 ข่าวการดำเนินคดีกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. อันดับที่สี่ ร้อยละ 43.1 ข่าวนโยบายไข่ชั่งกิโล นำเข้าน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช และอันดับที่ห้า ร้อยละ 40.5 ข่าวการประกันราคาข้าว ผลผลิตทางการเกษตร ตามลำดับ ในขณะที่ ความทรงจำของประชาชนในภารกิจ นโยบาย วาระของรัฐบาลยุคนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันดับแรกหรือร้อยละ 68.9 ระบุ ข่าวการแก้ไขปัญหายาเสพติด รองลงมาคือ ร้อยละ 67.7 ข่าวการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ร้อยละ 63.5 ข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 61.4 ข่าว ค่าแรง 300 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท บัตรเครดิตชาวนา และจำนำข้าว และร้อยละ 58.7 ข่าวการเยียวยาผู้เสียชีวิตและสูญเสียจากการชุมนุม เมื่อถามถึงความสอดคล้องตรงกันระหว่าง วาระรัฐบาล กับวาระประชาชนในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า วาระรัฐบาลที่สอดคล้องตรงกันกับวาระประชาชนมากที่สุดหรือร้อยละ 76.1 ระบุเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติด รองลงมาหรือร้อยละ 67.3 ระบุ นโยบายด้านสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค ร้อยละ 56.2 ระบุแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 50.1 ระบุการแก้ปัญหาน้ำท่วม อย่างไรก็ตามที่ระบุว่ายังไม่สอดคล้องกับวาระประชาชนมากที่สุดหรือร้อยละ 70.1 คือการแก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาสินค้าราคาแพง รองลงมาคือ ร้อยละ 68.1 ระบุปัญหาราคาเชื้อเพลิง ร้อยละ 65.6 ระบุนโยบายด้านการศึกษา การปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ร้อยละ 60.5 ระบุนโยบายค่าแรง 300 บาทต่อวัน และร้อยละ 56.8 ระบุนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความต้องการอยากได้อะไรจากคนไทยด้วยกันเอง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.2 อยากเห็นคนไทยรักกัน รองลงมาคือ ร้อยละ 80.6 อยากให้คนไทยมีน้ำใจ เกื้อกูลกัน ร้อยละ 78.3 อยากให้คนไทย ให้อภัยต่อกัน ร้อยละ 74.6 อยากให้คนไทยเลิกทะเลาะกัน เลิกแตกแยก ช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบสุข และร้อยละ 71.9 อยากให้คนไทย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงระยะเวลาให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอยู่ทำงาน พบว่า ร้อยละ 38.0 ระบุอยู่จนครบวาระ ร้อยละ 19.5 ระบุอยู่ 2 — 3 ปี ร้อยละ 21.2 ระบุอยู่ 1 — 2 ปี ร้อยละ 7.5 ระบุอยู่ 6 เดือนถึง 1 ปี และร้อยละ 13.8 ระบุนับจากนี้ไปไม่เกิน 6 เดือน นางสาว ปุณฑรีก์ กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ประชาชนจำนวนมากอยากให้โอกาสรัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ทำงานจนครบวาระ และชี้ให้เห็นถึงการรับรู้ของสาธารณชนต่อภารกิจและวาระของรัฐบาล (The Government Agendas) ที่ปรากฏในข้อมูลข่าวสารช่วงรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ ค่อนข้างห่างไกลไปจากวาระความต้องการของประชาชน (Public Opinion Agendas) แต่ในยุครัฐบาลภายใต้การนำของนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่จะสอดคล้องตรงกับวาระของประชาชน แต่ที่อาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนจนเกิดอาการแกว่งตัวบ้างคือภารกิจของนายกรัฐมนตรีที่ชั้น 7 ของโรงแรมหรูแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครกับกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ ซึ่งต่อไปไม่น่าจะมีภารกิจทำนองนี้ในที่ลับอีกแล้วเพราะไม่น่าจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวต่อว่า ตรงกันข้ามกับภารกิจที่โปร่งใส ได้ใจประชาชนระดับรากฐานส่วนใหญ่ของสังคมคือ การลงพื้นที่จัดรายการ TV นายกฯ ยิ่งลักษณ์ พบประชาชนที่ตลาดสดมีนบุรีที่น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรพิจารณาว่าเป็นภารกิจที่ชัดเจนเข้าถึงประชาชน มากกว่า ภารกิจที่ชั้น 7 ของโรงแรมหรูแห่งนั้น เพราะภารกิจที่ตลาดสดมีนบุรีชัดเจนไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยในภารกิจของนายกรัฐมนตรีว่าทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหรือเพื่อคนเฉพาะกลุ่ม และน่าจะนำไปสู่ความวางใจของประชาชนต่อรัฐบาลในการเอาจริงเอาจังทำงานเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ขอเพียงแต่ว่าเมื่อกลับเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลแล้วได้นำความเดือดร้อนต่างๆ ของประชาชนเรื่องราคาสินค้าที่สูงขึ้นนี้ไปหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้อย่างแท้จริง “ในเวลานี้อาจกล่าวได้ว่า พรรคเพื่อไทยล่าสุดกำลังสามารถครอบครองพื้นที่ในใจของสาธารณชนจำนวนมาก ได้พื้นที่สื่อในทางบวก ได้พื้นที่และการยกมือสนับสนุนกลายเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้น่าจะใช้โอกาสที่กำลังมีอำนาจสนับสนุนมากขนาดนี้เร่งทำนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศอย่างแท้จริง เช่น การปฏิรูประบบงานตำรวจ ปฏิรูประบบการศึกษา ปฏิรูประบบสุขภาพ ปฏิรูปความเป็นธรรมทางสังคม ไม่เลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างทางสังคมและสถานภาพอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ เพศ อายุ ถิ่นฐานที่อยู่หรือฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นต้น กล่าวคือ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรต้องแสดงความเป็นผู้นำที่ไม่ตกอยู่ภายใต้ “อคติแห่งนครา” ที่มักจะถูกกำหนดทิศทางการออกนโยบายสาธารณะโดยกลุ่มคนชนชั้นนำบางกลุ่มและมักจะอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือหัวเมืองใหญ่ของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นต้องไม่ตกอยู่ภายใต้ “อคติแห่งมหานครา” ที่จะถูกกำหนดทิศทางนโยบายสาธารณะจากกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลจากต่างประเทศ และกลุ่มประเทศหรือองค์กรนายทุนระหว่างประเทศทั้งหลาย แต่นายกรัฐมนตรีต้องนั่งหัวโต๊ะกำหนดนโยบายสาธารณะให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพต่อคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศอย่างแท้จริง” นางสาวปุณฑรีก์ กล่าว จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.2 เป็นชาย ร้อยละ 52.8 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.1 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 22.7 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.9 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.1 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 29.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 73.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 26.9 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 33.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 29.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.1 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 10.8 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.8 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.5 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ