สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 5 - 9 มี.ค. 55

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 5, 2012 14:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ปตท. ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ย สัปดาห์ที่ 27 ก.พ.-2 มี.ค. 55 น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ระดับ 121.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 123.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 107.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 1.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 134.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 134.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก สร้างความกังวลต่อการผลิตและขนส่งน้ำมันดิบบริเวณอ่าวเปอร์เซีย ในคืนวันพฤหัสบดี (1 มี.ค. 55) ที่ผ่านมา ราคา Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 ปี เนื่องจากสำนักข่าวทางการอิหร่าน รายงานท่อขนส่งน้ำมันในซาอุดีอาระเบียระเบิด อย่างไรก็ดีซาอุดีอาระเบียปฏิเสธข่าวดังกล่าว - State Oil Marketing Organisation (SOMO) ของอิรักรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. 55 ลดลง 4.4% จากเดือนก่อน อยู่ที่ 2.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน - ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบ Su Tu Den จากเวียดนาม ในเดือน ม.ค. 55 เพิ่มขึ้น 8 เท่าจากปีก่อน อยู่ที่ 78,000 บาร์เรลต่อวัน และนำเข้าน้ำมันดิบ Minas จากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปีก่อน อยู่ที่ 78,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ Tokyo Electric Power Co. มีแผนจะเพิ่มปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันเตา อยู่ที่ 4.4 ล้านบาร์เรล เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนพลังงานนิวเคลียร์ - กระทรวงเศรษฐกิจของเกาหลีใต้รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. 55 เพิ่มขึ้น 13.2% จากปีก่อน อยู่ที่ 80.1 ล้านบาร์เรล - ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 4/54 ครั้งที่สอง อยู่ที่ระดับ 3.0% เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนหน้าที่ระดับ 2.8% และกระทรวงแรงงานรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ก.พ. 55 อยู่ที่ 351,000 ราย ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - กระทรวงพลังงานของรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. 55 เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อน อยู่ที่ 10.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย - BP แถลงโรงกลั่น Cherry Point กำลังการผลิต 225,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ (West Coast) จะยังปิดดำเนินการหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ ถึงอย่างน้อยต้นเดือน เม.ย. 55 - Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ก.พ. 55 เพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรล หรือ 1.2% จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 344.9 ล้านบาร์เรล - สถาบันจัดระดับความน่าเชื่อถือ Moody's ลดเครดิตของกรีซลงจาก Ca มาอยู่ที่ C ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในเกณฑ์การจัดอันดับ เนื่องจากกรีซจะผิดนัดชำระหนี้ หลังบรรลุข้อตกลงกับนักลงทุนภาคเอกชนในการปรับลดมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลลง 53.5% - สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (Eurostat) รายงานอัตราว่างงานของยุโรปเดือน ม.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 10.7% เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อน และดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) ของกลุ่ม Euro Zone ในเดือน ม.ค. 55 เพิ่มขึ้น 0.7% จากเดือนก่อน เป็นผลจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง แนวโน้มราคาน้ำมัน ในสัปดาห์นี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นาย Ben Bernake ให้คำมั่นว่าจะคงนโยบายผ่อนปรนทางการเงินต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และคาดการณ์ว่า GDP ในปี 2555 นี้จะขยายตัว 2.2-2.7% โดยอัตราการว่างงานจะทรงตัวอยู่ที่ 8.2% - 8.5% ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศแผนอัดฉีดเงินเข้าระบบ โดยปล่อยเงินกู้ระยะ 3 ปี แบบไม่จำกัดจำนวนแก่ธนาคารพาณิชย์ (Long Term Refinancing Operation: LTRO) รอบที่ 2 มูลค่า 5.3 แสนล้านยูโร จะเพิ่มความมั่งคงให้ธนาคารยุโรป ทั้งนี้ ECB ได้ปล่อยเงินกู้ LTRO ไปแล้วรอบแรกในเดือน ธ.ค. 54 ที่มูลค่า 4.9 แสนล้านยูโร และสหภาพยุโรปกล่าวว่าไม่มีความจำเป็นต้องปล่อยปริมาณสำรองเชิงยุทธศาสตร์ ทดแทนการลดนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน อย่างไรก็ดี ต้นสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าลดลง หลังนักลงทุนคลายกังวลจากซาอุดีอาระเบียปฏิเสธข่าวท่อขนส่งน้ำมันในประเทศระเบิด และอุปทานน้ำมันยังคงมีเพียงพอโดย OPEC ผลิตน้ำมันในเดือน ก.พ. 55 อยู่ที่ระดับ 31.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าระดับเป้าหมายถึง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ผลักดันให้มีการปล่อยปริมาณสำรอง หากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสูงและกระทบต่อผู้บริโภค ให้จับตาการประชุมระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Barack Obama กับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล นาย Benjamin Netanyahu ในวันที่ 5 มี.ค. 55 ซึ่งจะหารือเกี่ยวกับอิหร่าน ในระยะสั้นคาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 120-128 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 105-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ