วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปยืดเยื้อ — ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่ม สอย!! ดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม ก.ค. ร่วงต่ำกว่า 100 ในรอบ 6 เดือน

ข่าวทั่วไป Friday August 17, 2012 17:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--ส.อ.ท. นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกรกฎาคม 2555 จำนวน 1,050 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 27.9, 49.0 และ 23.1 ของ กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 36.2, 15.8, 16.1, 18.1 และ 13.8 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 80.9 และ 19.1 ตามลำดับ โดยจากผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 98.7 ลดลงจากระดับ 102.7 ในเดือนมิถุนายน ค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนการประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ค่าดัชนีปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และปรับตัวต่ำกว่า 100 ในรอบ 6 เดือน โดยสาเหตุเกิดจากความยืดเยื้อของวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดขายต่างประเทศที่ลดลง นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตที่สูงจากราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME ยังคงต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานเพื่อรองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 นี้ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.8 ลดลงจากระดับ 105.8 ในเดือนมิถุนายน ค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจาก องค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนการประกอบการและผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ล้วนปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 95.8 ลดลงจากระดับ 101.0 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนการประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงเลื่อย โรงอบไม้, อุตสาหกรรมพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.7 ลดลงจากระดับ 106.7 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนการประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 101.7 ลดลงจากระดับ 105.0 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนการประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า, อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ และอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.5 ลดลงจากระดับ 107.1 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 95.7 ลดลงจากระดับ 100.0 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ด้าน ดัชนีความเชื่อมั่นฯรายภูมิภาค ประจำเดือนกรกฎาคม พบว่าภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวลดลง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาคกลาง มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 94.6 โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 101.2 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ความยืดเยื้อของวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงจากราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคกลางในเดือนกรกฎาคม สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 104.7 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 96.1 ลดลงจากระดับ 103.1 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นได้แก่ ต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ ราคาก๊าซ LPG ค่าจ้างแรงงาน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก, อุตสาหกรรมสิ่งทอ และหัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.9 ปรับลดลงจากระดับ 106.0 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมและปริมาณการผลิต ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 105.6 ลดลงจากระดับ 107.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคตะวันออก ได้แก่ ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากวัตถุดิบและราคาพลังงาน ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม การค้ากับประเทศเพื่อนบ้านยังขยายตัวดี เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.4 ลดลงจากระดับ 108.1 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 94.6 ลดลงจากระดับ 101.5 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนนี้ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ขณะที่ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในพื้นที่ สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม, อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.7 ลดลงจากระดับ 106.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 106.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.6 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการลงทุนภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากการขยายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมา สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, อุตสาหกรรมน้ำตาล, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.2 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทั้งกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับลดลงจากเดือนมิถุนายน กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 100.0 ลดลงจากระดับ 104.0 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, อุตสาหกรรมสมุนไพร และอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.9 ลดลงจากระดับ 107.0 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 93.0 ลดลงจากระดับ 94.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์, อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.1เพิ่มขึ้นจากระดับ 97.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับด้?านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะจากเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยผู้ประกอบการมีความกังวลในปัจจัยราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยอื่นมีความกังวลลดลง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกรกฎาคมนี้ คือ ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมการค้าชายแดน กับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ อาทิ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น รวมถึงต้องการให้ภาครัฐเจรจาเพื่อขอคืนสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ และขอต่ออายุ GSP ของ EU พร้อมทั้งเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานและจัดหาแรงงานใน กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ