กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขอเชิญสื่อมวลชนร่วมงานเสวนา เรื่อง "จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยและไม่กระทบภาคธุรกิจ"

ข่าวเทคโนโลยี Monday July 26, 2004 09:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--เนคเทค
โครงการเสวนา
เรื่อง “จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยและไม่กระทบภาคธุรกิจ”
วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม 2547 เวลา 9.00 น.—16.00 น.
ณ ห้องแกรนด์ ฮอลล์ 2 ชั้น เอ็ม โรงแรมรามา การ์เด้น
จัดโดย
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
และ
สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกับ
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สภาทนายความ หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย สมาคมธนาคารไทย
1. หลักการและเหตุผล
สืบเนื่องจากมาตรา 28 และมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียงหรือความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
อนึ่ง บทบัญญัติข้างต้นได้กำหนดเอาไว้เป็นเพียงหลักเกณฑ์ที่เป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเท่านั้น ยังไม่ได้มีกฎหมายมารองรับเป็นลักษณะกฎหมายทั่วไป ดังนั้น เพื่อเป็นการกำหนดกลไกในการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถประมวลผลและเผยแพร่ถึงบุคคลจำนวนมากได้โดยง่าย สะดวก และรวดเร็วโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศอันทันสมัย จึงมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นกฎหมายทั่วไป
และในการดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวได้ดำเนินการให้มีลักษณะความเป็นสากลอันรับกับลักษณะเฉพาะของสังคมไทยด้วย ในการยกร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว จึงได้กำหนดหลักการในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามแนวทางและมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน Guidelines Governing the Protection of Privacy and Transborder Data Flows of Personal Data ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD) อันเป็นแนวทางที่นานาประเทศต่างก็ได้ใช้เป็นกรอบหรือแนวทางในการพัฒนากฎหมายภายในของประเทศตน ประกอบกับการศึกษากฎหมายหลายประเทศในเชิงเปรียบเทียบและพิจารณาหลักการของกฎหมายไทยฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้มีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความตื่นตัวของสังคมไทยในการเล็งเห็นถึงความสำคัญของสิทธิขั้นพื้นฐานข้างต้นควบคู่ไปพร้อมกันด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ได้กำหนดขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้ครองคลุมการดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรวบรวม การประมวลผล การเก็บรักษา การแก้ไข การลบ การโอน การใช้ และการจำกัดการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนั้น ยังได้กำหนดสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และกำหนดกลไกในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยส่งเสริมให้มีการจัดทำนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งทำหน้าที่ในการวางนโยบาย มาตรการ และแนวทางใดๆ ในการส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยกำหนดให้มีมาตรการทางปกครองเพื่อกำหนดกลไกการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อทำหน้าที่หน่วยงานธุรการและสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
และในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระบวนการนิติบัญญัติเป็นไปอย่างรอบคอบและมีเนื้อหาที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นถึงข้อดี หรือข้อบกพร่องที่จะต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในร่างพระราชบัญญัติ รวมถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและเป็นหลักประกันในการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างแท้จริง
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.
2.2 เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพื่อการปรับปรุงเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... รวมถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต
3. กลุ่มเป้าหมาย
ผู้เข้าร่วมการเสวนา ประมาณ 300 คน จากสาขาต่างๆ ดังนี้
คณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ประมาณ 20 คน
นักกฎหมายจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประมาณ 100 คน
สื่อมวลชนและ NGO ประมาณ 80 คน
นักวิศวกรรมศาสตร์ นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ - ประมาณ 100 คน
เทคโนโลยีสารสนเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
4. รูปแบบการจัดงาน
เป็นการเสวนาทางวิชาการ โดยวิทยากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
5. วัน เวลา สถานที่
วันพฤหัสบดี ที่ 29 กรกฎาคม 2547 เวลา 09.00—16.00 น.
ณ ห้องแกรนด์ ฮอลล์ 2 ชั้น เอ็ม โรงแรมรามา การ์เด้น
6. หน่วยงานที่จัด
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สภาทนายความ หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย และสมาคมธนาคารไทย
7. กำหนดการ
08.30-09.00 น. ลงทะเบียน
09.00-09.15 น. กล่าวเปิดการสัมมนา
โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
09.15 — 12.00 น. จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยและไม่กระทบภาคธุรกิจ
โดย
- ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ
(องค์การมหาชน)
- ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
ดำเนินรายการและร่วมเสวนา โดย
ศ. เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์
ประธานคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ฯ
12.00-13.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน
13.00-16.00 น. การจัดทำ Privacy Policy และการใช้ Trust Mark เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
ในการทำ e-Commerce
โดย
- นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ผู้อำนวยกองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์
- นายเลิศยุทธ ทองวินิจ กรรมการผู้จัดการ hoteleasy.com
ดำเนินรายการและร่วมเสวนา โดย
นางสุรางคณา วายุภาพ
สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ