สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ดูละคร “ขุนศึก” แล้วย้อนดูตัวในผืนแผ่นดินไทย กรณีศึกษาตัวอย่างเฉพาะกลุ่มคนที่ดูละครขุนศึก ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday May 23, 2012 17:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--เอแบคโพลล์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ดูละคร “ขุนศึก” แล้วย้อนดูตัวในผืนแผ่นดินไทย กรณีศึกษาตัวอย่างเฉพาะกลุ่มคนที่ดูละครขุนศึก ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม ชลบุรี นครสวรรค์ เชียงราย เชียงใหม่ สกลนคร หนองคาย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น ชุมพร สุราษฎร์ธานีและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,108 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 - 19 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.8 ระบุตัวละครที่ชอบมากที่สุดได้แก่ เสมา (พระเอก) ในขณะที่รองลงมาคือร้อยละ 27.1 ชอบ เรไร (นางเอก) และที่เหลือร้อยละ 2.1 ชอบตัวละครอื่นๆ ได้แก่ ตัวละครที่เป็น ขัน สมบุญ สิน พันอิน ดวงแข และชอบหมดทุกตัวละคร เมื่อถามถึงการดูละคร “ขุนศึก” แล้วย้อนดูตัวว่ารู้สึกอย่างไร พบว่า ร้อยละ 36.2 รู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญเสียสละของบรรพบุรุษ ร้อยละ 35.9 อยากให้คนไทยรักและสามัคคีกันให้มากขึ้น ร้อยละ 33.7 รักประเทศชาติมากขึ้น ร้อยละ 30.1 เป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ ร้อยละ 29.7 สะเทือนใจที่ต้องเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อถามถึงการดูละคร “ขุนศึก” แล้วย้อนดู “สังคมไทยปัจจุบัน” ว่าสิ่งที่ต้องการให้คนไทยต้องปรับปรุงมีอะไรบ้าง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.0 อยากให้คนในชาติรักและสามัคคีกันมากขึ้น รองลงมาคือ ร้อยละ 71.4 ระบุความจงรักภักดี ร้อยละ 58.8 ระบุเป็นเรื่องจิตสำนึกและอุดมการณ์เพื่อชาติบ้านเมือง ร้อยละ 56.5 ระบุความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ร้อยละ 53.5 ระบุ การให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่ ในขณะที่ร้อยละ 50.7 ระบุการรักษาศักดิ์ศรีของคนไทย และร้อยละ 46.7 ระบุความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เมื่อสอบถามถึงการติดตามข่าวสารในปัจจุบันเกี่ยวกับประเทศพม่า พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.0 ติดตาม ซึ่งในกลุ่มคนที่ติดตามนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.4 คิดว่าประเทศพม่าดีขึ้นกว่าสมัยก่อนโดยภาพรวม และเมื่อสอบถามถึงจุดแข็งของประเทศพม่าที่ดีต่อการพัฒนาประเทศพม่า พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.3 ระบุ เรื่องทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รองลงมาคือ ร้อยละ 55.4 ระบุ การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่เคร่งครัด ร้อยละ 50.4 ระบุความสามัคคีของคนในชาติพม่า และรองๆ ลงไปคือ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมโยงการขนส่งกับต่างประเทศ ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน การเมืองการปกครอง และค่าจ้างแรงงาน ตามลำดับ เมื่อถามว่า หลังได้ดูละคร “ขุนศึก” แล้วอยากให้หน่วยงานรัฐบาลเร่งทำอะไรเป็นวาระแห่งชาติ พบสิ่งที่สำคัญ 4 อันดับคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.6 อยากให้เร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน รองลงมาคือ ร้อยละ 77.2 อยากให้พัฒนาคุณภาพการศึกษา และร้อยละ 77.2 เท่ากัน คือ เร่งแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และร้อยละ 73.2 ส่งเสริมความรักความสามัคคีของคนในชาติ และรองๆ ลงไปคือ เร่งปฏิรูประบบราชการ และเร่งปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือ หลังดูละครขุนศึก เมื่อถามระหว่าง ความหวาดกลัวต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ กับความหวังที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.4 เลือกที่จะหวังและก้าวต่อไปข้างหน้า เพราะยังคงมีความหวังว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นได้ ในขณะที่ร้อยละ 36.6 ยังคงกังวลและหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ข้างหน้าของประเทศไทย เพราะกลัวเกิดปัญหาเศรษฐกิจ และเกิดความรุนแรงบานปลายในความขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.2 เป็นชาย ร้อยละ 51.8 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.5 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.0 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 32.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 68.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 31.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 33.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.4 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 7.9 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.1 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.6 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ