“หมอภาษา” นวัตกรรมการศึกษา ที่ “โรงเรียนบ้านถ้ำลา” “พี่สอนน้อง” แก้ปัญหาเด็กไทย “อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้”

ข่าวทั่วไป Tuesday May 22, 2012 18:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--ไอแอมพีอาร์ ทุกวันนี้ยังมีเด็กไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องประสบกับปัญหาในการอ่านภาษาไทยไม่คล่องและเขียนภาษาไทยไม่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขเพราะภาษาไทยเป็นพื้นฐานสำคัญในการเปิดประตูสู่การเรียนรู้ในทุกสาระวิชา โรงเรียนบ้านถ้ำลา อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ก็เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่สุดของจังหวัด และประสบกับปัญหาเด็กนักเรียนในชั้นประถมศึกษาตอนต้น “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” ที่มีสาเหตุมาจากปัญหาความสนใจวิชาพื้นฐานของเด็ก รวมถึงการละเลยดูแลเอาใจใส่ทบทวนการเรียนหนังสือของผู้ปกครอง ซึ่งหากปล่อยไว้ก็จะส่งผลเสียกับการเรียนในวิชาอื่นๆ “ครูนิลวรรณ ชูวิวัฒน์รัตนกุล” ครูผู้สอนภาษาไทยว่าที่ “ครูสอนดี” จากโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน” ของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงได้ออกแบบโครงการและกิจกรรม “หมอภาษา” ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กนักเรียนให้หายขาด โดยทำให้การเรียนรู้ภาษาไทยเป็นกิจกรรมที่แสนสนุก “โครงการหมอภาษา” ว่าเกิดขึ้นจากการพบว่ามีเด็กนักเรียนที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ในโรงเรียนบ้านถ้ำลาประมาณ 20 คน โดยเป็นนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ประมาณ 10 กว่าคน และเป็นนักเรียนที่มีปัญหาเรื่องการเขียนอีก 10 คน “ครูนิลวรรณ” จึงค้นหาแนวทางที่จะทำให้เด็กนักเรียนกลุ่มนี้อ่านออกเขียนได้ เพราะเขาจะต้องใช้การอ่านและเขียนในการเรียนวิชาต่างๆและใช้ในชีวิตประจำวัน จึงไปสืบค้นข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตแล้วก็นำมาประยุกต์เป็นโครงการหมอภาษาเพื่อนำมาใช้พัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทยให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน “การเรียนการสอนภาษาไทยนั้นมีความสำคัญมาก เพราะภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติ แล้วยังมีความสำคัญต่อการเรียนการสอนในวิชาอื่นๆ ถ้าอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็ไม่สามารถเรียนวิชาอื่นๆได้ แล้วก็มีความสำคัญในการใช้ในชีวิตประจำวันเพราะใช้ในการสื่อสาร” ครูนิลวรรณ เล่าถึงความสำคัญของภาษาไทยที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็กๆ “หมอภาษา” เป็นกิจกรรมที่จำลองรูปแบบของการเรียนภาษาไทยให้เป็นเหมือนคลินิกรักษาคนไข้ โดยใช้ห้องแนะแนวนำมาจัดตั้งเป็น “ร้านหมอ” มีการตั้งโต๊ะรับบัตรคิว ซักประวัติคนไข้ ก่อนส่งตัวทำไปทำการรักษา โดยคลินิกแห่งนี้จะเปิดให้บริการทุกวันในช่วงพักเที่ยงเวลา 12.00-12.30 น. และหลังเลิกเรียนเวลา 14.30-15.30 น. โดยวันจันทร์จะเป็นการฝึกทักษะของเด็กนักเรียนในเรื่องของการอ่าน วันอังคารฝึกทักษะด้านการเขียน โดยจะสลับกันไปในวันพุธและพฤหัสบดี ส่วนในวันศุกร์ก็จะเป็นฝึกในเรื่องของการคัดลายมือให้ถูกต้อง “รูปแบบเราก็คือจะมีหมอและผู้ป่วย หมอก็คือนักเรียนที่อ่านออกและเขียนได้ ที่อ่านคล่องก็จะเป็นนักเรียนชั้น ป.5 และ ป.6 มาเป็นคุณหมอ แล้วก็นักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็จะมาจากการคัดกรอง กิจกรรมของเราก็คือผู้ป่วยจะต้องมาหยิบบัตรคิว โดยมีนักเรียนรุ่นพี่เป็นพี่เลี้ยง แล้วก็ขานชื่อว่าบัตรคิวที่หนึ่งชื่ออะไรแล้วก็มาซักประวัติ พอซักประวัติเสร็จแล้วเราก็จะส่งตัวไปให้กับคุณหมอทำการรักษาในเรื่องของการอ่านและการเขียน” ครูนิลวรรณเล่าถึงการทำงานหมอภาษา เด็กชายปฏิวัติ ทองบุญยัง หรือ “น้องโดม” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีจิตอาสามาช่วยสอนการอ่านภาษาไทยเล่าถึงหน้าที่ของ “หมอภาษารุ่นจิ๋ว” ว่าจะช่วยบอกน้องๆ ให้อ่านออกเสียงให้ถูกต้อง โดยจะบอกวิธีการสะกดและออกเสียงที่ถูกต้อง แล้วให้น้องออกเสียงตาม โดยใช้หนังสือคู่มือหรือแบบเรียนของน้องนำมาอ่านให้น้องฟังแล้วให้น้องอ่านตามออกเสียงตาม ด้าน เด็กหญิงพัชรี เกตเอียด หรือ “น้องปัท” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มาช่วยแก้ปัญหาการเขียนไม่ได้บอกว่า “จะสอนให้น้องเขียนตัวหนังสือต่างๆ โดยสะกดให้เขียนตาม เช่นถ้าจะให้เขียนคำว่าไก่ ก็จะบอกน้องว่า ก่อไก่-สระไอ-ไม้เอก-ไก่ แล้วก็ให้เขาสะกดตาม อ่าน แล้วก็ให้น้องเขียนตามให้ถูกต้อง” ถึงแม้การที่มาช่วยงานคุณครูด้วยการทำหน้าที่เป็น “หมอภาษา” ในตอนพักเที่ยงหรือหลังเลิกเรียนจะทำให้ไม่ได้ไปเล่นกับเพื่อนๆ ก็ตาม แต่ทั้งคู่ก็มีความสนุกที่ได้ช่วยน้อง โดยกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “รู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือน้องให้สามารถอ่านหนังสือออก-เขียนหนังสือได้” โดยนักเรียนที่อ่านไม่ออกหรือเขียนไม่ได้เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมก็จะได้รับประโยชน์ในเรื่องของการพัฒนาในด้านของการอ่านและการเขียน ทำให้สามารถอ่านออกและเขียนได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังจะมีความสนุกสนานในกระบวนการเรียนการสอนวิชาอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นไม่เฉพาะแค่ภาษาไทยอย่างเดียว “เพราะบางครั้งการที่ครูสอนในห้องเรียนเด็กก็จะเกิดความเครียด แล้วก็ตามคนอื่นไม่ทัน แต่สำหรับกิจกรรมนี้เขาสามารถที่จะเรียนไปกับคุณหมอตัวต่อตัว เขาก็จะมีความเป็นอันเองสื่อสารกันได้ ในเรื่องของผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนกลุ่มนี้ก็ดีขึ้น ในส่วนของตัวคุณหมอก็จะเป็นการฝึกความเชี่ยวชาญความชำนาญในการอ่านการเขียนภาษาไทย เป็นนักเรียนที่มีจิตอาสามีจิตสาธารณะรู้จักที่จะช่วยเหลือเพื่อนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเป็นพี่เป็นน้องมีความสามัคคีกลมเกลียวกันในโรงเรียน” ครูนิลวรรณระบุ นายสมพงศ์ ยุทธการ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านถ้ำลา เล่าให้ฟังว่าภาษาไทยนั้นถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ เพราะแบบเรียนวิชาต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคม หรือประวัติศาสตร์ ล้วนแล้วแต่ใช้ภาษาไทยทั้งสิ้น หากเด็กๆ อ่านภาษาไทยไม่ออก เขียนภาษาไทยไม่คล่อง ก็จะส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนของครู และการเรียนรู้ของตัวเด็กในทุกกลุ่มสาระวิชา “กิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้เด็กๆ อ่านออกเขียนได้แล้ว ยังมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อครูติดภารกิจต้องออกไปนอกโรงเรียน ก็สามารถฝากให้ทำกิจกรรมกันเองได้โดยไม่ต้องมีครูคอยดูแล ซึ่งเป็นการปลูกฝังและสร้างความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ” ผอ.สมพงศ์กล่าว “ความคาดหวังในการจัดทำโครงการหมอภาษาก็คือ อยากจะให้นักเรียนของเราอ่านออกเขียนได้และมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น แล้วก็เป็นการช่วยเหลือนักเรียนที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ เพราะเมื่อนักเรียนของเราอ่านออกเขียนได้ ในเรื่องของกระบวนการเรียนการสอนอื่นๆ ก็จะดีขึ้น แล้วก็การดำเนินชีวิตประจำวันในบ้าน ในบ้านในชุมชนของเขาก็จะดีตามไปด้วย” ครูนิลวรรณ ว่าที่ครูสอนดีกล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ