6 ประเทศลุ่มน้ำโขงร่วมผลักดันความร่วมมือการซื้อขายไฟฟ้าและการสร้างเครือข่ายสายส่งภายในกลุ่มประเทศ

ข่าวทั่วไป Friday August 6, 2004 15:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--สนพ.
6 ประเทศลุ่มน้ำโขงร่วมผลักดันความร่วมมือการซื้อขายไฟฟ้าและการสร้างเครือข่ายสายส่งภายในกลุ่มประเทศ เพื่อเปิดเสรีการซื้อขายไฟฟ้าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
นายพรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานซื้อขายไฟฟ้าอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 1 ณ เมืองกุ้ยหลิน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้นำ 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน สปป.ลาว สหภาพพม่า กัมพูชา และเวียดนาม เห็นชอบความร่วมมือด้านการซื้อขายไฟฟ้าและการสร้างเครือข่ายสายส่ง 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง
โดยขณะนี้อยู่ในขั้นร่วมกันจัดทำข้อตกลงปฏิบัติการทางเทคนิคเพื่อดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าในกลุ่มประเทศ
(Regional Power Trade Operating Agreement - PTOA) เพื่อให้การซื้อขายไฟฟ้าเกิดผลเป็นรูปธรรม
สำหรับความคืบหน้าการจัดทำข้อตกลง PTOA ดังกล่าว บริษัทที่ปรึกษา ได้จัดส่งร่างรายงานการศึกษาขั้นกลางให้แต่ละประเทศ โดยแบ่งกลยุทธ์การศึกษาออกเป็น 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาโอกาสในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน 2 ประเทศ หลักเกณฑ์การทำข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าและอัตราค่าสายส่ง ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาความเป็นไปได้หรือโอกาสในการซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศที่สามในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเริ่มเป็นระบบเครือข่าย (Networks) ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาความสมดุลในอนุภูมิภาค การใช้กำลังการผลิตสำรองร่วมกัน ค่าไฟฟ้าในอนุภูมิภาค และการจัดการกับความคับคั่งของระบบส่ง (Congestion Management) และขั้นตอนที่ 4 การศึกษาตลาดใน อนุภูมิภาคที่มีผู้ซื้อและผู้ขายหลายรายแบบเสรี ทั้งนี้ ให้แต่ละประเทศนำกลับไปศึกษา และส่งความเห็นให้บริษัทฯ ปรับปรุงให้แล้วเสร็จ ก่อนเข้าสู่การประชุมครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2547 นี้
นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการแต่งตั้ง นาย วาง จุน
รองผู้อำนวยการสำนักพลังงาน คณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน
เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานซื้อขายไฟฟ้าอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Chairperson) และแต่งตั้งนายสมบูน มโนลม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรม สปป.ลาว เป็นรองประธาน (Vice Chair) ซึ่งจะดำรงตำแหน่งตามวาระละ 1 ปี"ผลดีของความร่วมมือดังกล่าว ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระการลงทุนการสำรองไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าสูงสุด(Peak) หรือลดค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้าได้ ซึ่งหมายถึงจะช่วยให้ต้นทุนค่าไฟของประเทศไทยให้ถูกลงได้ ตลอดจนเป็นการสร้างความเข้มแข็งด้านพลังงานให้กับภูมิภาค การพัฒนาเศรษฐกิจ ลดการนำเข้าพลังงาน และสนับสนุนนโยบายการพัฒนาศูนย์กลางพลังงานภูมิภาค
(ด้านไฟฟ้า) ของรัฐบาลด้วย" นายพรชัยกล่าว--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ