เกษตรผสมผสานสู้ภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Friday March 30, 2012 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สำนักงานเกษตร จ.มหาสารคาม สำนักเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองมหาสารคามขับเคลื่อนแนวคิดการทำเกษตรพึ่งตนเองเดินหน้าโครงการศูนย์เครือข่ายเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการทำเกษตรผสมผสานด้วยระบบอินทรีย์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนและสู้ปัญหาภัยแล้ง ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ได้นำเกษตรอำเภอ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนายสถิตย์ ตะวัน เกษตรกรตามโครงการศูนย์เครือข่ายเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง บ้านหนองคู-ศรีวิไลตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นบุคคลต้นแบบในการดำเนินวิถีชีวิตด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงการทำเกษตรผสมผสานด้วยระบบอินทรีย์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน กิจกรรมมีทั้งการเลี้ยงไก่งวง ปลูกพืชผัก ไม้ผลไม้ยืนต้น การอนุรักษ์ดินและน้ำ และการขุดสระเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร ทั้งนี้ในอดีตชุมชนอีสานเป็นชุมชนเกษตรกรรมทำการผลิตอาหารเลี้ยงครอบครัว เพื่อแลกเปลี่ยนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แต่ปัจจุบันมนุษย์มีความต้องการเพิ่มขึ้น ทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ปัญหาสารเคมีตกค้างในดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินมีน้อยลง การหาอยู่ หากินแบบวิถีชีวัตดั้งเดิมกำลังเลือนหายไป ทำให้เป็นหนี้ เป็นสินโดยไม่รู้ตัว สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคามและเครือข่ายจึงได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อนำไปขยายผลและปรับเปลี่ยนทัศนคติการทำเกษตรไปสู่แนวทางการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้เรื่องราวชีวิตของตนเอง เข้าใจสังคม ใช้ชีวิตพออยู่พอกินตามวิถีพอเพียง นอกจากนี้วิถีแห่งความพอเพียงการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ยังจะช่วยให้ชาวบ้านสู้กับปัญหาภัยแล้งได้ เกษตรจังหวัดมหาสารคามกล่าวต่อไปว่าจังหวัดได้ขับเคลื่อนและส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้ตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาทุกรูปแบบ ทั้งนี้หากประชาชนได้นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้จะทำให้ครอบครัวมีความสุขไม่มีหนี้สินอีกต่อไป หากมีปัญหาข้อสงสัย ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอที่อยู่ใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาและแก้ปัญหาการเกษตรโดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ