สพร. จัดมหกรรมรวมมิตรพิพิธภัณฑ์ “มิวเซียมเฟสติวัล 2012” สร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ปักษ์ใต้ ยกระดับแหล่งเรียนรู้ในระดับภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Thursday September 27, 2012 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--ไอแอมพีอาร์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ จัดมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ “มิวเซียมเฟสติวัล 2012” ระดมองค์ความรู้-ของเด่นดีจากพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในภาคใต้กว่า 30 แห่งมาจัดแสดงที่จังหวัดภูเก็ต หวังสร้างเครือข่ายพัฒนาพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ระดับภูมิภาค พร้อมกระตุ้นสังคมไทยให้เห็นคุณค่าในอัตลักษณ์ของท้องถิ่น นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. กล่าวถึงการจัดงาน มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ “Museum Festival 2012” ว่า พันธกิจหลักที่สำคัญประการหนี่งของ สพร. คือการพัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานของการจัดกระบวนการเรียนรู้ การบริหารจัดการ และการเผยแพร่องค์ความรู้ของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น “มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นโครงการหนึ่งในการพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ด้วยการจัดเวทีให้กับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ประเภทต่างๆ ได้นำผลงานมาจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รู้จักและเข้าถึงมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้จัดให้มีการสัมมนาและอบรมเพื่อพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกันระหว่างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์มีการพัฒนาและก้าวหน้ายิ่งขึ้น” นายราเมศ กล่าว มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ “Museum Festival 2012” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สี สรรค์ ปราชญ์ เปรื่อง” ถือเป็นครั้งแรกของจังหวัดภูเก็ต ที่มีการ “รวมมิตร...พิพิธภัณฑ์ภาคใต้” โดยรวบรวมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้จากจังหวัดต่างๆในภาคใต้กว่า 30 แห่งมาจัดแสดงยัง “พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว” “ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวเทศบาลนครภูเก็ต” “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช บาบ๋าภูเก็ต” และ “สโมสรไทยหัว” ซึ่งล้วนเป็นอาคารที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบ “ชิโนโปรตุกีส” โดย พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว จะจัดแสดงนิทรรศการของ พิพิธภัณฑ์สัตว์และพืชทะเล จ.ภูเก็ต, สวนผีเสื้อและโลกแมลง จ.ภูเก็ต, พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า จ.สตูล, พิพิธภัณฑ์สถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา จ.ปัตตานี, หอพิพิธภัณฑ์และศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านคลองประสงค์ จ.กระบี่, กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี จ.ตรัง, พิพิธภัณฑ์ของเล่นเด็ก จ.ตรัง, พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร จ.นราธิวาส และ พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต สำหรับ สโมสรไทยหัว จัดแสดงนิทรรศการและผลงานของ บ้านหนังตะลุง ลุงสุชาติ จ.นครศรีธรรมราช, พิพิธภัณฑ์พระยานุรัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี จ.ตรัง, ศูนย์วัฒนธรรม จ.สตูล, พิพิธภัณฑ์พระธำมะรงค์ จ.สงขลา, ศูนย์วัฒนธรรม มรภ.นครศรีธรรมราช, พระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) จ.ระนอง และ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มรภ.ภูเก็ต นอกจากนี้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวเทศบาลนครภูเก็ต หรือ ททท.สนง.ภูเก็ต ยังได้จัดแสดงนิทรรศการจาก พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติชุมพร, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติถลาง จ.ภูเก็ต, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล และ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช สำหรับ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชฯ ได้จัดแสดงนิทรรศการจาก พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช, พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช, วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน (ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง), พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณศึกษา จ.สงขลา, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู จ.สตูล และ สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กัลยาณิวัฒนา (มอ.ปัตตานี) นอกจากการจัดแสดงนิทรรศการจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ภาคใต้แล้ว ยังได้จัดให้มีการเสวนาอบรมให้ความรู้ในการยกระดับพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในหัวข้อต่างๆ ประกอบไปด้วย “ส่งเสริมการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์อย่างไร ให้ก้าวไกลสู่อาเซียน” โดยได้รับเกียรติจากผู้แทนของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต, หอการค้าจังหวัดภูเก็ต, เทศบาลนครภูเก็ต และพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง นอกจากนี้ยังจัดให้มีการบรรยายเชิงปฏิบัติการในหัวข้อเรื่อง “กลยุทธ์ในการจัดการพิพิธภัณฑ์ : การตลาดและการสร้างแบรนด์” โดยผู้เชี่ยวชาญจาก บริษัท Think Solution Consultant ด้วย พร้อมกันนี้ยังได้เปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดในหัวข้อ “การจัดทำต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้” และร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานพิพิธภัณฑ์กับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ระดับภูมิภาค โดยมีผู้แทนเครือข่ายพิพิธภัณฑ์จากทุกภาคของประเทศเข้าร่วม ประกอบด้วย หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา, พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่ายหินลิกไนต์ศึกษา จังหวัดลำปาง, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู จังหวัดสตูล, พระราชวังรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง, สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ชมรมรักษ์ตลาดบ้านใหม่ และศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน จากจังหวัดฉะเชิงเทรา “มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ จะทำให้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในภาคใต้ได้มีการเรียนรู้รูปแบบการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในลักษณะของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับจังหวัด เพื่อให้สามรรถนำรูปแบบดังกล่าวไปใช้ในการดำเนินการพัฒนางานพิพิธภัณฑ์ต่อไปได้ และกลุ่มคณะทำงานหรือเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ที่เกิดขึ้น จะเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและเป็นต้นแบบในการพัฒนาการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้หรือ Discovery Museum ต่อไปในอนาคตอีกด้วย” ผอ.สพร. กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ